นายผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย ในฐานะทำหน้าที่ประธานประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.)ประกอบด้วยสมาคมธนาคารไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า กกร.ได้พิจารณาปัจจัยต่างๆแล้วยังคงเป้าหมายอัตราการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ(จีดีพี) ปี 2564 ที่ 0.5-2% การส่งออกโต 5-7% อัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ 1-1.2% เนื่องจากแนวโน้มการส่งออกครึ่งปีหลังยังคงสดใสตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและการค้าโลก ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ปรับตัวสูงขึ้น
โดยเศรษฐกิจไทยยังต้องการแรงสนับสนุนจากทั้งนโยบายการเงินและการคลังเพิ่มเติม เศรษฐกิจในประเทศมีแนวโน้มฟื้นตัวได้ช้า โดยผู้ประกอบการในภาคท่องเที่ยว อสังหาริมทรัพย์ และภาคการค้าสะท้อนว่าผลกระทบจากการระบาดคราวนี้มีแนวโน้มรุนแรงมากกว่าทั้ง 2 ระลอกก่อนหน้า สอดคล้องกับรายงานของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ฉบับล่าสุดในเดือน มิ.ย. (Article IV Consultation) ที่เสนอแนะให้ประเทศไทยสามารถดำเนินการผ่อนคลายนโยบายการคลังมากขึ้น โดยเฉพาะการเร่งใช้จ่ายด้านการลงทุนภาครัฐ และมีความต่อเนื่อง
ทั้งนี้ กกร.เสนอภาครัฐให้เร่งดำเนินการได้แก่ 1.เร่งฉีดวัคซีนให้ได้ตามเป้าหมายและบริหารจัดการมาตรการควบคุมโรคอย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะในพื้นที่ที่เป็นยุทธศาสตร์การท่องเที่ยวไปพร้อมกับการเร่งออกแผนสนับสนุนการท่องเที่ยวตามรูปแบบของภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ (Phuket Sandbox) ที่จะเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ได้รับวัคซีน และทยอยขยายขอบเขตไปยังจังหวัดท่องเที่ยวอื่นต่อไป ซึ่งหากสำเร็จเชื่อว่าจะช่วยให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยเกิดขึ้นได้ในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปีนี้ แทนที่จะเป็นไตรมาสที่ 1 ของปีหน้าตามที่หลายฝ่ายคาดการณ์
2.เพิ่มมาตรการช่วยเหลือด้านกำลังซื้อภาคประชาชนในวงกว้าง โดยเฉพาะโครงการคนละครึ่ง ให้เข้ามาพยุงกำลังซื้อได้ในช่วงไตรมาสที่ 2 และ 3 โดยพิจารณาเพิ่มวงเงินสนับสนุนการใช้จ่ายจาก 3,000 บาทเป็น 6,000 บาท ซึ่งจะช่วยให้มีเม็ดเงินสะพัดในระบบเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นจาก 9 หมื่นล้านบาท เป็น 1.8 แสนล้านบาท เมื่อรวมเม็ดเงินของประชาชนที่นำออกมาใช้จ่ายคู่กับเม็ดเงินจากโครงการคนละครึ่ง
3.พิจารณาแนวทางมาตรการยิ่งใช้ยิ่งได้ (E-voucher) ให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้นจะช่วยผู้ประกอบการที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ให้มีความคล่องตัวมากขึ้น ให้ผู้บริโภคสามารถนำเงินที่ใช้จ่ายสำหรับซื้อสินค้าและบริการ มาใช้เพื่อลดหย่อนภาษีเงินได้โดยตรง ซึ่งเชื่อว่าจะอำนวยความสะดวกและดึงดูดกลุ่มผู้บริโภคที่มีกำลังซื้อสูงมากขึ้น