"ศบค." สรุป 11 พื้นที่เสี่ยงในชุมชน สู่มาตรการเฝ้าระวัง เผย สุ่มตรวจพื้นที่ละ 5 แห่ง เผย 5 คลัสเตอร์เดิมกทม. ไม่เจอคนป่วยใหม่แล้ว 28 วัน เมื่อวันที่ 10 มิ.ย. ที่ทำเนียบรัฐบาล พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. แถลงว่า สำหรับ 5 จังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อสูงสุด ได้แก่ กทม. 788 ราย ปทุมธานี 308 ราย สมุทรปราการ 209 ราย นนทบุรี 132 ราย และประจวบคีรีขันธ์ 94 ราย โดยมีคลัสเตอร์ใหม่ 2 แห่ง ที่ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี ขณะที่พื้นที่ กทม.มีคลัสเตอร์ที่ยังต้องเฝ้าระวัง 70 คลัสเตอร์ แบ่งเป็นคลัสเตอร์ที่พบผู้ติดเชื้อในรอบ 14 วัน 60 คลัสเตอร์ พบผู้ติดเชื้อในรอบ 28 วัน 10 คลัสเตอร์ ทั้งนี้ มี 5 คลัสเตอร์ที่เฝ้าระวังก่อนหน้านี้แต่ไม่พบผู้ติดเชื้อในรอบ 28 วันที่ผ่านมา คือ ชุมชนวัดโสมนัส เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย ตลาดบุญเรือง เขตประเวศ ชุมชนบ่อนไก่ เขตปทุมวัน และแคมป์คนงานก่อสร้างในเขตวัฒนาและบางพลัด อย่างไรก็ตาม กทม.และส่วนอื่นๆ ทั้งประเทศ ยังมีการระวัง และคัดกรองเชิงรุก เวลามีการเฝ้าระวังเฉพาะพื้นที่ในชุมชน ซึ่งกรมควบคุมโรค นำข้อมูลจากการสอบสวนโรค ผู้ติดเชื้อทั้งประเทศ นำมาสรุปเป็น 11 พื้นที่เสี่ยงในชุมชน เพื่อนำไปสู่มาตรการเฝ้าระวัง ได้แก่ 1.ตลาด 2.สถานีขนส่ง 3.ผับบาร์/คาราโอเกะ 4.สถานที่ต่ออายุหรือต่อบัตรแรงงานที่มีชุมชนแรงงานต่างชาติรวมกลุ่มกัน 5.หน่วยราชการด่านหน้า 6.โรงงาน 7.ห้างสรรพสินค้า(รวมร้านอาการ) 8.สถานที่ดูแลผู้สูงอายุ 9.โรงเรียน สถานศึกษา หรือดูแลเด็กเล็ก 10.ศาสนสถาน และ 11.บริษัท สำนักงาน ธนาคาร ซึ่งการเฝ้าระวังพื้นที่ชุมชนจะมีการกำหนดเกณฑ์ ทุกจังหวัดทั่วประเทศรวมถึงทุกเขตในกทม. จะมีมาตรการเฝ้าระวังเชิงรุก มีการสุ่มตรวจ 5 แห่งจาก 11 ประเภทที่กล่าวมา แต่ละแห่งจะมีการกำหนดขนาดการตรวจอย่างน้อย 5 ตัวอย่าง อย่างกทม.ก็กำหนด 75 ตัวอย่าง เช่น ตลาด สุ่มตรวจ 75 ตัวอย่าง มีการเฝ้าระวังต่อเนื่อง มีการตรวจทุก 2 สัปดาห์ ซึ่งเราปรับตามความสำคัญ และบริบทของพื้นที่ เช่น กทม.มีตลาด 486 ตลาด ในส่วนของตลาดที่พบแรงงานติดเชื้อก็มีการเฝ้าตรวจอย่างต่อเนื่อง แต่ตลาดที่ไม่มีการติดเชื้อก็มีการสุ่มตรวจเช่นกัน และรายงานสู่กรมควบคุมโรค ว่าตรวจเท่าไหร่