เครือซีพี ตอกย้ำ 2 เป้าหมายองค์กรยั่งยืน Zero Waste และ Zero Carbon บนเวทีระดับโลก "ASEAN-UK Race to Zero Dialogues" ยึดแนวทาง Climate Smart Agriculture มุ่งสู่ผู้นำการปฏิรูปภาคอุตสาหกรรมการเกษตรและอาหารเพื่อลดโลกร้อนอย่างมีประสิทธิภาพในภูมิภาคอาเซียน
นายนพปฎล เดชอุดม ประธานคณะผู้บริหารด้านความยั่งยืนองค์กร บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด เป็นตัวแทนหนึ่งเดียวจากภาคธุรกิจเอกชนของประเทศไทย ร่วมแลกเปลี่ยนมุมมองและประสบการณ์ในการขับเคลื่อนแผนกลยุทธ์การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในอุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร และบทบาทของภาคธุรกิจในการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ บนเวทีเสวนาระดับโลก “Transforming Agriculture and Land Use to Win the Race to Zero” ซึ่งจัดขึ้นแบบออนไลน์ โดยเป็นส่วนหนึ่งของงาน ASEAN-UK Race to Zero Dialogues จัดโดย UK COP26 Presidency, UK-ASEAN Business Council และ ASEAN Business Advisory Council โดยมีผู้บริหาร และนักวิชาการจากสถาบันและองค์กรชั้นนำจากนานาประเทศร่วมเสวนา เพื่อระดมสมองที่จะผนึกกำลังทุกภาคส่วนของระบบเศรษฐกิจมุ่งไปสู่การจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยโลกให้ไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียส
นายนพปฎล เดชอุดม ประธานคณะผู้บริหารด้านความยั่งยืนองค์กร เครือซีพี กล่าวบนเวทีเสวนาระดับโลก โดยสรุปว่า เครือซีพีได้กำหนดทิศทางและเป้าหมายความยั่งยืนปี 2030 สู่การเป็นหนึ่งในผู้นำของโลกด้านความยั่งยืน ถือเป็นการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ครั้งสำคัญ โดยประกาศ 2 เป้าหมายที่เครือซีพีต้องทำให้สำเร็จภายในปี 2030 คือ 1.การมุ่งสู่การเป็นองค์กร Zero Waste ลดขยะและของเสียให้เป็นศูนย์ 2.การมุ่งสู่การเป็นองค์กร Zero Carbon องค์กรที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ “สุทธิ” เป็นศูนย์ ซึ่งถือเป็นความท้าทายของเครือซีพีในการดำเนินธุรกิจที่มุ่งสู่ความยั่งยืนให้เติบโตอย่างแข็งแกร่ง
ทั้งนี้ เครือซีพีได้ยึดแนวทาง Climate Smart Agriculture หรือการบริหารจัดการภาคการเกษตรที่เท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยมุ่งเน้นการเพิ่มประสิทธิภาพและลดการสูญเสีย รวมทั้งการดำเนินการต่างๆที่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมาโดยตลอดเช่น การใช้พลังงานทดแทนจากระบบไบโอแก๊ส การพัฒนาสูตรอาหารสัตว์ที่ลดก๊าซไนตรัสออกไซด์จากมูลสัตว์ นอกจากนี้ยังได้พัฒนาและปรับปรุงพันธุ์พืชและสัตว์ตลอดจนกระบวนการผลิตและเทคนิคทางการเกษตร ซึ่งนำไปสู่การจัดการเชิงนิเวศในผลิตภัณฑ์ของเราได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น การใช้เทคโนโลยีในการมอนิเตอร์การเลี้ยงกุ้งตรวจสอบได้ว่ากุ้งต้องการอาหารมากแค่ไหนเพื่อบริหารจัดการในการลดของเสียและมลพิษ รวมทั้งใช้ระบบรีไซเคิลน้ำที่ช่วยลดการใช้น้ำต่อกิโลกรัมของผลิตภัณฑ์ลง 86% และลดการใช้พลังงานในระบบบำบัดน้ำได้ 30-35% ขณะเดียวกันก็เพิ่มผลผลิตไปได้อย่างคู่ขนาน
