เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2564 เวลา 08.30 น. นายเกรียงไกร ภาคพิเศษ ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 3 พร้อมด้วย นายชลเทพ ทาตรี ผู้อำนวยการส่วนบริหารจัดการน้ำและบำรุงรักษา พร้อมทั้งเจ้าหน้าที่ เข้าร่วมชี้แจงและสร้างการรับรู้ให้ทราบถึงสถานการณ์น้ำต้นทุนของลุ่มน้ำเจ้าพระยาที่มีอยู่ พร้อมทั้งชี้แจงแนวทางการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่จังหวัดพิษณุโลก ให้แก่ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.นพพล เหลืองทองนารา) ว่าที่ร้อยตรีอิทธิพล บุบผะศิริ รองนายก อบจ.พิษณุโลก และกลุ่มผู้ใช้น้ำในพื้นที่จังหวัดพิษณุโลก ได้รับทราบ ณ ห้องประชุม SWOC สำนักงานชลประทานที่ 3 ปัจจุบันเนื่องจากเกิดปัญหาภาวะฝนทิ้งช่วง ซึ่งเป็นปรากฏการทางธรรมชาติที่ไม่สามารถควบคุมได้ ประกอบกับปริมาณน้ำต้นทุนที่มีอยู่อย่างจำกัด จึงต้องบริหารจัดการน้ำตามลำดับความสำคัญให้มีประสิทธิภาพ ควบคู่ไปกับการเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์น้ำในช่วงฤดูฝน เพื่อเก็บกักน้ำเป็นน้ำต้นทุนในพื้นที่ เพื่อให้มีน้ำพอใช้ในช่วงฤดูแล้ง ปัจจุบัน (7 มิ.ย. 64) อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำรวมกันทั้งสิ้น 34,843 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 46 ของความจุอ่างฯรวมกัน เป็นน้ำใช้การได้ 10,914 ล้าน ลบ.ม. ใน 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกันประมาณ 8,122 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 33 ของความจุอ่างฯรวมกัน เป็นน้ำใช้การได้ 1,426 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งในขณะนี้มีการเพาะปลูกข้าวนาปี 64 ไปแล้วทั้งประเทศรวม 5.6 ล้านไร่ คิดเป็น 33.6% ของแผน เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา เพาะปลูกไปแล้ว 3.7 ล้านไร่ คิดเป็น 47.1% ของแผน ทั้งนี้ กรมชลประทาน ได้ติดตามสภาพอากาศจากกรมอุตุนิยมวิทยาอย่างใกล้ชิด เพื่อนำข้อมูลมาวิเคราะห์และประเมินสถานการณ์อยู่ตลอดเวลา พร้อมทั้งดำเนินการตามแผนให้ความช่วยเหลือพื้นที่ข้าวนาปีที่ประสบปัญหาขาดแคลนน้ำแช่ข้าวจากภาวะฝนทิ้งช่วง ประกอบกับปริมาณน้ำต้นทุนในเขื่อนต่างๆมีปริมาณน้อย เนื่องจากฝนตกทางท้ายเขื่อนจึงทำให้เขื่อนมีปริมาณน้ำต้นทุนน้อย มีผลให้ไม่เพียงพอที่จะสนับสนุนให้พื้นที่การเกษตรได้อย่างเต็มศักยภาพ จึงจำเป็นต้องทำการจัดสรรน้ำตามรอบเวรให้กับพื้นที่การเกษตรโดยเฉพาะข้าวนาปีที่ทำการเพาะปลูกไปแล้ว เพื่อไม่ให้ผลผลิตได้รับความเสียหาย สำหรับเกษตรกรที่ยังไม่ได้ทำการเพาะปลูก ขอให้ชะลอการเพาะปลูกออกไปก่อน จนกว่าจะมีฝนตกชุกในพื้นที่สม่ำเสมอและมีน้ำเพียงพอในการทำเกษตร.