การเคหะแห่งชาติ ขานรับองค์การสหประชาชาติจัดกิจกรรมวันที่อยู่อาศัยโลกปี 2560 เผยผลการเสวนา “แนวทางการพัฒนาที่อยู่อาศัยสีเขียวสำหรับผู้มีรายได้น้อย” ชี้ชัดควรมีการแก้ไขข้อกำหนดให้ดำเนินงานได้อย่างเป็นรูปธรรม ทั้งด้านนโยบายด้านกฎระเบียบและเทคโนโลยี และด้านกลไกทางการเงิน นายไมตรี อินทุสุต ประธานกรรมการการเคหะแห่งชาติ เป็นประธานเปิดกิจกรรมและปาฐกถาพิเศษ ในกิจกรรมวันที่อยู่อาศัยโลกปี 2560 (World Habitat Day 2017) หัวข้อ “ที่อยู่อาศัยสีเขียวสำหรับผู้มีรายได้น้อย” (Green Housing for Low – income People) โดยมี ดร.ธัชพล กาญจนกูล ผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ กล่าวรายงาน สำหรับกิจกรรมภายในงาน ประกอบด้วยนิทรรศการและการบรรยายเรื่อง “ที่อยู่สีเขียวสำหรับผู้มีรายได้น้อย” โดย รศ.ดร.อภิชิต เทอดโยธิน คณบดีคณะพลังงานสิ่งแวดล้อมและวัสดุ มหาวิทยาลัยพระจอมเกล้าธนบุรี และเวทีเสวนา หัวข้อ “แนวทางการพัฒนาที่อยู่อาศัยสีเขียวสำหรับผู้มีรายได้น้อย” โดย นางอังคณา สุขวิบูลย์ ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารและแผนงานด้านการใช้ไฟฟ้า การไฟฟ้าผลิตแห่งประเทศไทย ผศ.ดร.ทรงเกียรติ เที้ยธิทรัพย์ หัวหน้าภาควิชาสถาปัตยกรรมและการวางแผน สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง นางสาวคณาปภา อรรคภาส์ ผู้จัดการส่วนเอสซีจี กรีนบิลดิ้ง โซลูชั่น และนายนพดล ว่องเวียงจันทร์ รองผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ โดยมี นายดำรงค์ บัวยอม วิศวกรอาวุโส คณะพลังงานสิ่งแวดล้อมและวัสดุ มหาวิทยาลัยพระจอมเกล้าธนบุรี เป็นผู้ดำเนินรายการ ดร.ธัชพล กาญจนกูล ผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ กล่าวว่า องค์การสหประชาชาติ (United Nations: UN) ได้กำหนดให้วันจันทร์แรกของเดือนตุลาคมในทุกๆ ปี เป็นวันที่อยู่อาศัยโลก (World Habitat Day) เพื่อให้ประเทศต่างๆ ให้ความสนใจกับสถานการณ์การอยู่อาศัยและการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ ตลอดจนสิทธิพื้นฐานของการมีที่อยู่อาศัยที่เหมาะสม รวมทั้งสร้างความตระหนักในความรับผิดชอบร่วมกันในการจัดการให้มนุษย์ทุกคนมีที่อยู่อาศัยในอนาคต โดยในปี 2560 ได้วางกรอบแนวคิด “นโยบายที่อยู่อาศัย : บ้านที่ทุกคนเข้าถึงได้” (Housing Policies: Affordable Homes) เพื่อให้ประเทศต่างๆ ทั่วโลกจัดกิจกรรมรณรงค์เรื่องที่อยู่อาศัยตามแนวคิดดังกล่าว การเคหะแห่งชาติ เป็นหน่วยงานหลักด้านการพัฒนาที่อยู่อาศัยรองรับประชาชนทุกกลุ่มเป้าหมายตาม นโยบายของรัฐบาล จึงได้จัดกิจกรรมวันที่อยู่อาศัยโลก ประจำปี 2560 ในหัวข้อ “ที่อยู่อาศัยสีเขียวสำหรับผู้มีรายได้น้อย” (Green Housing for Low - income People) โดยนำแนวคิดของ UN และเป้าหมายการพัฒนา ที่ยั่งยืน หรือ Sustainable Development Goals (SDGs) เป้าหมายที่ 11 ทำให้เมืองและการตั้งถิ่นฐานมนุษย์มีความปลอดภัย ความต้านทาน และยืดหยุ่นต่อการเปลี่ยนแปลงอย่างครอบคลุมและยั่งยืน ประกอบกับเทรนด์ของการพัฒนาที่อยู่อาศัยในปัจจุบันคำนึงถึงการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) มากำหนดเป็นหัวข้อดังกล่าว เพื่อนำเสนอแนวคิดการพัฒนาที่อยู่อาศัยที่สนับสนุนที่อยู่อาศัยสีเขียวสำหรับผู้มีรายได้น้อย รวมทั้งแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ความรู้ และข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการพัฒนาที่อยู่อาศัยที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและประหยัดพลังงานจากหน่วยงานภาคีที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนขยายเครือข่ายความร่วมมือที่เอื้อต่อการพัฒนาที่อยู่อาศัยอย่างยั่งยืน ผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ กล่าวถึงผลสรุปภาพรวมของการเสวนา “แนวทางการพัฒนาที่อยู่อาศัยสีเขียวสำหรับผู้มีรายได้น้อย” ว่า ควรดำเนินการแก้ไขข้อกำหนดต่างๆ เพื่อให้แนวทางการพัฒนาที่อยู่อาศัยสีเขียวสำหรับผู้มีรายได้น้อยสามารถดำเนินงานได้อย่างเป็นรูปธรรม ประกอบด้วย ด้านนโยบาย ส่งเสริมและสร้างจิตสำนึกในการอนุรักษ์พลังงานให้กับประชาชน พร้อมทั้งประชาสัมพันธ์สร้างแรงจูงใจให้ประชาชนเลือกที่อยู่อาศัยและวัสดุที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการออกแบบบ้านที่มีประสิทธิภาพในการประหยัดพลังงาน โดยให้ความสำคัญกับการถ่ายเทความร้อนและอุปกรณ์ไฟฟ้าที่สามารถป้องกันความร้อนและความชื้นได้ดี รวมถึงการเลือกใช้วัสดุอุปกรณ์ที่มีอยู่ในภูมิภาคเพื่อลดต้นทุนการขนส่ง ตลอดจนทำการศึกษาวิจัยและพัฒนาวัสดุพื้นถิ่นให้มีประสิทธิภาพในการประหยัดพลังงาน หรือยืดอายุการใช้งาน ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ ภาครัฐควรเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดทำเกณฑ์มาตรฐานบ้านเขียว และจัดทำฉลากบ้านเขียวอย่างเป็นรูปธรรม สนับสนุนให้ผู้ประกอบการนำหลักเกณฑ์การประเมินบ้านเขียวมาใช้เป็นแนวทางในการออกแบบและพัฒนาวัสดุก่อสร้าง ตลอดจนส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือทางวิชาการของภาครัฐในการพัฒนาที่อยู่อาศัยที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เช่น โครงการบ้านเบอร์ 5 โครงการส่งเสริมและสนับสนุนการจัดซื้อจัดจ้างสินค้าและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โครงการชุมชนน่าอยู่ น่าสบายอย่างยั่งยืน (Eco Village) และโครงการ “บ้านจัดสรรอนุรักษ์พลังงานดีเด่น” เป็นต้น ด้านกฎระเบียบและเทคโนโลยี ควรสนับสนุนให้ผู้ประกอบการนำเกณฑ์ Building Energy Code (เกณฑ์มาตรฐานอาคารด้านพลังงาน โดยกระทรวงพลังงาน) ไปใช้ในการก่อสร้างที่อยู่อาศัย ซึ่งเป็นเกณฑ์มาตรฐาน การอนุรักษ์พลังงานในอาคาร โดยให้มีผลบังคับใช้กับอาคารที่จะขออนุญาตก่อสร้างใหม่หรือดัดแปลงอาคาร รวมถึงสนับสนุนให้ใช้เกณฑ์ Eco - Village (เกณฑ์ประเมินโครงการน่าอยู่น่าสบายอย่างยั่งยืนในการพัฒนาที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อย) มาใช้ในการพัฒนาที่อยู่อาศัย อีกทั้งกำหนดโซนของผู้อยู่อาศัยในบริเวณพื้นที่รอบสถานีรถไฟฟ้าสำหรับรองรับประชาชนทุกระดับรายได้ เพื่อลดการใช้พลังงานในการเดินทาง และควรปรับปรุงระเบียบการจัดซื้อ - จัดจ้างวัสดุที่ประหยัดพลังงานให้มีความรวดเร็ว เพื่อให้เกิดแรงจูงใจในการเลือกใช้งาน ตลอดจนปรับปรุงระเบียบหรือข้อกฎหมายในการดำเนินงานให้มีความยืดหยุ่นเหมาะสม ที่จะส่งเสริมให้เกิดการนำไปใช้อย่างเป็นรูปธรรม ด้านกลไกทางการเงิน เปิดโอกาสให้สถาบันการเงินเข้ามาร่วมสนับสนุนเพื่อให้เกิดการพัฒนาที่อยู่อาศัย ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม พร้อมสร้างแรงจูงใจให้กับเอกชนและผู้ซื้อ เช่น เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ มาตรการทางภาษี ทั้งนี้ การสร้างที่อยู่อาศัยสีเขียวควรได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลเพื่อให้โครงการเกิดเป็นรูปธรรมและมีความก้าวหน้าอย่างต่อเนื่อง โดยภาครัฐต้องทำให้เกิดตลาด Mass product เพื่อให้เกิดความต้องการ (demand) ที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้น ส่งผลให้กลไกภาคการผลิตวัสดุที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมีการแข่งขันกันมากขึ้น ซึ่งจะทำให้ราคาวัสดุที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมีราคาลดลง