เชียงใหม่พบผู้เสียชีวิตจากโควิดเพิ่ม 2 ราย สะสม26 รายขณะที่ยอดผู้จองฉีดวัคซีนเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ก่อนวัน Kick Off 7 มิถุนายน พร้อมเชิญชวนลงทะเบียนจองฉีดวัคซีน “ร่วมกันฉีดวัคซีน หยุดเชื้อ เพื่อเชียงใหม่”
วันนี้ (3 มิ.ย. 2564) ที่ ศูนย์บัญชาการสถานการณ์การระบาดโรค Covid-19 จังหวัดเชียงใหม่ ดร.ทรงยศ คำชัย หัวหน้ากลุ่มงานควบคุมโรคติดต่อ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ แถลงสถานการณ์การระบาดของโรค Covid-19 ระลอกเดือนเมษายนจังหวัดเชียงใหม่ประจำวัน
ดร.ทรงยศ คำชัย หัวหน้ากลุ่มงานควบคุมโรคติดต่อ เปิดเผยว่า วันนี้จังหวัดเชียงใหม่พบผู้ติดเชื้อรายใหม่เพียง 1ราย อยู่ระหว่างการสอบสวน เป็นพนักงานส่งของของร้านสะดวกซื้อ เบื้องต้นยังไม่มีความเกี่ยวข้องกับคลัสเตอร์ใดๆ ทำให้ยอดผู้ติดเชื้อสะสม 4,049 ราย ในจำนวนนี้รักษาหายแล้ว 3,993 ราย คิดเป็นร้อยละ 94 ของผู้ติดเชื้อทั้งหมด ยังรักษาอยู่ในโรงพยาบาล 78 ราย แยกเป็น โรงพยาบาลสนาม 14 ราย โรงพยาบาลรัฐ 56 ราย โรงพยาบาลเอกชน 7 ราย และ โรงพยาบาลต่างจังหวัด 1 ราย โดยผู้รักษาตัวอยู่ แยกเป็นกลุ่มผู้ป่วยที่ไม่มีอาการหรืออาการเล็กน้อย (สีเขียว) 45 ราย อาการปานกลาง (สีเหลือง) 23 ราย อาการค่อนข้างหนัก (สีส้ม) 7 ราย และผู้ป่วยอาการหนัก (สีแดง) 3 ราย สำหรับวันนี้มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม 2 ราย ทำให้ยอดผู้เสียชีวิตสะสมอยู่ที่ 26 ราย
สำหรับผู้เสียชีวิตรายที่ 25 รหัส CM 3332 เป็นผู้ป่วยชายไทย อายุ 80 ปี โรคประจำตัวเป็นเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันสูง เส้นเลือดหัวใจตีบ ปัจจัยเสี่ยงเป็นการติดเชื้อในครอบครัว วันที่ 23 เมษายน เริ่มมีไข้ ไอ หายใจเหนื่อยหอบ วันที่ 25 เมษายน ตรวจพบว่าติดเชื้อโควิดและเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลชุมชม วันที่ 29 เมษายน เริ่มมีอาการแน่นหน้าอก เหนื่อยมากขึ้น จึงส่งตัวมารักษาที่ โรงพยาบาลนครพิงค์ วันที่ 1 พฤษภาคม มีอาการติดเชื้อแบคทีเรียซ้ำซ้อน ติดเชื้อในกระแสเลือด และไตวาย แพทย์ให้การรักษาแบบประคับประคอง จนกระทั่งวันที่ 1 มิถุนายน ผู้ป่วยมีอาการอวัยวะภายในล้มเหลวหลายส่วน เสียชีวิตในวันเดียวกัน
รายที่ 26 รหัส CM 4169 เป็นผู้ป่วยหญิงไทย อายุ 65 ปี ไม่มีโรคประจำตัว ปัจจัยเสี่ยง คือ การติดเชื้อภายในครอบครัว เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม ผู้ป่วยมีอาการไข้ ไอ ปวดกล้ามเนื้อ หายใจลำบาก วันที่ 29 พฤษภาคม มีอาการเหนื่อยมากขึ้น จึงเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลสันทราย และใส่ท่อช่วยหายใจ ส่งต่อมารักษาที่ โรงพยาบาลนครพิงค์ จึงตรวจพบว่าติดเชื้อโควิด วันที่ 30 พฤษภาคม ระบบหายใจล้มเหลว กระทั่งวันที่ 2 มิถุนายน ได้เสียชีวิตลงในวันเดียวกัน
