ภูมิภาค /เครือข่ายองค์กรชุมชนทั่วประเทศยื่นหนังสือผ่านผู้ว่าราชการจังหวัดถึงรัฐบาลและรัฐสภา เพื่อคัดค้านร่างกฎหมายว่าด้วยการดำเนินงานขององค์กรที่ไม่แสวงหารายได้หรือกำไรมาแบ่งปันกัน เพราะเห็นว่าเป็นกฎหมายที่ต้องการรวบอำนาจไว้ที่ส่วนกลาง โดยละเลยการมีส่วนร่วมของประชาชนในการพัฒนาประเทศ ด้านภาคประชาสังคมชี้เป็นกฎหมายควบคุมการทำงานของภาคประชาชน ขัดกับหลักการประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม และสร้างมายาคติว่า NGO รับเงินต่างชาติมาล้มรัฐบาล
ตามที่คณะรัฐมนตรีเห็นชอบหลักการร่างกฎหมายว่าด้วยการดำเนินงานขององค์กรที่ไม่แสวงหารายได้หรือกำไรมาแบ่งปันกัน ในการประชุมเมื่อวันที่ 23 ก.พ. 2564 ตามที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (สคก.) เสนอ โดยให้เพิ่มรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เป็นผู้รักษาการตามร่างกฎหมายนี้ และให้ สคก. รับร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาองค์กรภาคประชาสังคม พ.ศ. …. ของกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ รวมทั้งความเห็นของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไปประกอบการยกร่างกฎหมายว่าด้วยการดำเนินงานขององค์กรที่ไม่แสวงหารายได้หรือกำไรมาแบ่งปันกัน ก่อนเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไปนั้น
ขณะที่ภาคประชาชนและภาคประชาสังคม ซึ่งรวมกลุ่มทำกิจกรรมหรือทำโครงการพัฒนาชุมชนต่างๆ ในนามขององค์กร มูลนิธิ รวมทั้งสภาองค์กรชุมชนตำบล ซึ่งทำงานร่วมกับภาคีเครือข่ายในท้องถิ่นทั่วประเทศ และเข้าข่ายเป็นองค์กรที่ไม่แสงหาหารายได้หรือกำไรนำมาแบ่งปันกันตามร่างกฎหมายนี้ต่างมีความเห็นคัดค้าน เนื่องจากเห็นว่าร่างกฎหมายนี้ต้องการรวบอำนาจไว้ที่ส่วนกลาง โดยจงใจละเลยการมีส่วนร่วมของประชาชนในการพัฒนาประเทศ อีกทั้งเป็นการขัดขวางการรวมกลุ่มรวมตัวขององค์กรสาธารณะประโยชน์ที่เป็นภาคเอกชน ภาคประชาชน และภาคประชาสังคม
เครือข่ายประชาชนยื่นหนังสือค้านร่างกฎหมาย
ล่าสุดวันนี้ (4 มิถุนายน) ตั้งแต่เวลา 9.00 น. เครือข่ายองค์กรชุมชน เครือข่ายสภาองค์กรชุมชนตำบล ในฐานะตัวแทนภาคประชาชนได้รวมตัวกันยื่นหนังสือคัดค้านร่างกฎหมายฉบับนี้ โดยยื่นหนังสือผ่านผู้ว่าราชการจังหวัด ศูนย์ดำรงธรรม พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดทั่วประเทศ รวมทั้งตัวแทนพรรคการเมือง เพื่อส่งหนังสือคัดค้านต่อไปยังรัฐบาล รัฐสภา และพรรคการเมือง รวมกว่า 40 จังหวัด เช่น ภาคเหนือ จังหวัดเชียงราย (สภาองค์กรชุมชนตำบล 17 แห่ง) เชียงใหม่ พิษณุโลก สุโขทัย ตาก ภาคอีสาน จังหวัดขอนแก่น ภาคกลาง จังหวัดสุพรรณบุรี ตะวันออก จังหวัดจันทบุรี และภาคใต้ จังหวัดพัทลุง กระบี่ ตรัง ฯลฯ
โดยมีสาระสำคัญคือ ขอให้รัฐบาลทบทวนการเสนอร่างกฎหมายว่าด้วยการดำเนินงานขององค์กรที่ไม่แสวงหารายได้หรือกำไรมาแบ่งปันกัน ตามที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติเมื่อวันที่ 23 ก.พ. 2564 โดยอ้างความจำเป็นในการร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวว่า เพื่อให้มีกฎหมายกลางในการกำกับการดำเนินงานขององค์กรที่ไม่แสวงหารายได้ฯ ให้เป็นไปอย่างถูกต้อง โปร่งใส และเกิดประโยชน์ต่อประชาชนและประเทศอย่างแท้จริง ปราศจากไถยจิต ( จิตคิดจะขโมย, ความคิดที่จะลัก หมายถึงความคิดจะถือเอาสิ่งของที่เจ้าของเขามิได้ให้ ด้วยอาการแห่งโจร คือมีเจตนาลัก ฉ้อ โกง)
ขณะที่ภาคประชาชนเห็นว่าสาระสำคัญของกฎหมายที่กำลังจะร่างนี้ขัดกับข้อเสนอของภาคประชาสังคมที่ได้มีการเสนอร่างกฎหมายส่งเสริมภาคประชาสังคม เพื่อส่งเสริมการทำงานของภาคประชาสังคมให้เกิดความเข้มแข็ง มีอิสระจากรัฐและทุน สามารถร่วมกันกำหนดอนาคตสังคม เกิดสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาคเท่าเทียม ความเป็นธรรมได้อย่างแท้จริง โดยมีความเห็นร่วมกันว่า
1. ร่างกฏหมายองค์กรที่ไม่แสวงหารายได้ฯ บังคับให้การรวมตัวของทุกกลุ่มตามรัฐธรรมนูญจะต้องจดแจ้งการเป็นองค์กรที่ไม่แสวงหารายได้ฯ กับกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ไม่เช่นนั้นจะมีความผิดในทางอาญา (ต้องระวางโทษสูงสุดไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ)
2 บังคับให้องค์กรที่เป็นนิติบุคคล (สมาคมหรือมูลนิธิ) และองค์กรที่จดทะเบียนตามกฎหมายอื่นนอกจากต้องปฏิบัติตามกฎหมายที่องค์กรดังกล่าวจดทะเบียนแล้ว ยังต้องปฏิบัติตามกฎหมายนี้และต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่รัฐมนตรีมหาดไทยกำหนดอีกด้วย
3. บังคับให้องค์กรภาคสังคมต้องเปิดเผยแหล่งที่มาและจำนวนของเงินหรือทรัพย์สินที่ใช้ในการดำเนินกิจกรรมในแต่ละปี และต้องยื่นแบบรายการภาษีเงินได้ทุกปี
4. บังคับให้องค์กรภาคสังคมต้องเสนอรายงานการสอบบัญชี โดยผู้สอบบัญชีรับอนุญาตต่อผู้รับจดแจ้งภายใน 60 วัน นับแต่วันสิ้นปีบัญชี และให้ผู้รับจดแจ้งเผยแพร่ต่อสาธารณะ
5. บังคับให้องค์กรที่ไม่แสวงหารายได้ฯ ที่รับเงินหรือทรัพย์สินจากบุคคลธรรมดา นิติบุคคล หรือ คณะบุคคลที่ไม่มีสัญชาติไทย หรือไม่ได้จดทะเบียนจัดตั้งในไทย มาใช้ในการดำเนินกิจกรรมในไทยได้เฉพาะกิจกรรมที่รัฐมนตรีกำหนดเท่านั้น
6. บังคับให้การดำเนินงานขององค์กรต้องไม่ขัดกับระเบียบที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเป็นผู้กำหนดหรือชี้เป็นชี้ตายได้ และหากขัดกับคำสั่งดังกล่าว สามารถยกเลิกหรือยุติการดำเนินงานขององค์กรนั้นได้
เสนอความเห็นแย้ง : ชี้เป็นกฎหมายรวบอำนาจ-ละเลยการมีส่วนร่วมของประชาชน
นายเอกนัฐ บุญยัง ประธานคณะกรรมการดำเนินการตามมติที่ประชุมระดับชาติของสภาองค์กรชุมชน กล่าวว่า จากข้อกำหนดเหล่านี้ เห็นได้ชัดถึงความพยายามสร้างเงื่อนไข และข้อบังคับที่ต้องการรวบอำนาจไว้ที่ส่วนกลาง โดยจงใจละเลยการมีส่วนร่วมของประชาชนในการพัฒนาประเทศ อีกทั้งเป็นการขัดขวางการรวมกลุ่มรวมตัวขององค์กรสาธารณประโยชน์ที่เป็นภาคเอกชน ภาคประชาชน และภาคประชาสังคมทุกรูปแบบ ทั้งที่ความจริงแล้ว
1.รัฐมีช่องทางของกฎหมายเฉพาะที่รับจดแจ้งองค์กรสาธารณประโยชน์ หรือองค์กรที่ไม่แสวงหากำไรเหล่านี้อยู่แล้ว เช่น การขึ้นทะเบียนสมาคมฯ มูลนิธิ หรืองค์กรที่จดแจ้งตามกฎหมายอื่นๆ เพื่อทำหน้าที่ควบคุม หรือกำกับการดำเนินงานขององค์กรต่างๆอยู่แล้ว อีกทั้งหากองค์กรใดดำเนินกิจกรรมที่ไม่เป็นไปตามกฎหมายก็มีกฎหมายสามารถเอาผิดได้อยู่แล้ว จึงไม่จำเป็นที่จะต้องมีกฎหมายที่มีเนื้อหาเป็นการ “ควบคุม” หรือ “คุกคาม” การรวมกลุ่มรวมตัวของประชาชน จึงเป็นการออกกฎหมายเกินความจำเป็นและไม่สมเหตุผล
2.ร่างกฎหมายฉบับนี้ขัดกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 เพราะไม่ได้มีขั้นตอนการรับฟังความคิดเห็นประชาชน และวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากร่างกฎหมาย ตามมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญ
3.ร่างกฎหมายฉบับนี้เป็นการให้อำนาจเจ้าหน้าที่รัฐควบคุมองค์กรสาธารณประโยชน์หรือองค์กรที่ไม่แสวงหารายได้ฯ ทั้งการรวมตัวจัดตั้งองค์กร การดำเนินกิจกรรม การหารายได้และการใช้จ่าย การยุติกิจกรรมหรือยกเลิกองค์กร และการเอาผิดทางอาญา จึงเป็นการขัดกับสิทธิเสรีภาพในการรวมตัวและการแสดงออกของประชาชนตามรัฐธรรมนูญ
4.รัฐบาลมีเจตนาปิดกั้นและไม่ส่งเสริมการรวมกลุ่ม รวมตัวของภาคประชาชน เนื่องจากในโอกาสเดียวกันนี้ ภาคประชาชนได้มีการเสนอร่าง พ.ร.บ. ส่งเสริมภาคประชาสังคม แต่รัฐบาลกลับนำร่างกฎหมายการดำเนินงานขององค์กรที่ไม่แสวงหารายได้หรือกำไรมาแบ่งปันกันเสนอประกบเข้ามาด้วย ซึ่งมีลักษณะเนื้อหาที่ขัดแย้ง และจะทำให้สาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ.ฉบับประชาชนตกไป
5.การเห็นชอบร่างกฎหมายดังกล่าว ถือเป็นการปิดกั้น และลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชนอย่างรุนแรง และไม่เคารพและเห็นถึงความสำคัญในการรวมกลุ่มรวมตัวของประชาชนเพื่อประโยชน์สาธารณะที่มีอยู่จำนวนมากในประเทศ อันเป็น “หุ้นส่วน” การพัฒนาที่จำเป็นต้องมีในสังคมไทย
นายเอกนัฐกล่าวต่อไปว่า จากเหตุผลดังกล่าว เครือข่ายองค์กรชุมชน เครือข่ายสภาองค์กรชุมชนตำบล ซึ่งเป็นองค์กรชาวบ้านที่เกิดขึ้นจากการรวมตัวกันของกลุ่มกิจกรรมต่างๆ ในชุมชนในระดับตำบลที่มีอยู่อย่างหลากหลาย เช่น กลุ่มวิสาหกิจ กลุ่มอาชีพต่างๆ กลุ่มสวัสดิการชุมชน กองทุนชุมชน กลุ่มท่องเที่ยวชุมชน กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ฯลฯ ถือเป็นการรวมกลุ่มเพื่อประโยชน์สาธารณะ และไม่ได้แสวงหารายได้หรือกำไรมาแบ่งปันกัน จึงมีความเห็นร่วมกันว่า
“ร่างกฎหมายว่าด้วยการดำเนินงานขององค์กรที่ไม่แสวงหารายได้หรือกำไรมาแบ่งปันกัน ตามที่คณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบในหลักการไปเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2564 นั้น ไม่เป็นผลดีกับสังคมโดยรวม และจะเป็นการปิดกั้นการรวมกลุ่มของภาคประชาชนเพื่อประโยชน์สาธารณะ อันถือเป็นบทบาทสำคัญของกระบวนการพัฒนาประเทศในทุกระดับ และทุกมิติ ซึ่งรัฐบาลควรจะส่งเสริมสนับสนุนมากกว่าการควบคุม ดังเหตุผลที่ได้กล่าวไว้แล้วเบื้องต้น พวกเราจึงขอเสนอให้รัฐบาลพิจารณาทบทวนร่างกฎหมายฉบับนี้ด้วยความรอบคอบและมุ่งเน้นประโยชน์สาธารณะเป็นที่ตั้ง เพื่อมุ่งการพัฒนาที่ยั่งยืนต่อไป” นายเอกนัฐกล่าว
