กว่า 7 ปีที่ผ่านมา กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม ได้เร่งดำเนินการส่งเสริมสนับสนุนและพัฒนาอุตสาหกรรม วิสาหกิจทุกระดับ ผู้ประกอบการ และสตาร์ทอัพไทย โดยเฉพาะการเร่งสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจผ่านการส่งเสริมวิสาหกิจใหม่ หรือสตาร์ทอัพ มุ่งเน้นการส่งเสริมให้สตาร์ทอัพไทยเติบโตแข็งแรงดีให้มีเครือข่ายเชื่อมโยงตลาด และให้มีโอกาสเข้าถึงแหล่งเงินทุนคุณภาพ อันเป็นการติดปีกให้สตาร์ทอัพไทยให้แข็งแรงและเติบโตอย่างก้าวกระโดดเพราะธุรกิจสตาร์ทอัพเป็นอีกหนึ่งภาคส่วนธุรกิจที่มีความสำคัญ เนื่องจากมีโอกาสที่จะกลายเป็นฟันเฟืองหลักทางเศรษฐกิจตัวใหม่เพื่อสร้างอุตสาหกรรมใหม่ให้กับประเทศสำหรับเศรษฐกิจในยุคถัดไป หรือ Next Normal นายณัฐพล รังสิตพล อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ดีพร้อมได้เดินหน้าสนับสนุนผู้ประกอบการธุรกิจไทย หรือ สตาร์ทอัพ ที่ปัจจุบันมีจำนวนกว่า 2,000 ราย ให้มีทักษะทางธุรกิจเพื่อการต่อยอดในเชิงพาณิชย์มากขึ้น ซึ่งปัจจุบันพบว่าอุปสรรคของการเติบโตของสตาร์ทอัพ คือปัญหาด้านต้นทุนของธุรกิจ ทั้งต้นทุนในเชิงทักษะทางธุรกิจ และต้นทุนในเชิงจำนวนเงิน ทั้งนี้เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว ดีพร้อมจึงได้ดำเนินกิจกรรมบ่มเพาะสตาร์ทอัพอย่างเข้มข้นมาตั้งแต่ปี 2559 จนถึงปี 2564 ผ่านโครงการ Delta Angel Fund ได้รับเงินทุนสนับสนุนจาก บริษัท เดลต้า อิเล็กทรอนิกส์ จำกัด ในการส่งเสริมสตาร์ทอัพในระยะเริ่มต้น (Early Stage) จนมีเครือข่ายสตาร์ทอัพที่เข้าร่วมโครงการมากกว่า 500 ราย ซึ่งในจำนวนนี้จะมีสตาร์ทอัพที่มีศักยภาพและคุณภาพที่ได้รับเงินทุนเริ่มต้นแบบให้เปล่าแล้วกว่า 100 ราย อีกทั้งยังได้มีโอกาสในการเข้าร่วมกิจกรรมส่งเสริมธุรกิจแบบครบวงจร สำหรับแนวทางการส่งเสริมและพัฒนาให้สตาร์ทอัพไทยแข็งแรงและเติบโตอย่างก้าวกระโดดนั้นดีพร้อมได้ดำเนินการส่งเสริมและสร้างสมรรถภาพผู้ประกอบการภายใต้แนวคิดการสร้างการเติบโตแบบก้าวกระโดด หรือ สปริง (SPRING) ที่มุ่งเน้นการสร้างมาตรฐาน (Standard) การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต (Productivity) การศึกษาค้นคว้าวิจัย (Research) การสร้างนวัตกรรม (Innovation) การสร้างและขยายเครือข่าย (Network) ให้สตาร์ทอัพได้ก้าวเดินได้อย่างแข็งแรงจนก้าวเข้าสู่ระยะเติบโต (Growth Stage) และ “ดีพร้อม” ยังได้มุ่งเน้นในการขยายผลและยกระดับกิจกรรมบ่มเพาะสตาร์ทอัพในระยะเติบโตนี้ให้เหมาะสมและแข็งแรง โดยในปี 2564 มีสตาร์ทอัพที่มีศักยภาพเข้าร่วมโครงการและกำลังบ่มเพาะอยู่ในปัจจุบัน จำนวน 75 ราย ซึ่งแบ่งเป็นกลุ่มระยะเริ่มต้นจำนวน 50 ราย และกลุ่มระยะเติบโตจำนวน 25 ราย โดยกลยุทธ์ในการส่งเสริมพัฒนาผู้ประกอบการสตาร์ทอัพไทย ดีพร้อม ได้ใช้กลไกการเชื่อมโยงธุรกิจเพื่อส่งเสริมเงินทุนและการตลาดในการสนับสนุนให้สตาร์ทอัพประสบความสำเร็จ ซึ่งประกอบด้วย 4 แนวทาง ได้แก่ การขยายเครือข่ายสตาร์ทอัพเพื่อเฟ้นหาสตาร์ทอัพที่มีศักยภาพมาบ่มเพาะให้มีความพร้อมในการนำเสนอโมเดลธุรกิจกับนักลงทุน การขยายเครือข่ายเงินทุน โดยการสร้างเครือข่ายกับบริษัทเอกชนที่มีศักยภาพ และสนใจร่วมลงทุนกับผู้ประกอบการสตาร์ทอัพที่ได้รับการบ่มเพาะ สร้างความมั่นใจในการร่วมดำเนินธุรกิจ การขยายเครือข่ายตลาด โดยส่งเสริมให้หน่วยงานภายใต้กระทรวงอุตสาหกรรม หรือเครือข่ายนำโซลูชั่นของสตาร์ทอัพไปใช้งานจริง เพื่อสนับสนุนสตาร์ทอัพและนวัตกรรมของไทยและการขยายเครือข่ายนานาชาติ เพื่อต่อยอดไปยังตลาดที่มีมูลค่าสูงขึ้น รองรับความต้องการจากต่างประเทศ โดยคาดว่าจะเกิดความร่วมมือทางธุรกิจผ่านการสนับสนุนเงินทุนกว่า 500 ล้านบาท ทั้งนี้ ดีพร้อม มีนโยบายที่พร้อมสนับสนุนผู้ประกอบการในทุกระยะของการดำเนินธุรกิจตั้งแต่ผู้ประกอบการที่มี่แนวคิดสร้างสรรค์นวัตกรรมแต่ยังขาดองค์ความรู้ หรือผู้ประกอบการที่มีความพร้อมต้องการความช่วยเหลือในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนคุณภาพ ซึ่งเป็นนโยบายพิเศษเพื่ออัดฉีดเงินเข้าสู่ภาพอุตสาหกรรมไปสู่ผู้ประกอบการที่มีศักยภาพและความพร้อมเพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไทยโดยตั้งเป้าว่าหลังจากพัฒนากลุ่มสตาร์ทอัพเพิ่มเติมได้จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศให้เพิ่มได้อีกเท่าตัว และมีความมั่นคงในเชิงของการพัฒนาผู้ประกอบการให้มีศักยภาพสูงขึ้นอีกด้วย สำหรับผู้ประกอบการระยะเติบโต (Growth stage) ประเภทวิสาหกิจเริ่มต้นที่จดทะเบียนพาณิชย์ ตามกฎหมายไทย มีผลิตภัณฑ์หรือบริการ หรือนวัตกรรมในรูปแบบธุรกิจ ที่พร้อมจะเติบโตอย่างก้าวกระโดดได้ (Exponential growth) รวมถึงสตาร์ทอัพในกลุ่มอุตสาหกรรมหรือธุรกิจใหม่ที่ตอบโจทย์เทรนด์ของโลกและมีกลุ่มลูกค้าที่ชัดเจน