วันที่ 14 มิ.ย.64 ที่รัฐสภา เกียกกาย ในการประชุมวุฒิสภา ที่มีนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา เป็นประธานที่ประชุม มีวาระพิจารณาอนุมัติ พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน เพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคมจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพิ่มเติม พ.ศ 2564 ทั้งนี้นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง ชี้แจงต่อที่ประชุมวุฒิสภา ว่า จากการกู้เงินตามพ.ร.ก.1ล้านล้านบาท พบการใช้จ่ายวงเงินแล้ว 9.8 แสนล้านบาท ใช้เพื่อการแพทย์และสาธารณสุข เพื่อจัดหาวัคซีน, ค่าตอบแทน อสม., ค่าบริการสาธารณสุข ใช้เงินไป 4.4หมื่นล้านบาท, ช่วยเหลือเยียวยาและชดเชยประชาชนใช้เงินไปทั้งสิ้น 6.9แสนล้านบาท และ ฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ใช้เงินรวม 2.4 แสนล้านบาท ทั้งนี้เหลือกรอบวงเงิน 19,172 ล้านบาท หน่วยงานที่รับผิดชอบอยู่ระหว่างนำเสนอโครงการต่อคณะกรรมการกลั่นกรองใช้จ่ายเงินกู้ วงเงิน 17,408 ล้านบาท และจะนำเสนอ ครม.​อนุมัติต่อไป ดังนั้นมีวงเงินเหลือเพียง 1,764 ล้านบาท ซึ่งไม่เพียงพอต่อการแก้ปัญหาของการระบาดในระยะต่อไป นายอาคม ชี้แจงด้วยว่า หากมีความจำเป็น ครม. สามารถอนุมัติปรับกรอบวงเงินตามแผนการใช้เงินแนบท้ายบัญชีได้ เพื่อให้การใช้เงินสอดคล้องกับสถานการณ์ ทั้งนี้การช่วยเหลือประชาชนในระยะต่อไป จะเน้นการช่วยเหลือกลุ่มเอสเอ็มอี เพื่อรักษาธุรกิจและรักษาการจ้างงาน ขณะที่นายวิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ ส.ว. ฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การเศรษฐกิจ การเงิน และการคลัง วุฒิสภา อภิปรายว่า การกู้ยืมเงินของรัฐบาลตาม พ.ร.ก.กู้เงิน รอบแรก วงเงิน 1 ล้านล้านบาท พบการอนุมัติโครงการของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ทำได้ 93% แต่การเบิกจ่ายไปเพียง 29% ดังนั้นเชื่อว่ามีข้อจำกัด และการติดขัดสำคัญ โดยเฉพาะรายละเอียดที่กำหนดไว้ในบัญชีแนบท้าย พ.ร.ก. ดังนั้นควรทบทวนและปรับปรุง นอกจากนั้นต้องพิจารณาการเบิกจ่ายเพื่อไม่ให้งบประมาณรั่วไหล ทั้งนี้ตนสนับสนุนต่อการปรับเพดานหนี้สาธารณะ "รัฐบาลเตรียมการรองรับอย่างไร หากต้องกู้เงิน มากกว่ากรอบ 5แสนล้านบาท หากสถานการณ์ระบาดของโควิด-19 ยังยืดเยื้อ แม้การใช้กรอบวงเงินแต่ละด้าน จะเกลี่ยแต่ละด้านเพื่อใช้ในด้านอื่นๆ ได้ แต่การบริหารจัดการใช้วงเงินรัฐบาลควรมีแผนและรายละเอียด” นายวิสุทธิ์ อภิปราย ขณะที่พล.อ.ชาตอุดม ติตถะสิริ ส.ว. ฐานะประธาน กมธ.ติดตามการบริหารงบประมาณ อภิปรายว่า จากการระบาดโควิด-19 ที่ผ่านมา พบว่าใช้งบประมาณเพื่อเยียวยา ระลอกละ 3แสนล้านบาท ทำให้การระบาดระลอก3 ไม่สามารถใช้กรอบเงินกู้จากพ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านลาท ได้ ดังนั้นหากปัญหาไม่คลี่คลาย เงินจะไม่เพียงพอ ทั้งนี้ขอให้หน่วยงานเร่งการติดตาม ประเมินผล และกำหนดตัวชี้วัดให้ชัดเจน เพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์จากการใช้จ่ายเงินกู้ 1 ล้านล้านบาท ทุกโครงการ ทั้งนี้ตนเชื่อว่ามีหลายโครงการที่ทำไม่เสร็จ ภายในเดือนกันยายน 2564 และต้องดำเนินการต่อในปีหน้า ดังนั้น สปน. และสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติต้องเตรียมดำเนินการ “ผมกังวลต่อสัดส่วนหนี้สาธารณะเพิ่มสูงขึ้น ที่มาจาก พ.ร.ก.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท และส่วนที่เหลือของ พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท รวมถึงกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ ปลายปี 2564 เพราะที่ผ่านมารัฐบาลกู้เงินแล้ว 2.3 แสนล้านบาท อาจจะทำให้อัตราส่วนหนี้สาธารณะ เมื่อสิ้นปีงบประมาณ 2563 ขึ้นสูง ทั้งนี้ผมเห็นด้วยต่อการปรับปรุงเพดานหนี้สาธารณะ เพราะเป็นเรื่องสำคัญ” พล.อ.ชาตอุดม อภิปราย