วันที่ 9 มิ.ย.2564 ผู้สื่อข่าวรายงาน ว่า นายธานี แสงรัตน์ อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ (กต.) ได้ชี้แจงถึงกรณีที่มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคฝ่ายค้าน ตั้งข้อสงสัยการให้ความช่วยเหลือจากสหรัฐฯ ต่อไทยในการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19
โดย นายธานี กล่าวว่า ตั้งแต่ช่วงเริ่มการแพร่ระบาดของโควิด-19 จนถึงปัจจุบัน สหรัฐฯ ได้ให้ความช่วยเหลือแก่ประเทศไทยแล้วรวมเป็นมูลค่าประมาณ 30 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ประกอบด้วย 1. การบริจาคอุปกรณ์ป้องกันและรักษาโรคแก่บุคลากรการแพทย์ของไทย จำนวน 17.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งรวมถึงการให้ความช่วยเหลือแก่พื้นที่พักพิงชั่วคราวตามแนวชายแดน และ 2.การให้ความช่วยเหลือจำนวน 13 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ผ่าน Centers for Disease Control (CDC) ซึ่งทำงานร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขอย่างใกล้ชิด ครอบคลุมการดำเนินการเพื่อรับมือโควิด-19 อาทิ องค์การเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐฯ (United States Agency for International Development-USAID) ร่วมกับ CDC และกองทัพบกสหรัฐฯ ให้ความช่วยเหลือในการเพิ่มขีดความสามารถในการตรวจวินิจฉัยโรค CDC ได้พัฒนาระบบเฝ้าระวังสำหรับพื้นที่พักพิงชั่วคราวบริเวณชายแดนไทย-เมียนมา จำนวน 9 แห่ง USAID สนับสนุนการให้คำปรึกษาทางออนไลน์ และสนับสนุนเครื่องวัดระดับออกซิเจนให้กับชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 CDC และ USAID ดำเนินโครงการให้ความรู้ด้านสุขอนามัยเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 USAID สนับสนุนการดำเนินการผ่านแอพลิเคชั่น “พ้นภัย” เพื่อส่งถุงยังชีพและน้ำดื่มให้แก่ผู้กักตัวใน 69 จังหวัดของไทย
ในช่วงที่ผ่านมา กต.ได้ให้ข้อมูลแก่ฝ่ายรัฐสภาเกี่ยวกับการให้ความช่วยเหลือเกี่ยวกับโควิด-19 จากสหรัฐฯ ซึ่งถือเป็นประเทศแรก ๆ ที่ให้ความช่วยเหลือไทย อาทิ ในการชี้แจงต่อคณะกรรมาธิการต่างประเทศ วุฒิสภา เมื่อวันที่ ๑๖ กันยายน ๒๕๖๓ และต่อคณะอนุกรรมาธิการพิจารณาและติดตามสถานการณ์ระหว่างประเทศที่มีผลกระทบต่อประเทศไทย เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2563
ล่าสุด เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2564 ที่ทำเนียบประธานาธิบดีสหรัฐฯ ได้แถลงข่าวเกี่ยวกับการให้ความช่วยเหลือด้านวัคซีนแก่ประเทศต่าง ๆ โดยมีแผนจะแบ่งปันวัคซีนจำนวนอย่างน้อย 80 ล้านโดสให้กับประเทศต่าง ๆ ภายในสิ้นเดือนมิถุนายนนี้ ซึ่งในเบื้องต้นจะเริ่มแบ่งปันวัคซีนที่ได้รับอนุญาตให้ใช้ในสหรัฐฯ ได้แก่ วัคซีนของบริษัท Pfizer, Moderna และ Johnson & Johnson จำนวนรวม 25 ล้านโดส
ซึ่งประเทศ/เขตเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้รับการจัดสรรวัคซีน รวมประมาณ 7 ล้านโดส โดยไทยมีรายชื่ออยู่ด้วย แต่ยังไม่มีรายละเอียดชนิดและจำนวนวัคซีนที่แต่ละประเทศจะได้รับ ทั้งนี้ทางกต.ได้ขอรับข้อมูลทางเทคนิคที่เกี่ยวข้องจากกระทรวงสาธารณสุข เพื่อประสานงานกับฝ่ายสหรัฐฯ สำหรับการส่งมอบวัคซีนที่จัดสรรให้ไทยต่อไป