มีโอกาสในการเติบโตในเศรษฐกิจยุคถัดไป หรือ Next Normal ซึ่งธุรกิจสตาร์ทอัพจะเป็นแรงบันดาลใจให้คนรุ่นใหม่กล้าฝันที่อยากจะเป็นเถ้าแก่จากการเริ่มต้นทำธุรกิจให้เติบโตก้าวไปสู่ระดับโลก ดังเช่นบริษัทที่มีชื่อเสียงต่างๆไม่ว่าจะเป็น Apple Amazon Facebook หรือ Tesla เป็นต้น “ดีพร้อม ยังได้สร้างระบบนิเวศ (Ecosystem) เพื่อเป็นสะพานเชื่อมให้สตาร์ทอัพที่ได้รับการบ่มเพาะจนมีศักยภาพได้เจอกับนักลงทุน (Venture Capital) ที่สนใจร่วมลงทุนกับสิ่งประดิษฐ์หรือเทคโนโลยีของสตาร์อัพที่สามารถตอบโจทย์ธุรกิจและความต้องการของตลาด เพื่อสร้างให้เกิดมูลค่าเพิ่มและต่อยอดกลายเป็นธุรกิจใหม่ได้จริงโดยในปี 2563 มีสตาร์ทอัพที่ผ่านการบ่มเพาะจาก “ดีพร้อม” จำนวน 6 ราย ได้นำเสนอ โมเดลธุรกิจ และมีนักลงทุนได้ร่วมลงทุนกับสตาร์ทอัพไปแล้วรวมมูลค่ากว่า 350 ล้านบาท และสำหรับในปี 2564 มีจำนวนสตาร์ทอัพที่ได้รับการส่งเสริมทักษะและการพัฒนาโมเดลธุรกิจจำนวน 25 ราย” โดยไม่เพียงเท่านี้ “ดีพร้อม” ยังได้ให้การสนับสนุนกิจกรรมเจรจาจับคู่ธุรกิจ (Business Matching) ระหว่างสตาร์ทอัพและหน่วยงานเครือข่ายภาคเอกชน ไม่ว่าจะเป็นสภาอุตสาหกรรม สมาพันธ์เอสเอ็มอี สถาบันเครือข่าย สมาคมธุรกิจภาคเอกชน รวมไปถึงเครือข่ายผู้ประกอบการที่เป็นสมาชิกของ “ดีพร้อม” กว่า 200,000 ราย ในการร่วมสนับสนุนธุรกิจสตาร์ทอัพ อีกทั้งยังเปิดโอกาสให้ธุรกิจภาคเอกชนที่ต้องการส่งเสริม และลงทุนในสตาร์ทอัพ เข้ามาร่วมในเครือข่ายนักลงทุนกับ “ดีพร้อม” อีกด้วย ซึ่งปัจจุบัน นอกจากบริษัท เดลต้า อิเล็กทรอนิกส์ จำกัด บริษัท สามารถคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และบริษัท อีซีจี-รีเซิร์ช จำกัด ที่มาร่วมมือกับ “ดีพร้อม” แล้ว ยังมีบริษัทยักษ์ใหญ่อีกหลายรายที่ให้ความสนใจ รวมทั้งสถาบันการศึกษาและสถาบันวิจัยฯ ที่พร้อมมาร่วมเป็นเครือข่ายในการส่งเสริมสตาร์ทอัพกับ “ดีพร้อม “จุดเด่นที่สำคัญของผู้ประกอบการไทยคือ ศักยภาพในด้านความคิดสร้างสรรค์ หากทุกท่านได้รับการบ่มเพาะเชื่อว่าจะสามารถต่อยอดและช่วยเสริมศักยภาพให้กับภาคเศรษฐกิจได้อย่างดีพร้อมโดย “ดีพร้อม” พร้อมจะสานต่อความฝันของท่านให้สามารถก้าวสู่สมรภูมิทางธุรกิจในระดับนานาชาติได้อย่างเต็มภาคภูมิ เพราะเราเชื่อว่าทุกๆการเกิดขึ้นใหม่ของธุรกิจคือ โอกาสสำคัญของการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ”