กรมส่งเสริมการเกษตรเล็งเห็นโอกาสพืชสมุนไพรไทย เติบโตต่อเนื่องทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ ใช้ประโยชน์ได้หลากหลาย เดินเครื่องพัฒนาการผลิตต้นทาง พร้อมต่อยอดด้านการตลาด
นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า ตามนโยบายของ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งเล็งเห็นโอกาสทางการตลาดของพืชสมุนไพรที่สามารถนําไปใช้ประโยชน์ได้หลากหลาย ตลาดสมุนไพรมีความต้องการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และหากทิศทางของตลาดขยายตัวเพิ่มมากขึ้น จะช่วยให้เกษตรกรผู้ปลูกพืชสมุนไพร ซึ่งเป็นผู้ผลิตวัตถุดิบตั้งต้นของอุตสาหกรรมสมุนไพรได้รับประโยชน์ โดยสามารถผลิตและจําหน่ายผลผลิตสร้างรายได้อย่างมั่นคง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จึงมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการขับเคลื่อนให้เกิดความเชื่อมโยงในการพัฒนาตลอดห่วงโซ่ อุปทานตั้งแต่ต้นทาง กลางทาง และปลายทาง โดยใช้หลักการ “ตลาดนําการผลิต” ผลิตพืชที่มีศักยภาพที่ตลาดมีความต้องการ ซึ่งดําเนินการร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง
สำหรับความก้าวหน้าการดำเนินงาน กรมส่งเสริมการเกษตรในฐานะที่เป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินการพัฒนาพืชสมุนไพรในส่วนต้นน้ำ ภายใต้แผนแม่บทแห่งชาติว่าด้วยการพัฒนาสมุนไพรไทย ฉบับที่ 1 พ.ศ. 2560 - 2564 ยุทธศาสตร์ที่ 1 ส่งเสริมผลผลิตของสมุนไพรที่มีศักยภาพตามความต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งกรมส่งเสริมการเกษตรมีผลความก้าวหน้าการดำเนินการตามเป้าหมายการพัฒนาพืชสมุนไพรไทย จำนวน 4 ด้าน ดังนี้
เป้าหมายที่ 1 มีการปลูกสมุนไพรที่ได้คุณภาพตามมาตรฐานที่กำหนด จำนวน 43,000 ไร่ ขณะนี้มีการขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกพืชสมุนไพร เครื่องเทศ รวมถึงพืชสมุนไพรที่เป็นพืชอาหาร จำนวน 61 ชนิด เกษตรกร 420,300 ราย พื้นที่รวมประมาณ 1.3 ล้านไร่
เป้าหมายที่ 2 การส่งเสริมการแปรรูปหลังการเก็บเกี่ยว ณ สถานที่ปลูกและการผลิตผลิตภัณฑ์และสารสกัดอย่างง่ายในระดับชุมชน โดยปี 2561 - 2564 กรมส่งเสริมการเกษตรได้ส่งเสริมการแปรรูปหลังการเก็บเกี่ยว รวมทั้งสิ้น 37 กลุ่ม แบ่งเป็นวิสาหกิจชุมชน จำนวน 26 กลุ่ม และกลุ่มแปลงใหญ่ จำนวน 11 กลุ่ม เป็นการกำหนดแผนการพัฒนาด้านสมุนไพรตามศักยภาพ ความพร้อมและความสมัครใจของกลุ่มเกษตรกร อาทิ วิสาหกิจชุมชนแปรรูปสมุนไพร เน้นการส่งเสริมวิสาหกิจชุมชนแปรรูปสินค้าเกษตรโดยการถ่ายทอดความรู้ให้กับสมาชิกวิสาหกิจชุมชน ในการพัฒนาสินค้าเกษตรแปรรูป เช่น การพัฒนากระบวนการผลิต การควบคุมคุณภาพ การพัฒนาบรรจุภัณฑ์ และสนับสนุนการพัฒนาบรรจุภัณฑ์กับฉลากสินค้าที่เป็นผลิตภัณฑ์เด่นที่มีศักยภาพของวิสาหกิจชุมชน ภายใต้โครงการส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน เป็นต้น