จากข้อมูลจะเห็นว่าผู้เสียชีวิตเกือบทั้งหมดเป็นผู้สูงอายุ และผู้ป่วยโรคเรื้อรังทั้งหมด จึงเป็นเหตุผลที่ผู้สูงอายุและผู้ป่วยโรคเรื้อรังต้องได้รับการฉีดวัคซีนเป็นลำดับแรกๆ เพราะวัคซีนจะช่วยลดอาการป่วยหนัก และการเสียชีวิตลงได้
ส่วนการตรวจคัดกรองกลุ่มเสี่ยง และผู้สัมผัส เมื่อวานนี้ตรวจทั้งหมด 760 ราย พบผู้มีผลบวกเพียง 1 ราย คิดเป็นร้อยละ 0.13 ในภาพรวมตั้งแต่เดือนเมษายน 64 ตรวจไปทั้งหมดแล้วรวม หนึ่งแสนหนึ่งหมื่นกว่าคน พบผู้มีผลบวกร้อยละ 3.65 ทั้งนี้ผู้ติดเชื้อในระยะหลังมีปัจจัยการติดเชื้อหลักจากการสัมผัสในครอบครัว ซึ่งจะเห็นว่าแนวโน้มสูงมาก ส่วนสาเหตุอื่นๆ พบได้น้อยลง หรือไม่พบมาเป็นเวลาหลายวันแล้ว
อย่างไรก็ตาม แม้วันนี้สถานการณ์ในจังหวัดเชียงใหม่จะดีขึ้น แต่ต้องดูยอดผู้ติดเชื้อรายใหม่จะต่ำกว่า 5 รายติดต่อกันครบ 1 สัปดาห์หรือไม่ หากมีการร่วมมือร่วมใจกันปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรครายบุคคลได้ดี ทางคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดเชียงใหม่จะพิจารณาผ่อนคลายมาตรการต่างๆ ให้ได้เดินหน้ากันต่อไป ทั้งนี้ ยังมีเรื่องที่น่าเป็นห่วง คือ สถานการณ์ระดับประเทศยังคงพบผู้ติดเชื้อสูง โดยเฉพาะเขตกรุงเทพ และปริมณฑล จากผลการติดตามผู้ที่เดินทางเข้ามาในเชียงใหม่เฉพาะผู้ที่สแกนและกรอกข้อมูลใน CM Chana เมื่อวานนี้ (2 มิ.ย. 64) เฉพาะพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 4 จังหวัด มีผู้สแกน CM Chana สะสม 5,873 ราย ทีมโควิดหมู่บ้านและชุมชน ติดตามตัวได้ 5,740 ราย คิดเป็นร้อยละ 97.74 ถือว่าสูงมาก ซึ่งหากทำการติดตามตัวได้อย่างต่อเนื่อง จะมีความปลอดภัยสูง เพราะผู้ที่เดินทางเข้ามาจากพื้นที่เสี่ยงจะต้องกักตัวจนครบ 14 วัน แต่ปัญหายังอยู่ที่ผู้ที่เดินทางเข้ามาทางช่องทางบก ซึ่งไม่สามารถตั้งด่านตรวจได้ จึงต้องขอเน้นย้ำพี่น้องประชาชนที่เป็นเจ้าบ้าน และโรงแรมที่พักต่างๆ ขอให้ตรวจสอบผู้ที่เดินทางเข้ามาจากพื้นที่เสี่ยงให้สแกนและลงข้อมูลใน CM Chana ทุกคน เพราะหากพบว่ามีผู้เดินทางที่ไม่ลง CM Chana เพียงคนเดียว แล้วพบว่ามีการติดเชื้อ ก็จะสามารถแพร่กระจายโรคสู่ผู้ใกล้ชิดได้จำนวนมาก ส่งผลให้ไม่สามารถคลายล็อคการประกอบกิจกรรมต่างๆ ได้ตามปกติ