นอกจากนี้เครือซีพีได้นำพลังงานหมุนเวียนรูปแบบต่าง ๆ มาใช้ในการดำเนินการอย่างเหมาะสมกับธุรกิจต่าง ๆ ทั้งฟาร์มหมู โรงงานไข่ไก่ โรงงานแปรรูปอาหารหลายแห่ง อาทิ การใช้พลังงานแสงอาทิตย์ติดตั้งบนหลังคาโรงงานและอาคารสำนักงาน การใช้พลังงานจากก๊าซชีวภาพจากมูลสัตว์และน้ำเสียนำไปบำบัดจนได้ก๊าซชีวภาพ นำไปผลิตกระแสไฟฟ้าและนำกลับไปใช้ในสถานประกอบการ ซึ่งสามารถช่วยลดการปล่ายก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ไปได้กว่า 600,000 ตันต่อปี นอกจากนี้ยังได้ขยายการพัฒนาระบบก๊าซชีวภาพไปสู่การดำเนินกิจการของซีพีในประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะในภูมิภาคอาเซียน เช่น กัมพูชา ลาว มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม
“เครือซีพียังคงเดินหน้าพัฒนาหาโซลูชั่นทางเทคโนโลยีต่างๆ เพื่อมาช่วยให้เกษตรกรในไทยและภูมิภาคอาเซียนได้บริหารจัดการพร้อมรับกับความท้าทายของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทั้งการเฝ้าติดตามปศุสัตว์แบบดิจิทัล การจัดการคุณภาพน้ำ และการใช้โดรนเพื่อการเกษตร เทคโนโลยีเหล่านี้เครือซีพีได้ร่วมแบ่งปันกับเกษตรกรที่เป็นพันธมิตรตลอดจนการดำเนินงานของซีพีเอง โดยมีเป้าหมายคือการลดของเสียจากกระบวนการผลิตในภาคเกษตรขณะเดียวกันยังคงเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตได้ด้วย”
ทั้งนี้นอกเหนือจากเครือเจริญโภคภัณฑ์ จากประเทศไทย ยังมีผู้ร่วมเสวนาจากองค์กรชั้นนำระดับโลก อาทิ นายคริสโตเฟอร์ สจ๊วต Global Head of Corporate Responsibility and Sustainability บริษัท โอแลม อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด บริษัทซื้อขายสินค้าเกษตรชั้นนำของโลก นายดานุช ดิเนช Head of Partnerships and Outreach - CGIAR Research Program on Climate Change, Agriculture and Food Security ซึ่งเป็นหน่วยงานวิจัยด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและความเชื่อมโยงกับภาคเกษตรและอาหาร นางสาวอิเมลดา บาคุโด ที่ปรึกษาโครงการเครือข่ายการรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอาเซียน (ASEAN Climate Resilience Network) เครือข่ายนักวิชาการและองค์กรภาคประชาสังคมที่ขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในภูมิภาคอาเซียน และนายอเลกซานเดอร์ ไจลส์ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการค้า Liberty Produce บริษัทเทคโนโลยีการเกษตรจากประเทศอังกฤษ
โดยทุกคนต่างตระหนักดีกว่าภาคการเกษตรและการผลิตอาหารของโลกได้สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและมีส่วนในภาวะโลกร้อน ดังนั้นจึงต้องร่วมกันเร่งมือเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การจัดการห่วงโซ่อุปทานเพื่อความยั่งยืน และการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาผลิตอาหารที่ปลอดภัยและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้จำเป็นที่จะต้องเร่งสร้างความร่วมมือในระดับภูมิภาคอาเซียนเพื่อจับมือกันลดผลกระทบจากปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มาจากภาคอุตสาหกรรมการเกษตรและอาหาร