เป้าหมายที่ 5 มีฐานข้อมูลพื้นที่ปลูกพืชสมุนไพร (Land Use) 1 ฐานข้อมูล กรมส่งเสริมการเกษตร ได้ดำเนินการจัดทำฐานข้อมูลพื้นที่ปลูกพืชสมุนไพรจากระบบทะเบียนเกษตรกร ในรูป DATA VIEW ส่งให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์แล้ว
และเป้าหมายที่ 7 มีระบบตลาดกลาง 4 แห่ง และตลาดอิเล็กทรอนิกส์ 1 แห่ง (e-Market) กรมส่งเสริมการเกษตรได้ดำเนินการจัดทำ MOU ตลาดกลางวัตถุดิบสมุนไพรไทย ร่วมกับกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก บริษัทไทยแอ็กโกร เอ็กซเชนจ์ จำกัด (ตลาดไท) และบริษัทมอร์ เมดดิคัล จำกัด เพื่อร่วมมือกันในการส่งเสริมเกษตรกรให้ผลิตและจำหน่ายวัตถุดิบสมุนไพรที่มีคุณภาพ เพิ่มช่องทางในการเข้าถึงวัตถุดิบสมุนไพรที่ได้มาตรฐานสากล รวมทั้งได้แจ้งให้สำนักงานเกษตรจังหวัดทุกจังหวัดดำเนินการประชาสัมพันธ์ช่องทางการจำหน่ายผลผลิตสมุนไพรสดและเครื่องเทศสดปลอดภัย ภายใต้ โครงการตลาดไท ซีเล็ค ให้กับเกษตรกรที่สนใจสมัครเข้าร่วมโครงการอีกด้วย
อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวอีกว่า ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) กรมส่งเสริมการเกษตรได้ดำเนินการจัดหาและผลิตแม่พันธุ์พืชสมุนไพรเพื่อสนับสนุนแผนแม่บทแห่งชาติว่าด้วยการพัฒนาสมุนไพรไทยที่มุ่งเน้นพืชสมุนไพร Product Champion จำนวน 12 ชนิด ได้แก่ กวาวเครือขาว กระชายดำ ขมิ้นชัน บัวบก มะขามป้อม กระชาย พริก ฟ้าทะลายโจร กระเจี๊ยบแดง หญ้าหวาน ว่านห่างจระเข้ และไพล รวมทั้งยังได้ดำเนินการผลิตและขยายพันธุ์พืชสมุนไพรอื่น ๆ ที่มีศักยภาพเชิงการค้า จำนวน 4 ชนิด คือ ดีปลี อัญชัน แก่นตะวัน และพริกไทย รวมทั้งสิ้น 16 ชนิด รวมทั้งสิ้น 34,500 ต้น ซึ่งเป็นการบูรณาการร่วมกับหน่วยพัฒนาและปรับปรุงพันธุ์จากกรมวิชาการเกษตร และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
ทั้งนี้ ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 กรมส่งเสริมการเกษตรได้ตั้งเป้าหมายในการผลิต พืชสมุนไพร รวมทั้งสิ้นจำนวน 50,000 ต้น โดยมอบหมายให้สำนักส่งเสริมและจัดการสินค้าเกษตร รับผิดชอบโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตพืช (สมุนไพร) ซึ่งที่ผ่านมามีกลุ่มเกษตรแบบแปลงใหญ่ที่ประสบความสำเร็จสามารถ MOU กับโรงพยาบาลส่งวัตถุดิบสมุนไพรทั้งสดและแห้ง จำนวน 6 กลุ่ม รวมทั้งยังสามารถส่งออกไปยังตลาดต่างประเทศได้อีก จำนวน 2 กลุ่ม ทำให้เห็นได้ชัดว่า ตลาดสมุนไพรมีการขยายตัวเพิ่มอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะทำให้เกษตรกรผู้ปลูกพืชสมุนไพรมีรายได้หมุนเวียนและเกิดความมั่นคงในการดํารงชีวิตต่อไป
++++++++++++++++++++