ภาคประชาสังคมยก 5 เหตุผลคัดค้าน
อย่างไรก็ตาม นอกจากการยื่นหนังสือคัดค้านของเครือข่ายองค์กรชุมชนดังกล่าวแล้ว ก่อนหน้านี้ภาคประชาสังคม โดยนายสรรพสิทธิ์ คุมพ์ประพันธ์ ประธานคณะอนุกรรมการด้านการศึกษาและพัฒนากฎหมายเพื่อการส่งเสริมและพัฒนาองค์กรภาคประชาสังคม นางสุนี ไชยรส ผู้ริเริ่มเสนอกฎหมาย ร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาองค์กรภาคประชาสังคม พ.ศ. .... (ฉบับประชาชน) ฯลฯ ได้ร่วมกันแถลงคัดค้านร่างกฎหมายฉบับนี้ เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา โดยเห็นว่า มติเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีในหลักการของร่างกฎหมายดังกล่าวนั้น ไม่มีความชอบธรรมที่จะประกาศใช้ออกมาเป็นกฎหมายในอนาคต ทั้งยังขัดกับรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 25 , 26 , 34 , 40 , 42 ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้
1.เป็นกฎหมายที่ขัดแย้งต่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ Sustainable Development Goals (SDGs) ที่ว่า การบรรลุเป้าหมายนี้ต้องการความเป็นพันธมิตรระหว่างรัฐบาล ภาคเอกชน ภาคประชาสังคมและพลเมืองเพื่อมั่นใจว่า เราจะส่งต่อโลกที่ดีกว่าให้แก่คนรุ่นถัดไป ความหมายนี้ย่อมเน้นความเสมอภาคเท่าเทียมกันในการพัฒนาที่ยั่งยืนดังกล่าว ร่างกฎหมายนี้จึงเท่ากับลดทอนความเสมอภาคของภาคประชาสังคมและพลเมืองให้อยู่ใต้การกำหนดของรัฐบาล
2.เป็นการขัดกับหลักการประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม (Participatory Democracy) ที่ให้ความสำคัญกับประชาชนในการเข้ามีส่วนร่วมโดยตรง ทั้งทางการเมืองและการบริหารราชการ มติ ครม. นี้เป็นการ “ปิดพื้นที่แห่งการสร้างสรรค์ เปิดพื้นที่แห่งความเผชิญหน้า” ขัดแย้งกับหลักการกระจายอำนาจไปสู่ท้องถิ่น ภาครัฐจะยิ่งขาดการยอมรับจากประชาชนมากยิ่งขึ้นว่าไม่สามารถสร้างคุณประโยชน์แก่สังคมได้ เพราะทำให้ ร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาองค์กรภาคประชาสังคม พ.ศ....ไม่ว่าจะเป็นฉบับกระทรวง พม. หรือฉบับภาคประชาชน ถูกลดทอนความสำคัญลง หากถูกรวมกลายเป็นร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวนี้ฉบับเดียวกันแทน ซึ่งเป็นคนละเจตนารมณ์และหลักการที่แตกต่างอย่างสิ้นเชิง จาก “ส่งเสริม” จึงกลายเป็น “ควบคุมอย่างเข้มงวด”
3.เป็นการสร้างระบบตั๋วทุจริตแบบชอบธรรมในกลไกภาครัฐและราชการให้มากขึ้น เพราะเมื่อภาคประชาสังคมไม่มีอิสระในการทำงาน ขึ้นอยู่กับกฎเกณฑ์ที่กำกับโดยกระทรวงมหาดไทย ภาครัฐย่อมจะขาดข้อมูลประกอบการตัดสินใจที่ครบถ้วนหรือรอบคอบ โดยเฉพาะการพัฒนาในโครงการรัฐขนาดใหญ่ต่างๆ ขาดทางเลือกใหม่ๆ ในการตัดสินใจที่กระทบกับประชาชน
3.เป็นการสร้างระบบตั๋วทุจริตแบบชอบธรรมในกลไกภาครัฐและราชการให้มากขึ้น เพราะเมื่อภาคประชาสังคมไม่มีอิสระในการทำงาน ขึ้นอยู่กับกฎเกณฑ์ที่กำกับโดยกระทรวงมหาดไทย ภาครัฐย่อมจะขาดข้อมูลประกอบการตัดสินใจที่ครบถ้วนหรือรอบคอบ โดยเฉพาะการพัฒนาในโครงการรัฐขนาดใหญ่ต่างๆ ขาดทางเลือกใหม่ๆ ในการตัดสินใจที่กระทบกับประชาชนโดยตรง ทำให้นักการเมือง ข้าราชการ และนักธุรกิจการเมืองเข้ามามีอำนาจ แก่งแย่งผลประโยชน์ได้มากยิ่งขึ้น กลายเป็นท้องถิ่นเผด็จการ เป็นการอภิบาลโดยรัฐตามอำเภอใจ (Governance by State) ขาดประสิทธิภาพและความโปร่งใสติดตามมา
ประเด็นนี้ย่อมสะท้อนว่าการดำเนินการต่างๆ ของรัฐ มักถูกกำหนดโดยกลุ่มอิทธิพลในสังคมข้างต้น ดังนั้นความมีอิสระในการดำเนินการของภาคประชาสังคมและพลเมืองเท่านั้น จึงจะสามารถก่อให้เกิดความสมดุลในการพัฒนาที่ยั่งยืน ทั้งนี้ตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 43 มาตรา 250 และมาตรา 254
4.รัฐบาลไทยกำลังสร้างมายาคติเรื่องรับเงินต่างชาติมาเคลื่อนไหวเพื่อล้มล้างรัฐบาล ทั้งที่ในปัจจุบันนี้องค์กรภาคประชาสังคมส่วนมากต่างประสบปัญหาในการเข้าถึงเงินทุนต่างประเทศ นับตั้งแต่ปี 2561 เป็นต้นมา USAID, กองทุนแคนาดาเพื่อการริเริ่มของท้องถิ่น , สถานทูตอังกฤษ , สถานทูตญี่ปุ่น , กองทุนโลก ได้ลดระดับความช่วยเหลือประเทศไทยลงอย่างมาก ส่งผลให้องค์กรภาคประชาสังคมที่ทำงานในพื้นที่ชนบทประสบปัญหา และส่งผลต่อกลุ่มเป้าหมายที่เข้าไม่ถึงการดูแล โดยเฉพาะในปัญหาสุขภาพ อนามัยเจริญพันธุ์ ความรุนแรงในสังคมและครอบครัว แรงงาน สถานะบุคคล ที่มีผลกระทบมากยิ่งขึ้น เป็นต้น
ขณะเดียวกันการกำกับดูแลองค์กรภาคประชาสังคม เช่น มูลนิธิต่างๆ ก็มีกระทรวงต่างๆ เช่น กระทรวง มหาดไทย กระทรวงแรงงาน กระทรวงวัฒนธรรม และมีประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์และกฎหมายอื่นๆ เป็นกลไกในการตรวจสอบโดยปกติอยู่แล้ว โดยเฉพาะหากองค์กรภาคประชาสังคมดำเนินการใดที่ขัดต่อกฎหมายก็ย่อมถูกแทรกแซงดำเนินคดีตามกระบวนการยุติธรรมอยู่แล้ว
5. มีบทเรียนสำคัญในประเทศเพื่อนบ้านของไทยที่มีการออกกฎหมายควบคุมองค์กรภาคประชาสังคมในการทำงาน เมื่อเดือนสิงหาคม 2558 รัฐบาลกัมพูชามีการประกาศใช้กฎหมายว่าด้วยการชุมนุมและองค์กรที่ไม่ใช่ของรัฐ (Law on Associations and Non-governmental Organizations หรือ LAN GO) หรือที่เรียกสั้นๆ ว่า “กฎหมายควบคุมเอ็นจีโอ” สถานการณ์หลังจากประกาศใช้กฎหมายนี้ พบว่า ภาคประชาสังคมกัมพูชาถูกคุกคาม ถูกทำร้าย ถูกตั้งข้อหา และถูกจับเข้าคุก โดยเฉพาะในการทำงานช่วยเหลือเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับผู้ที่ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน
“เพราะความเข้มแข็งและมั่นคงของรัฐจักต้องอาศัยความเข้มแข็งของพลเมือง ความเข้มแข็งของพลเมืองจักเกิดขึ้นได้ต้องอาศัยความร่วมมือจากภาคประชาสังคม ประชาสังคมที่เป็นอิสระจากรัฐและทุน จึงจะสามารถกำหนดอนาคตสังคม เพื่อสร้างให้เกิดสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาคเท่าเทียม ความเป็นธรรมได้อย่างแท้จริง หากรัฐยังคงมีวิธีคิดแบบตกขอบย่อมไม่สามารถสร้างความร่วมมือ หรือดึงศักยภาพของภาคประชาชนมาร่วมพัฒนาประเทศได้แต่อย่างใด” แถลงการณ์ของภาคประชาสังคมระบุในตอนท้าย