วันที่ 10 มิ.ย. 64 ที่ห้องประชุม 301 ชั้น 3 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาลพลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการบริหาร พัฒนา อนุรักษ์ และฟื้นฟูคลองแสนแสบ ครั้งที่ 3/2564 โดยมี ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) และผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุมและผ่าน VDO Conference อาทิ กรุงเทพมหานคร (กทม.) กรมธนารักษ์ กรมควบคุมมลพิษ กรมโรงงานอุตสาหกรรม กรมเจ้าท่า กรมชลประทาน กรมโยธาธิการและผังเมือง เป็นต้น พลเอก ประวิตร กล่าวว่าการประชุมคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ครั้งที่ 1/2564 เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 25 มีนาคม 2564 ซึ่งได้เห็นชอบแผนปฏิบัติการพัฒนา ฟื้นฟูสภาพแวดล้อมคลองแสนแสบทั้งระบบ ทั้งในเขตกรุงเทพมหานครและจังหวัดใกล้เคียง รวมทั้งสิ้น 84 โครงการ โดยมอบหมายให้กรุงเทพมหานครเสนอแผนปฏิบัติการฯ ต่อคณะรัฐมนตรี และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามข้อสั่งการ การประชุมในวันนี้จึงได้เร่งรัดติดตามความก้าวหน้าของผลการดำเนินงานฯ เพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์อย่างเป็นรูปธรรม พร้อมกันนี้ยังได้มอบหมายให้กรุงเทพมหานครและกรมชลประทานเตรียมความพร้อมในการบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูฝน ปี 2564 ร่วมกัน เพื่อลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับประชาชน โดยในกรณีเกิดน้ำหลากจากพื้นที่เหนือกรุงเทพมหานคร ให้ดำเนินการเบี่ยงปริมาณน้ำหลากไม่ให้เข้าพื้นที่โดยใช้คลองแนวขวาง และคลองแนวดิ่ง ตัดปริมาณน้ำหลากบางส่วนเพื่อระบายน้ำออกสู่แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำนครนายก และแม่น้ำบางปะกง ใช้ประตูระบายน้ำ และสถานีสูบน้ำระบายน้ำออกจากคลอง ส่วนปริมาณน้ำที่เหลือให้ระบายลงสู่คลองแนวดิ่ง ได้แก่ คลอง 1 ถึง คลอง 17 คลองพระองค์ไชยานุชิด และคลองด่าน เพื่อระบายน้ำลงสู่คลองชายทะเล ซึ่งมีการติดตั้งสถานีสูบน้ำทั้งหมด 12 สถานี สำหรับเร่งระบายน้ำหลากออกสู่ทะเลโดยเร็ว ในส่วนของกรณีมีฝนตกหนักในพื้นที่ กทม. ไม่สามารถระบายน้ำได้ทัน มอบหมายให้กรมชลประทานใช้สถานีสูบน้ำบริเวณรอยต่อกรุงเทพฯ สูบน้ำออกจากพื้นที่ลงสู่คลองชลประทาน ก่อนระบายลงสู่แม่น้ำ และอ่าวไทยต่อไป สำหรับในเขตกรุงเทพชั้นใน บริเวณเขตพระนครจะลดระดับน้ำตามแผน เพื่อใช้เป็นแก้มลิงรองรับน้ำฝน และควบคุมระดับน้ำให้เหมาสมต่อการเดินเรือในคลองด้วย นอกจากนี้ ยังได้มอบหมายให้ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เร่งรัดขับเคลื่อนโครงการสำคัญของกรุงเทพมหานคร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น โครงการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่ง และโครงการบำบัดน้ำเสียตลอดแนวคลองแสนแสบและคลองสาขา เพื่อให้โครงการมีความก้าวหน้า และประสบความสำเร็จตามวัตถุประสงค์ที่วางไว้ และในวันนี้ได้มอบหมายให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินงานตามอำนาจหน้าที่ และให้เป็นไปตามแผนการดำเนินงานที่กำหนดไว้ ทั้งนี้ สำหรับแผนปฏิบัติการพัฒนา ฟื้นฟูสภาพแวดล้อมคลองแสนแสบ ดำเนินการโดย 7 หน่วยงาน ได้แก่ กรุงเทพมหานคร กรมชลประทาน จังหวัดฉะเชิงเทรา กรมเจ้าท่า กรมควบคุมมลพิษ กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กรมโรงงานอุตสาหกรรม จำนวน 84 โครงการ ที่ได้ผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติไปแล้ว ในการประชุมครั้งที่ 1/2564 นั้น ที่ประชุมมีมติให้ กรุงเทพมหานคร และ กระทรวงมหาดไทย เร่งรัดดำเนินการเสนอแผนฯ ต่อคณะรัฐมนตรี ในระยะเวลาที่กำหนด เพื่อให้สามารถขับเคลื่อนการดำเนินการได้ตามแผนต่อไป ดร. สมเกียรติ กล่าวว่า รองนายกรัฐมนตรี ให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของประชาชนในการขับเคลื่อนการดำเนินการพัฒนา อนุรักษ์ และฟื้นฟูคลองแสนแสบเพื่อให้ประชาชนได้รับรู้ความก้าวหน้าและมีส่วนร่วมในทุกกิจกรรม จึงมอบหมายให้กรุงเทพมหานครเป็นเจ้าภาพหลักในการจัดทำแผนประชาสัมพันธ์คลองแสนแสบในมิติด้านต่าง ๆ ซึ่งประกอบด้วย ด้านสิ่งแวดล้อม ด้านคุณภาพชีวิต ด้านเศรษฐกิจ และด้านสังคม ภายใต้แนวคิด “หันหน้าเข้าคลอง” เพื่อใช้ในการสื่อสารให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ซึ่งได้เริ่มดำเนินการแล้วตั้งแต่เดือนเมษายน-เดือนกันยายน 2564 เพื่อประชาสัมพันธ์ความคืบหน้า ความสำเร็จในการพัฒนาคลองแสนแสบ ประโยชน์ที่ประชาชนได้รับจากการมีส่วนร่วมพัฒนาคลองในมิติต่าง ๆ ทำให้เกิดความยั่งยืนและสืบทอดสู่คนรุ่นหลังต่อไป นอกจากนี้ ในส่วนของการประชาสัมพันธ์ ยังได้รับความอนุเคราะห์จากศูนย์อำนวยการใหญ่จิตอาสาพระราชทานร่วมกับภาคีเครือข่าย จัดทำสื่อประชาสัมพันธ์ รณรงค์สร้างการตระหนักรู้ในการไม่ทิ้งน้ำเสียลงคลอง การพัฒนาคุณภาพน้ำในคลองให้ดีขึ้นตามค่ามาตรฐาน การนำเสนอเทคโนโลยี นวัตกรรม และแผนการบำบัดน้ำเสียของกรุงเทพมหานคร ตลอดจนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและการปรับปรุงภูมิทัศน์เพื่อให้คลองแสนแสบใสสะอาดและกลับมามีสภาพแวดล้อมที่ดีขึ้นตามลำดับต่อไป