นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดี และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยเปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน พ.ค.อยู่ที่ 44.7 จากเดือน เม.ย.64 ซึ่งอยู่ที่ 46.0 โดยดัชนีลดลงต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ นับตั้งแต่เริ่มสำรวจในเดือน มิ.ย.62 ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจโดยรวม อยู่ที่ 38.9 จาก 40.3 ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสหางานทำ อยู่ที่ 41.3 จาก 42.9 และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคต อยู่ที่ 53.9 จาก 54.7
สำหรับปัจจัยลบสำคัญที่ส่งผลต่อดัชนีความเชื่อมั่นเดือนพ.ค.นี้ ได้แก่ ความกังวลเรื่องการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตต่อประชาชนและภาคธุรกิจ, การกระจายวัคซีนโควิด-19 ที่ยังไม่แน่อน,สำนักงานสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เผย GDP ไตรมาส 1/64 ติดลบ 2.6% และปรับลดคาดการณ์ GDP ปี 64 เหลือโต 1.5-2.5%, ราคาน้ำมันในประเทศปรับเพิ่มขึ้น, ความกังวลเสถียรภาพทางการเมืองในประเทศ,กังวลภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ทำให้รายได้ไม่สอคล้องค่าครองชีพ,เงินบาทแข็งค่า
ขณะที่ปัจจัยบวกได้แก่ รัฐบาลออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อช่วยฟื้นเศรษฐกิจในประเทศ, การฉีดวัคซีนในประเทศเริ่มเห็นเป็นรูปธรรมมากขึ้น, คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.5%,การส่งออกเดือนเม.ย.64 ขยายตัว 13%,ราคาพืชผลทางการเกษตรหลายรายการปรับตัวดีขึ้น
ทั้งนี้ภาคเอกชนได้มีนำเสนอแนวทางในการแก้ไขปัญหาต่อภาครัฐดังนี้ 1.สร้างความเชื่อมั่นเรื่องการกระจายวัคซีนให้กับประชาชนทุกภาคส่วนอย่างทั่วถึง เพื่อให้มีเพียงพอกับจำนวนที่ลงทะเบียนไว้ และทำให้การดำเนินชีวิตกลับสู่ภาวะปกติ หลังจากสถานการณ์โควิดคลี่คลาย 2.เร่งหยุดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่เป็นคลัสเตอร์ใหญ่ที่กระจายตัวอยู่ในพื้นที่ต่างๆ โดยเฉพาะกรุงเทพฯ และปริมณฑล 3.ขับเคลื่อนภาคการส่งออก เพื่อเพิ่มระดับการใช้กำลังการผลิตในภาคอุตสาหกรรมให้กลับมาสร้างรายได้เพิ่มขึ้น และช่วยลดการปลดแรงงานลงในบางอุตสาหกรรม 4.มาตรการฟื้นฟูการท่องเที่ยวของประเทศให้กลับมามีรายได้ทันที เมื่อประชาชนได้รับวัคีนและมีภูมิคุ้มกันหมู่ในระดับที่ไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ 5.การใช้มาตรการที่เข้าถึงภาคธุรกิจ โดยรับเม็ดเงินหมุนเวียนโดยตรงมากขึ้น เช่น มาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ มาตรการปรับโครงสร้างหนี้ และมาตรการคนละครึ่ง เป็นต้น
โดยในปัจจุบันสมาชิกหอการค้าฯ มองว่าสถานการณ์ยังแย่ โดยเฉพาะการท่องเที่ยวในจังหวัดที่ได้รับผลกระทบจากโควิดโดยตรง ทำให้การค้า และการจ้างงานได้รับผลกระทบตามไปด้วย แต่มองว่าในอีก 6 เดือนข้างหน้า สถานการณ์ที่เริ่มเปิดเมือง และการท่องเที่ยวจะเริ่มกลับมา การใช้จ่ายน่าจะปรับตัวดีขึ้น แต่คงยังไม่ได้กลับมาเท่ากับระดับปกติ