ในวิกฤตโควิด-19 ที่นอกจากคนต้องเน้นมาตรการป้องกันตนเองจากการติดเชื้อ ทั้งสวมหน้าการอนามัย ใช้เจลแอลกอฮอล์ เว้นระยะห่าง หมั่นล้างมือ ไม่ไปจุดเสี่ยง และหลีกเลี่ยงแหล่งชุมนุมชนแล้ว การใส่ใจต่ออาหารการกินก็กลายเป็นอีกเรื่องสำคัญ ที่ทุกคนต้องหันมาสนใจ แม้ที่ผ่านมาจะพบการเกิดคลัสเตอร์ที่เกี่ยวข้องกับการผลิตอาหาร แต่เรื่องนี้ผู้บริโภคไม่ต้องกังวล เพราะผู้เชี่ยวชาญต่างลงความเห็นว่า "เชื้อโควิด-19 ไม่ติดต่อทางการกินอาหาร" เรื่องนี้ได้รับการไขความกระจ่างจาก ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา นักไวรัสวิทยา ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยนวัตกรรมสุขภาพสัตว์และการจัดการ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) ที่เปิดเผยข้อมูลจาก ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของสหรัฐอเมริกา (US CDC) ซึ่งระบุไว้อย่างชัดเจนว่า ความเสี่ยงจากการติดเชื้อไวรัสโรคโควิด-19 จากอาหารที่มีการเจือปนเชื้อ รวมถึงน้ำดื่มนั้น จัดว่าอยู่ในระดับต่ำมาก (Very low) เพราะการรับประทานและกลืนอาหารลงกระเพาะอาหารแล้ว เชื้อไวรัสจะถูกทำลาย ไม่มีผลเหมือนเชื้อแบคทีเรีย ที่สามารถเจริญเติบโตได้ในภาวะเช่นนั้น แต่ยังต้องระมัดระวังการติดเชื้อโควิด-19 ที่มีความเสี่ยงจากมือที่ไปสัมผัสเชื้อแล้วไปโดนตาหรือจมูกมากกว่า เพราะโควิดเป็นโรคติดต่อหลักๆ ทางการหายใจ ตามที่ US CDC ระบุถึงวิธีการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสโควิด-19 ว่ามี 2 วิธี คือผ่านทางหยดละออง (droplets) เวลาผู้ติดเชื้อพูด ไอ จาม เชื้อไวรัสอยู่ในหยดละออง ลอยเข้าทางจมูกหรือเยื่อบุตาของคนที่อยู่ใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อ ในระยะ 1-2 เมตร ซึ่งถือเป็นวิธีที่แพร่กระจายบ่อยที่สุด ส่วนการแพร่กระจายผ่านอากาศ (airborne) พบได้ทั้งในโรงพยาบาลเวลาดูดเสมหะ พ่นยา ใส่ท่อหายใจ และนอกโรงพยาบาล ซึ่งพบได้น้อยกว่าวิธีแรก และปัจจุบันองค์การอนามัยโลกยอมรับแล้วว่าเชื้อไวรัสโควิด-19 แพร่กระจายได้ทางอากาศ ขณะที่ นายแพทย์มนูญ ลีเชวงวงศ์ หัวหน้าห้องไอซียู เฉพาะทางด้านโรคระบบการหายใจ ผู้ป่วยหนัก และโรคผู้สูงอายุ โรงพยาบาลวิชัยยุทธ เคยให้ข้อมูลไว้ว่า โรคโควิด-19 ไม่ติดต่อทางการกินอาหาร ไม่เหมือนกับ โรคติดต่อทางการกินอาหาร หรือการดื่มน้ำ อย่างเช่นโรคไวรัสตับอักเสบ A, โรคท้องร่วงจากโนโรและโรตาไวรัส สอดคล้องกับ อ.เกรียงไกร ฟูเกษม บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (BDMS) ที่กล่าวไว้ในรายการ Happy&Healthy รู้สู้ COVID-19 by BDMS ย้ำชัดว่า โควิด-19 ไม่ติอต่อทางการกินอาหาร โดยแนะนำว่าต้องนำมาปรุงผ่านความร้อน และปรุงสุกเสมอ เพราะเชื้อไวรัสโควิด-19 จะถูกทำลายที่อุณหภูมิ 56 องศาเซลเซียส จากการให้ความร้อนนานครึ่งชั่วโมง และถ้าหากอุณหภูมิเพิ่มสูงขึ้น ระยะเวลาในการทำลายยิ่งสั้นลง หากนำอาหารไปต้ม หรือทำให้เดือดที่อุณหภูมิ 100 องศาเซลเซียส ไวรัสโควิด-19 ก็จะถูกทำลายทันที แม้ในหลายประเทศจะมีการค้นพการปนเปื้อนเชื้อไวรัสโควิด 19 ในอาหารบางประเภท แต่ในการค้นพบนั้นเป็นการค้นพบเพียงสารพันธุกรรมที่อยู่ในอาหาร ไม่ได้หมายความว่าเป็นการพบเชื้อในอาหารที่สามารถถ่ายทอดสู่ผู้บริโภคได้ และขณะนี้ยังไม่มีการยืนยันทางวิทยาศาสตร์ ที่เป็นหลักฐานอย่างชัดเจนว่า การทานอาหารที่มีการปนเปื้อนเชื้อโควิด แล้วจะทำให้ติดโรคได้ เพราะเชื้อโควิดไม่สามารถอยู่ในสิ่งแวดล้อมอื่นที่ไม่ใช่เซลล์มนุษย์ได้นาน ที่สำคัญในทางปฏิบัติแล้ว ก็ควรรับประทานอาหารที่ปรุงสุก สะอาด และล้างมือทุกครั้งเมื่อไปสัมผัสกับผลิตภัณฑ์ที่เป็นอาหารสด อาหารแช่แข็ง เพื่อความปลอดภัยของทุกคน สรุปว่าอาหารสด อาหารแช่แข็ง เครื่องดื่ม หรือแม้แต่น้ำแข็ง ก็ยังคงรับประทานได้เหมือนเดิม เพียงแต่ต้องเลือกจากผู้ผลิตที่มีกระบวนการผลิตสินค้าที่สะอาดปลอดภัย ได้มาตรฐาน ย้ำว่าต้องกินอาหารที่ปรุงสุกเท่านั้น ไม่กินอาหารสุกๆดิบๆ จะได้มั่นใจและปลอดภัยจากเชื้อโรคทุกๆประเภท