คุณหญิงปัทมา ลีสวัสดิ์ตระกูล กรรมการคณะกรรมการโอลิมปิกสากล (ไอโอซีเมมเบอร์) เผยว่า จากนี้ไป เหลือเวลาอีกไม่ถึง 50 วันแล้ว ที่มหกรรมกีฬาโอลิมปิก โตเกียว 2020 จะเร่ิมขึ้น ในระหว่างวันที่ 23 ก.ค.-8 ส.ค.นี้ ที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งทางเจ้าภาพญี่ปุ่น ก็ได้ประกาศความพร้อมว่า จะเดินหน้าจัดการแข่งขันตามแผนเดิม ขณะเดียวกัน "โธมัส บาค" ประธานไอโอซี เชื่อมั่นว่า การรวมตัวของนักกีฬาจากทั่วโลก ในโตเกียวเกมส์ ครั้งนี้ จะเป็นพลังที่ยิ่งใหญ่ หลังจากผ่านอุปสรรคด้านต่าง ๆ มาไม่น้อย โดยเฉพาะจากปัญหาโควิด-19 ที่ทำให้ต้องเลื่อนการแข่งขันมา 1 ปี พร้อมกันนี้ ประธานไอโอซี ยังย้ำด้วยว่า กีฬาสามารถสร้างสันติภาพให้กับโลกใบนี้ได้เสมอ ทั้งนี้ โธมัส บาค ประธานไอโอซี กล่าวในที่ประชุม หัวข้อ “การทูตด้านกีฬาสามารถช่วยสร้างยุโรปให้แข็งแกร่งขึ้นได้อย่างไร”ว่า กีฬาและการทูตสามารถส่งเสริมซึ่งกันและกันได้เป็นอย่างดี ตลอดประวัติศาสตร์ของกีฬาโอลิมปิก ได้แสดงให้เห็นถึงความสามารถในการส่งเสริมความเข้าใจของมนุษย์ แม้ในสถานการณ์ที่ข้อตกลงทางการเมืองเป็นเรื่องเข้าใจยาก พลังของการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก คือ ความเป็นสากล โอลิมปิกเป็นงานเดียวที่นำคนทั้งโลกมารวมกัน เพื่อการแข่งขันอย่างสันติ เมื่อนักกีฬาของคณะกรรมการโอลิมปิกแห่งชาติ 206 ชาติ และทีมโอลิมปิกผู้ลี้ภัย มารวมตัวกันในโอลิมปิก โตเกียว ที่จะเร่ิมขึ้นในวันที่ 23 ก.ค. หรืออีกประมาณ 50 วันนับจากนี้ พวกเขาจะส่งข้อความอันทรงพลังจากโตเกียวไปทั่วโลก สารสำคัญคือ สันติภาพ ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน และความสามารถในการฟื้นตัว ประธานไอโอซี กล่าวต่อว่า พันธกิจของเราบังคับให้เราต้องยอมรับความหลากหลายของมนุษย์ และไม่เคยกีดกันผู้อื่น การแข่งขันกีฬาโอลิมปิกสร้างสะพานให้เสมอ และไม่เคยสร้างกำแพงขึ้นมา โดยหน้าที่ของไอโอซี ต้องเป็นกลางทางการเมือง ซึ่งหลักการของความเป็นกลางทางการเมืองนี้เท่านั้น ที่ทำให้มั่นใจได้ว่าการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก สามารถยืนหยัดอยู่เหนือความแตกต่างทางการเมืองที่มีอยู่ในโลกของเรา นี่คือเหตุผลที่กีฬาและการทูตสามารถส่งเสริมซึ่งกันและกันได้ เพราะทั้ง 2 สิ่งนี้ หมายถึงการเจรจาการสร้างความเข้าใจระหว่างผู้คนให้มากขึ้น และความก้าวหน้าของสันติภาพ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ไอโอซี ได้เป็นตัวกลางระหว่างรัฐบาลต่าง ๆ ช่วยเชื่อมสัมพันธ์ผ่านทางกีฬา กรณีเหล่านี้เกิดขึ้นตั้งแต่สเปน ไปจนถึง เซอร์เบีย โคโซโว ตูนิเซีย อิสราเอล ปาเลสไตน์ อิหร่าน ยูเครน รัสเซีย อาร์เมเนีย อาเซอร์ไบจาน เกาหลีใต้ และเกาหลีเหนือ และอีกหลายประเทศ ขณะเดียวกัน เรารู้ดีว่ากีฬาเพียงอย่างเดียวไม่สามารถสร้างสันติภาพได้ เราไม่สามารถป้องกันความขัดแย้งหรือเปลี่ยนแปลงกฎหมายของรัฐอธิปไตย สิ่งเหล่านี้ เป็นเรื่องทางการเมือง การแข่งขันกีฬาโอลิมปิกไม่สามารถจัดการกับความท้าทายทางการเมืองและสังคมทั้งหมดในโลกของเราได้ แต่สามารถเป็นแบบอย่างของโลก ที่ทุกคนเคารพกฎเดียวกัน และเคารพซึ่งกันและกัน "เราสามารถบรรลุพันธกิจของเราได้ ก็ต่อเมื่อฝ่ายการเมือง เคารพความเป็นกลางของเรา เพราะถ้าหากไม่เคารพความเป็นกลางของเรา การแข่งขันกีฬาโอลิมปิก ก็จะกลายเป็นความแตกแยกมากกว่าที่จะรวมกันเป็นหนึ่งเดียว หากความเป็นกลางนี้ไม่ได้รับการเคารพ ก็เป็นไปไม่ได้ที่เราจะนำโลกมาสู่การแข่งขันอย่างสันติ"