ด้านคลัสเตอร์ต่างๆ วันนี้ ไม่พบคลัสเตอร์ใหม่ และไม่มีคลัสเตอร์เดิมที่พบผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่ม โดยมีคลัสเตอร์ที่ยังต้องเฝ้าระวังต่อเนื่องอยู่ 9 คลัสเตอร์ คลัสเตอร์ที่ยังต้องเฝ้าระวังใกล้ชิด 2 คลัสเตอร์ส่วนคลัสเตอร์ที่ปลอดภัยแล้ววันนี้เพิ่มเป็น 10 คลัสเตอร์ และคลัสเตอร์ล่าสุดที่ปลอดภัย คือ บ้านไร่ หารแก้ว ไม่พบผู้ติดเชื้อเป็นเวลา 28 วันหลังพบผู้ติดเชื้อรายสุดท้าย
สำหรับการฉีดวัคซีนครั้งใหญ่ของจังหวัดเชียงใหม่ จะมีการ Kick Off ในวันที่ 7 มิถุนายน 2564 โดยวันนี้ จังหวัดเชียงใหม่มียอดการจองคิวฉีดวัคซีนแล้วถึง 195,747 ราย แล้ว โดยในช่วงแรกนี้มีจะการติดขัดเล็กน้อย เนื่องจากมีการปรับเปลี่ยนระบบการบริหารจัดการวัคซีน ทำให้วัคซีนในช่วงแรกจัดส่งมาไม่ทันกับยอดที่จองไว้ จึงต้องขออภัยผู้ที่จองคิวฉีดไว้ในทุกโรงพยาบาลในช่วงสัปดาห์แรก 7 - 11 มิถุนายนนี้ที่ต้องเลื่อนการฉีดวัคซีนออกไปก่อน โดยคิวที่จองไว้จะนำไปรวบรวมเพื่อการจัดลำดับอีกครั้ง เมื่อวัคซีนได้รับการจัดสรรมาแล้ว ทางโรงพยาบาลจะโทรนัดหมายให้เข้ามารับการฉีดวัคซีนทันที สำหรับท่านที่จองคิวผ่านแอพพลิเคชั่น หมอพร้อม ก็เช่นกัน คิวที่จองไว้ จะถูกนำมาจัดเป็นคิวแรกๆ ในการฉีด โดยไม่ต้องจองผ่านเว็บเบส “ก๋ำแปงเวียง” อีก รวมถึงผู้ที่จองผ่านองค์กร/หน่วยงาน ก็ไม่ต้องจองใหม่เช่นเดียวกัน ส่วนผู้ที่ยังไม่ได้ลงทะเบียน ลังเล หากต้องการจองฉีดวัคซีน สามารถเข้าไปลงทะเบียนได้ที่เว็บไซต์ “ก๋ำแปงเวียง” เพียงค้นหาผ่าน Google และเข้าไปจองได้ตลอดเวลา
ในส่วนของแรงงานต่างด้าวในแคมป์ต่างๆ ทางสำนักงานจัดหางานจังหวัดเชียงใหม่จะประสานไปที่นายจ้าง เจ้าของสถานประกอบการเพื่อให้ส่งรายชื่อแรงงานในแคมป์คนงาน ส่วนแรงงานต่างด้าวที่ทำงานอิสระ เช่น เป็นแม่บ้าน หรือค้าขาย ไม่มีนายจ้าง รวมทั้งชาวต่างชาติที่พำนักอยู่ในจังหวัดเชียงใหม่ วันนี้สามารถเริ่มเข้าไปจองได้ที่เว็บไซต์ “ก๋ำแปงเวียง” ได้แล้ว โดยใช้หมายเลข Passport ในการจอง หากพำนักอยู่อำเภอใด ก็ให้ระบุที่อยู่ในอำเภอนั้นๆ สำหรับผู้ที่มาทำงานในจังหวัดเชียงใหม่ แต่ไม่ได้ย้ายทะเบียนบ้านเข้ามา ก็สามารถจองฉีดได้ โดยขอให้ระบุที่อยู่ปัจจุบันที่อยู่ในจังหวัดเชียงใหม่ หากวัคซีนได้รับการจัดสรรมาแล้ว ทางโรงพยาบาลจะติดต่อให้เข้ามาฉีดตามจำนวนและคิวที่จองไว้ และหากท่านใดไม่สะดวก หรือมีปัญหาในการจองผ่าน “ก๋ำแปงเวียง” สามารถติดต่อที่โรงพยาบาล โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบล (รพ.ส.ต.) หรือเจ้าหน้าที่ อสม. ใกล้บ้าน ในการช่วยแก้ไขปัญหาให้กับทุกข้อขัดข้อง “ร่วมกันฉีดวัคซีน หยุดเชื้อ เพื่อเชียงใหม่”