รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Thira Woratanarat ระบุว่า...สถานการณ์ทั่วโลก 8 มิถุนายน 2564...
ล่าสุดอินเดียติดเชื้อสะสมกำลังจะแตะ 29 ล้าน จำนวนเพิ่มต่อวันมีแนวโน้มดีขึ้นเรื่อยๆ เมื่อวานต่ำกว่าแสนคนเป็นครั้งแรกในรอบสองเดือน นับตั้งแต่วันที่ 4 เมษายน 2564 เป็นต้นมา
เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่ม 305,770 คน รวมแล้วตอนนี้ 174,360,879 คน ตายเพิ่มอีก 7,727 คน ยอดตายรวม 3,751,666 คน
5 อันดับแรกที่มีจำนวนติดเชื้อต่อวันสูงสุดคือ อินเดีย บราซิล อาร์เจนตินา โคลอมเบีย และอเมริกา
อเมริกา เมื่อวานติดเชิ้อเพิ่ม 10,515 คน รวม 34,225,127 คน ตายเพิ่ม 287 คน ยอดเสียชีวิตรวม 612,670 คน อัตราตาย 1.8%
อินเดีย ติดเพิ่ม 87,345 คน รวม 28,996,949 คน ตายเพิ่ม 2,115 คน ยอดเสียชีวิตรวม 351,344 คน อัตราตาย 1.2%
บราซิล ติดเพิ่ม 38,750 คน รวม 16,985,812 คน ตายเพิ่มถึง 1,119 คน ยอดเสียชีวิตรวม 474,614 คน อัตราตาย 2.8%
ฝรั่งเศส ติดเพิ่ม 1,164 คน ยอดรวม 5,713,917 คน ตายเพิ่ม 64 คน ยอดเสียชีวิตรวม 110,062 คน อัตราตาย 1.9%
ตุรกี ติดเพิ่ม 5,647 คน รวม 5,293,627 คน ตายเพิ่ม 91 คน ยอดเสียชีวิตรวม 48,255 คน อัตราตาย 0.9%
อันดับ 6-10 เป็น รัสเซีย สหราชอาณาจักร อิตาลี อาร์เจนติน่า และเยอรมัน ติดกันหลักพันถึงหลักหมื่น
แถบอเมริกาใต้ ยุโรป เอเชีย อย่างโคลอมเบีย ชิลี เม็กซิโก เนเธอร์แลนด์ ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย ศรีลังกา ญี่ปุ่น เนปาล และมาเลเซีย ยังติดกันเพิ่มหลักพันถึงหลักหมื่น
แถบสแกนดิเนเวีย บอลติก และยูเรเชีย ก็มีการติดเชื้อเพิ่มอย่างต่อเนื่อง แต่แนวโน้มลดลง ส่วนใหญ่อยู่หลักร้อย ยกเว้นมองโกเลียที่ยังหลักพัน
แถบตะวันออกกลาง ประเทศส่วนใหญ่ยังติดเพิ่มหลักร้อยถึงหลักพัน แนวโน้มลดลง ยกเว้นบางประเทศเช่น คูเวต ยูเออี เป็นต้น
เกาหลีใต้ ไต้หวัน เวียดนาม และกัมพูชา ติดเพิ่มหลักร้อย ส่วนจีน ออสเตรเลีย และสิงคโปร์ติดเพิ่มหลักสิบ ในขณะที่ฮ่องกงติดเพิ่มต่ำกว่าสิบ
...ข้อมูลจาก European Centre of Disease Prevention and Control (ECDC) เกี่ยวกับไวรัสกลายพันธุ์ อัพเดตล่าสุดเมื่อ 3 มิถุนายน 2564
สายพันธุ์ที่เป็นที่กังวล (Variants of Concern: VOC) ของเค้ามี 4 สายพันธุ์ ได้แก่ อัลฟ่า เบต้า แกมม่า และเดลต้า ซึ่งพบครั้งแรกที่สหราชอาณาจักร แอฟริกาใต้ บราซิล และอินเดียตามลำดับ
ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ชี้ให้เห็นว่าโดยรวมแล้ว ทั้ง 4 สายพันธุ์สามารถแพร่ได้ไวกว่าสายพันธุ์ดั้งเดิม
มีหลายสายพันธุ์ที่ติดเชื้อแล้วทำให้มีความรุนแรงกว่าเดิม เช่น อัลฟ่า เบต้า แกมม่า ในขณะที่สายพันธุ์เดลต้ายังต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมว่าจะทำให้รุนแรงขึ้นหรือไม่และสิ่งหนึ่งที่กังวลกันมากคือ การดื้อต่อภูมิคุ้มกันจากวัคซีนที่เราใช้กันอยู่
สำหรับสายพันธุ์เบต้า และเดลต้านั้น มีหลักฐานชี้ให้เห็นว่าดื้อต่อภูมิคุ้มกัน ข้อมูลการวิจัยจากสหราชอาณาจักร ตั้งแต่ 5 เมษายน 2564 ถึง 16 พฤษภาคม 2564 พบว่า หลังฉีดวัคซีน Pfizer-BioNTech ครบสองเข็มไปแล้วอย่างน้อย 2 สัปดาห์จะสามารถป้องกันการติดเชื้อแบบมีอาการจากสายพันธุ์ B.1.672 (เดลต้า, อินเดีย) ได้ 88% ซึ่งลดลงจากเดิม ที่ป้องกันสายพันธุ์อัลฟ่า (B.1.1.7, สหราชอาณาจักร) ได้ 93%
ในขณะที่หากฉีดวัคซีน AstraZeneca ครบสองเข็มจะป้องกันสายพันธุ์เดลต้าได้ 60% ซึ่งลดลงจากเดิม ที่ป้องกันสายพันธุ์อัลฟ่าได้ 66% สิ่งสำคัญคือ เมื่อประเมิน ณ 3 สัปดาห์หลังฉีดวัคซีนไปเพียงเข็มเดียว ประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อแบบมีอาการจากสายพันธุ์เดลต้า จะได้เพียง 33% ซึ่งลดลงจากเดิม ที่ป้องกันสายพันธุ์อัลฟ่าได้ 50%
นี่จึงเป็นข้อมูลที่เน้นย้ำให้แต่ละประเทศหาทางป้องกันการระบาดของสายพันธุ์กลายพันธุ์ดังกล่าว และการเว้นระยะฉีดวัคซีนเข็มที่สองที่ห่างเกินไปนั้น อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการระบาดมากขึ้นด้วย
สำหรับไทยเรา...ข่าวออกมาชัดเจนว่า ตอนนี้มีสายพันธุ์กลายพันธุ์เข้ามาในประเทศแล้ว จึงจำเป็นที่เราทุกคนต้องป้องกันตัวอย่างเคร่งครัด
ใส่หน้ากากนะครับ สองชั้น ชั้นในเป็นหน้ากากอนามัย ชั้นนอกเป็นหน้ากากผ้า ล้างมือบ่อยๆ พบคนน้อยๆ สั้นๆ อยู่ห่างกันมากๆ เลี่ยงการกินดื่มในร้านอาหาร โรงอาหาร ศูนย์อาหาร ซื้อกลับจะปลอดภัยกว่า
ด้วยรักและห่วงใย