ตรัง พบผู้ป่วยโควิด 19 รายใหม่ 22 ราย ยอดผู้ป่วยสะสม 1,292 ราย ส่วนใหญ่สัมผัสกับผู้ป่วยยืนยันรายก่อนหน้าและสัมผัสร่วมบ้าน จึงเน้นย้ำให้ประชาชนป้องกันการนำพาเชื้อเข้าสู่ครอบครัว วันนี้( 11 มิถุนายน 2564) ที่ศูนย์แถลงข่าว ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 จังหวัดตรัง ห้องลิบง ชั้น 2 ศาลากลางจังหวัดตรัง นายแพทย์ ตุลกานต์ มักคุ้น นายแพทย์ชำนาญการพิเศษ โรงพยาบาลตรัง ในฐานะโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 จังหวัดตรัง พร้อมด้วยแพทย์หญิงทิพย์ลดา บุญชัย แพทย์ชำนาญการ โรงพยาบาลตรัง ในฐานะรองโฆษก ศบค.จังหวัดตรัง ได้ร่วมกันแถลงข่าวสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ประจำวันของจังหวัดตรัง ทั้งนี้ จากการติดตามสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พบว่า ณ วันที่ 11มิถุนายน 2564 จังหวัดตรังมีผู้ติดเชื้อยืนยันสะสม 1,292 ราย โดยผู้ติดเชื้อรายใหม่ในวันนี้ มีจำนวน 22 ราย รักษาหายสะสม 522 ราย คิดเป็นร้อยละ 40.4 ยังคงมีผู้ป่วยที่รักษาตัวในโรงพยาบาล 747 ราย เป็นผู้ป่วยที่มีอาการน้อย จำนวน 736 ราย อาการปานกลาง จำนวน 10 ราย อาการปานกลางค่อนข้างรุนแรง จำนวน 1 ราย สำหรับ ผู้ป่วยรายใหม่วันนี้เป็นคนไทยทั้งหมด ในพื้นที่ตำบลบ่อน้ำร้อน ตำบลควนธานี อำเภอกันตัง / พื้นที่ตำบลทุ่งค่าย อำเภอย่านตาขาว / ตำบลทับเที่ยง ตำบลน้ำผุด ตำบลนาบินหลา อำเภอเมืองตรัง / ตำบลบ่อหิน ตำบลนาเมืองเพชร อำเภอสิเกา / ตำบลปากแจ่ม ตำบลหนองช้างแล่น อำเภอห้วยยอด โดยเป็นผู้ป่วยจาก 5 คลัสเตอร์ ประกอลด้วย คลัสเตอร์โรงงานถุงมือ คลัสเตอร์ร้านกาแฟภาสินี คลัสเตอร์บริษัทนาเมืองเพชรพาราวีด และคลัสเตอร์พี่เลี้ยงเด็กที่อำเภอห้วยยอด อย่างไรก็ตาม จากประวัติเสี่ยงของผู้ที่ติดเชื้อเกิดจากการสัมผัสกับผู้ป่วยยืนยันรายก่อนหน้า อีกทั้งเป็นการสัมผัสในที่ทำงานเพื่อนร่วมงาน สัมผัสร่วมบ้านเป็นคนในครอบครัว ดังนั้น จึงเน้นย้ำให้ประชาชนป้องกันการนำพาเชื้อเข้าสู่ครัวเรือนหรือครอบครัว เช่น การรักษาสุขอนามัยส่วนบุคคล ล้างมือบ่อย ๆ ชำระร่างกายเมื่อกลับมาจากแหล่งชุมชนก่อนที่จะไปสัมผัสพูดคุยกับผู้สูงอายุ รวมทั้งผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่อยู่ติดบ้าน ขณะที่ญาติที่อยู่คนละพื้นที่ควรงดการเดินทางมาเยี่ยมเยียนกันหากไม่มีความจำเป็น พยายามหลีกเลี่ยงการใช้อุปกรณ์ร่วมกัน เช่น โทรศัพท์มือถือ คอมพิวเตอร์ แก้วน้ำ จานชาม ช้อนส้อม และเมื่อรับประทานอาหารร่วมกันควรตักแยกอาหารใส่จานส่วนตัว และหลีกเลี่ยงการพูดคุยระหว่างการรับประทานอาหาร หากผู้สูงอายุในบ้านมีอาการสงสัย เช่นไข้ ไอ น้ำมูก เจ็บคอ จมูกไม่ได้กลิ่น ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อทำการตรวจหาเชื้อ โดยไม่ต้องรอให้แสดงอาการรุนแรง./////