นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ อดีต ส.ส.พัทลุง พรรคประชาธิปัตย์ โพสต์ข้อความผ่านในเฟซบุ๊ก ระบุว่า... คดีลุงพล ท้าทายกระบวนการยุติธรรม? ว่าจะไม่เขียนเรื่องนี้แล้ว แต่อดไม่ได้ เมื่อเช้าเลยถามภรรยาอย่างจริงจังเพื่อเป็นข้อมูลก่อนเขียน ว่า ลุงพลคนนี้แกเป็นใคร ทำไมคนสนใจกันมาก แกเป็นดารา หรือเป็นนักร้อง ? ภรรยาเลยเล่าให้ฟังว่า แกก็เป็นคนธรรมดานี่แหละ แต่สื่อบางสำนักก็จับเอาแกมาทำข่าวจนแกโด่งดัง ฟังแล้วก็ตกใจว่า ทำไมสังคม และ สื่อ ไปไกลถึงขนาดนี้ ก็เลยนึกถึงคำๆหนึ่งขึ้นมาได้ ว่า "ถ้าจะรู้ว่าสังคมนั้นๆเป็นอย่างไร ก็ให้ดูว่าคนในสังคมเขาคุยกันเรื่องอะไร" เอาเถอะ ไหนๆก็จะเขียนเรื่องนี้แล้ว ก็จะเขียนอีกเวอร์ชั่นหนึ่ง ให้อ่านกัน 1.ผมไม่ติดตามคดีนี้ตั้งแต่ต้นเพราะสงสารเด็กและครอบครัวเด็กที่เสียชีวิต แต่คิดว่าขอให้ตำรวจจับคนร้ายให้ได้เถอะ เมื่อผบ.ตร.ท่านนี้ขึ้นมารับตำแหน่งใหม่ๆ ก็ได้ยินท่านพูดถึงเรื่องนี้ ก็ดีใจว่าท่านสนใจคดีนี้ 2.ไปอ่านดูหมายจับ ตำรวจไม่ได้ขอหมายจับในข้อหา ฆ่าผู้อื่น แต่เป็นข้อหา พรากผู้เยาว์,ทอดทิ้งเด็กจนเป็นเหตุให้เด็กนั้นถึงแก่ความตาย และ ข้อหากระทำการใดแก่ศพจนเป็นเหตุให้ผลทางคดีเปลี่ยนแปลงไป จากข้อหาดังกล่าว พนักงานสอบสวน จึงสรุปว่า เป็นการทอดทิ้งเด็กจนเด็กถึงแก่ความตาย แต่หากดูย้อนหลัง แนวการสอบสวนเป็นไปในทาง"ฆ่าผู้อื่น" เช่น ข่าวที่ออกมาว่า เด็กเสียชีวิตเพราะขาดอากาศหายใจ หากเด็กเสียชีวิตเพราะขาดอากาศหายใจ ระวังนะครับ ความผิดมันน่าจะไปทาง"ฆ่า" มิใช่"ทอดทิ้ง" เพราะหากฟ้องว่าทอดทิ้ง แต่ข้อเท็จจริงปรากฎว่าเป็นการฆ่า ศาลจะลงโทษได้หรือเปล่า นั่นก็เป็นข้อกฎหมายอีกเรื่องหนึ่ง ข้อเท็จจริงเรื่องสาเหตุการตาย และตายตอนไหน จึงเป็นเหตุสำคัญ การสอบสวนเพื่อเอาผิดใครก็ตาม จึงต้องใช้พนักงานสอบสวนที่มีฝีมือระดับพระกาฬ มาสอบสวน ใครที่ทำให้เด็กเสียชีวิต ไม่ว่า จะเป็นการ"ฆ่า" หรือ"ทอดทิ้งจนเด็กถึงแก่ความตาย"ต้องใช้ฝีมือในการสอบสวน ซึ่งหากดูหมายจับ พนักงานสอบสวนก็ฟันธงแล้วว่าเป็นการ"ทอดทิ้ง" มิใช่ "การฆ่า" เรื่องนี้พนักงานสอบสวนคงต้องขอความร่วมมือจากพนักงานอัยการอย่างใกล้ชิดพอสมควรเหมือนกัน ทั้งนี้ ไม่ใช่อะไรหรอก เพียงเพื่อเอาตัวผู้กระทำผิด (ซึ่งเป็นใครเราไม่รู้) มาลงโทษให้ได้ คดีนี้ ท้าทายกระบวนการยุติธรรมของเมืองไทยพอสมควรนะครับ.