"บิ๊กตู่"ท้า"'ทักษิณ"กลับประเทศแก้ปัญหาเศรษฐกิจ "สภาฯ"เริ่มถกงบวันที่ 3 "วิสาร"ท้า"นายกฯ"ยุบสภา ชี้อยู่นานประเทศเสียหาย "จุรินทร์"ยันมติ ปชป.เห็นชอบ พรบ.งบฯ วาระ 1 โยนต้องถาม"พปชร."เรื่องเสถียรภาพรัฐบาล "องอาจ"ยัน"ส.ส.ปชป."ถล่มงบ 65 ไม่มีวาระซ่อนเร้นหรือผลประโยชน์แอบแฝง แต่ทำเพื่อส่วนรวม ขอนายกฯแยกแยะ เข้าใจหน้าที่ ส.ส.มาจาการเลือกตั้งด้วย ขณะที่"วัชระ"จ่อยื่นหนังสือนายกฯ เอาผิด "สมศักดิ์"จัดงานเลี้ยงสงกรานต์ ฝ่าฝืน กม.คุมโควิด ขณะที่ "ดีอีเอส"เผยศาลสั่งลบ 8 บัญชีโซเชียลหมิ่นสถาบัน
ที่รัฐสภา เมื่อวันที่ 2 มิ.ย.64 ที่รัฐสภา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เดินทางเข้ามาประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2565 วันสุดท้าย โดยได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนถึงกรณีที่ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี พูดในคลับเฮาท์ช่วงหนึ่งว่า สามารถแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจไทยได้ภายใน 6 เดือน ว่า ก็ให้เขา "ก็ให้เขากลับมาทำดิ กลับมาทำดิ"
พล.อ.ประยุทธ์ ยังให้ให้สัมภาษณ์ ถึงกรณีที่ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ ออกมาระบุว่า พล.อ.ประยุทธ์ พาดพิงโครงการจำนำข้าว เพื่อเบี่ยงประเด็นการบริหารงบประมาณที่ผิดพลาด ว่า "ผมไม่พูด ผมไม่อยากพูด"
เมื่อถามว่า ดูเหมือน นางสาวยิ่งลักษณ์ และนายทักษิณ ออกมาวิพากษ์วิจารณ์นายกฯถี่มากขึ้น พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า "ห้ามเขาได้ไหมล่ะ" เมื่อถามย้ำว่า หากห้ามไม่ได้ต้องชี้แจงใช่หรือไม่นั้น พล.อ.ประยุทธ์ ระบุว่า "ชี้แจงอย่างไร ซึ่งผมได้ชี้แจงไปแล้ว ผมไม่อยากไปทำร้ายใครอยู่แล้ว เพียงแต่การปล่อยให้คนในประเทศมาทำร้ายผม มันไม่ถูกต้อง"
ต่อมา ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2565 วงเงิน 3.1 ล้านล้านบาท วาระแรก วันที่ 3 ซึ่งเป็นวันนัดอภิปรายวันสุดท้ายก่อนการลงมติว่าจะรับหรือไม่รับหลักการ โดยมี นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผผู้แทนราษฎร ทำหน้าที่ประธานที่ประชุม
ทั้งนี้ ก่อนเข้าวาระพิจารณา นายชวน แจ้งกับที่ประชุมว่า สภาผู้แทนราษฎรใช้เวลาอภิปรายงบประมาณในวันสอง ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาล 8 ชั่วโมง 26 นาทีคงเหลือเวลา 8 ชั่วโมง 49 นาที พรรคร่วมฝ่ายค้าน ใช้เวลา รวม 15 ชั่วโมง 11 นาที เหลือเวลา 6 ชั่วโมง 49 นาทีขณะที่การใช้เวลาของประธานที่ประชุม รวม 50 นาที
จากนั้น นายวิสาร เตชะธีราวัฒน์ ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย อภิปรายว่า ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายฉบับนี้ขาดความจริงใจ ประชาชนระแวงจะติดโควิดหรือไม่ ไม่รู้จะได้วัคซีนเมื่อไร แต่รัฐบาลให้ความสำคัญกับเรื่องอาวุธมากกว่า เอสเอ็มอีตายสนิท เพราะรัฐบาลไม่ให้ความสำคัญเหมือนงบกระทรวงกลาโหม อย่างไรก็ตาม แม้เงินจะมากหรือน้อย แต่ไม่สำคัญเท่าภาวะความเป็นผู้นำ เพราะสงกรานต์ปีนี้ตกลงกันไว้แล้วจะล็อกดาวน์ แต่พอเรื่องเข้าสู่ ศบค.ชุดใหญ่ มีนักธุรกิจไปให้ข้อมูลเยอะ ถ้าล็อกดาวน์จะทำให้เศรษฐกิจเสียหายมหาศาล แต่นายกฯ หูเบาเชื่อ จนมีผู้ติดเชื้อเป็นแสนคนตามมา การตัดสินใจของผู้นำที่ผิดทำให้เกิดความเสียหายร้ายแรง ใครจะรับผิดชอบ ทุกอย่างที่ล้มเหลวเพราะผู้นำเอาแต่ใจตัวเอง
"ขณะนี้นายกฯ ไม่แคร์อะไร บริหารไม่มีฝ่ายการเมือง ใช้ทหารบริหาร สิ่งที่ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ขู่ถ้า พ.ร.ก.กู้เงิน 5 แสนล้าน ไม่ผ่าน ต้องยุบสภา ฝ่ายค้านไม่กลัว ขอท้านายกฯ ยุบสภา เพราะยิ่งอยู่นาน ประเทศยิ่งเสียหาย ไม่มีโอกาสเห็นเดือนเห็นตะวันถ้าปล่อยให้ผู้นำที่ไม่รับผิดชอบ เอาแต่ใจตัวเอง ขู่จะยุบสภา ให้ยุบเลย ถ้าไม่เปลี่ยนแปลงเอา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ออก บ้านเมืองตายทั้งประเทศ" นายวิสาร กล่าว
วันเดียวกัน นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงการลงมติร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2565 ของพรรคประชาธิปัตย์ ว่า ที่ประชุมส.ส. พรรคประชาธิปัตย์ มีมติให้ความเห็นชอบกับพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายปี 2565 ในวาระ 1 และมีมติตั้งคณะกรรมาธิการในวาระที่ 2 ทั้งนี้ในส่วนการอภิปรายการแสดงความคิดเห็นเป็นเรื่องปกติที่ทุกคนมีสิทธิที่จะแสดงความเห็นต่างได้ แต่ในเรื่องของการโหวต เมื่อพรรคมีมติพรรคออกมาแล้ว จะต้องเป็นไปตามมติพรรค
เมื่อถามถึงกรณีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ออกมาถามผ่านสื่อโซเชียล ว่าพรรคประชาธิปัตย์และพรรคภูมิใจไทยร่วมรัฐบาลพอแล้วหรือยัง นายจุรินทร์ กล่าวว่า ตนมองว่าเป็นประเด็นที่ทราบกันดีว่าใครเป็นผู้ขัดแย้งกับใคร ซึ่งเป็นความเห็นของคู่ขัดแย้งที่คนหนึ่งเสนอกฎหมายนิรโทษกรรม และถูกยึดอำนาจ และอีกคนคือผู้ยึดอำนาจ ซึ่งเป็นเรื่องปกติธรรมดา โดยเฉพาะเป็นฝ่ายค้านด้วยจะต้องแสดงความเห็นในทิศทางที่อาจจะไม่สอดคล้องกับรัฐบาล เมื่อถามย้ำว่าพรรคประชาธิปัตย์จะอยู่ร่วมรัฐบาลอีกนานหรือไม่ นายจุรินทร์ กล่าวว่า ความจริงตนได้ตอบไปหลายครั้งแล้ว และไม่อยากตอบรายวัน เพราะยังไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง
"พรรคประชาธิปัตย์ เราเป็นแค่หนึ่งในพรรคร่วมรัฐบาล ซึ่งเกินอำนาจหน้าที่ ที่จะบริหารจัดการพรรคร่วม ซึ่งพรรคที่เป็นแกนนำจะต้องบริหารจัดการในการสร้างเสถียรภาพให้เกิดขึ้นในรัฐบาลนี้ ซึ่งเป็นกลไกของระบบรัฐสภา ทั้งนี้ย้ำว่าเสถียรภาพรัฐบาลเป็นอย่างไรนั้นต้องถามว่าพรรคแกนนำ และยืนยันว่าเมื่อเรามีหน้าที่อะไรต้องทำหน้าที่ของตนให้สมบูรณ์ที่สุด ส่วนอนาคตจะเป็นอย่างไรก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งขึ้นอยู่กับประชาชน"
เมื่อถามว่าล่าสุดในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เหมือนนายกรัฐมนตรี จะไม่พอใจหัวหน้าพรรคร่วมรัฐบาล ที่ปล่อยให้ลูกพรรคออกมาอภิปรายถล่มงบประมาณปี 65 นายจุรินทร์ กล่าวว่า ต้องถามนายกฯ ว่าพอใจหรือไม่ ตนตอบแทนไม่ได้ เมื่อถามย้ำว่า ส่วนที่กำชับให้ดูแลลูกพรรคนั้น นายจุรินท์ กล่าวว่า "นายกฯ ไม่ได้กำชับตน"
ด้าน นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรคและประธาน ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ปรารภในที่ประชุม ครม. ถึง ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาลอภิปรายวิพากษ์วิจารณ์การจัดทำงบประมาณโดยระบุว่า "ขอให้ช่วยๆ กัน ตรงไหนเกี่ยวข้อง ก็ให้ช่วยเร่งตอบ ปากก็ว่าโอเค แต่ปล่อยให้ลูกพรรคซัดโครมๆ" ว่า ในส่วนของ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ขอยืนยันว่าเราทำหน้าที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอภิปรายวิพากษ์วิจารณ์บนพื้นฐานการทำหน้าที่เพื่อส่วนรวม ไม่ได้ทำเพื่อประโยชน์ของใครคนใดคนหนึ่ง
นายองอาจกล่าวว่า การเป็น ส.ส.ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน เราจึงคำนึงถึงประโยชน์ของราษฎร และเอาส่วนรวมเป็นตัวตั้ง ขณะเดียวกันในฐานะที่เป็น ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาล เราอภิปรายบนพื้นฐานของ ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาล นอกจากจะวิพากษ์วิจารณ์ข้อด้อยของการจัดทำงบประมาณแล้ว ยังมีข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์ ถ้ารัฐบาล ผู้บริหารกระทรวง หน่วยงาน องค์กรต่างๆ ที่ใช้งบประมาณ นำข้อเสนอแนะไปปรับปรุงแก้ไขก็จะช่วยทำให้เกิดการใช้จ่ายงบประมาณเพื่อประโยชน์ของราษฎรและส่วนรวมอย่างแท้จริง
"ขอยืนยันว่าการอภิปรายวิพากษ์วิจารณ์การจัดทำงบประมาณของ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ไม่มีวาระซ่อนเร้นทางการเมือง ไม่มีผลประโยชน์แอบแฝง หรืออภิปรายเพื่อต่อรองทางการเมืองแต่อย่างใด แต่เป็นการอภิปรายอย่างตรงไปตรงมา ว่าไปตามเนื้อผ้า เพื่อให้ได้งบประมาณที่เหมาะสมต่อการพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้ามากยิ่งขึ้นต่อไป หวังว่านายกฯจะพิจารณาการทำหน้าที่ของพรรคการเมือง ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาลแบบแยกแยะ และเรียนรู้ ทำความเข้าใจถึงบทบาทหน้าที่ของ ส.ส.ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนให้มากยิ่งขึ้น เพื่อให้การทำงานร่วมกันของพรรคร่วมรัฐบาลทั้งใน ครม.ในสภาเป็นไปอย่างราบรื่น เพื่อให้รัฐบาลเดินหน้าแก้ปัญหาประชาชนได้ตามเจตนารมณ์ที่ตั้งเป้าหมายไว้" นายองอาจ กล่าว
ด้าน นายวัชระ เพชรทอง อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ แถลงว่า ตนทำจดหมายถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเพื่อขอให้ดำเนินคดีตามกฎหมายและพิจารณาการดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีของ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรม ที่ประพฤติฝ่าฝืนกฎหมายในสถานการณ์ฉุกเฉินมีเนื้อหาว่าเมื่อวันที่ 12 เม.ย.เวลา 19.00 น.นายสมศักดิ์ และคณะเดินทางไปร้านคาเฟ่ จ.สุโขทัย เพื่อร่วมกิจกรรมชุมนุม มีการจัดรดน้ำตามประเพณีสงกรานต์ งานเลี้ยงสังสรรค์ มีการร้องเพลงคาราโอเกาะ ดื่มไวน์ต่างประเทศ โดยไม่สวมใส่หน้ากากอนามัย มีผู้ร่วมงานประมาณ 21 คน ถือเป็นการกระทำผิดกฎหมายหลายฉบับ และฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่ห้ามมั่วสุมตั้งแต่ 10คนขึ้นไป และ พ.ร.บ.โรคติดต่อ ฝ่าฝืนประกาศหรือคสั่งของนายกฯ และ จ.สุโขทัย ซึ่งผลจกาการจัดงานครั้งนี้ ทำให้มีผู้เสียชีวิตด้วยโรคโควิด-19 ไปแล้ว รวม 3 คน
นายวัชระ กล่าวว่า การกระทำของนายสมศักดิ์ เข้าข่ายผิดมาตรฐานตามจริยธรรม ของตุลาศาลรัฐธรรมนูญ และผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ รวมทั้งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน และหัวหน้าหน่วนงานธุรการของศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ พ.ศ.2561 ข้อ 7, 11, 17, 21 และ 23จึงส่งหนังสือมาถึงนายกฯ เพื่อพิจารณาดำเนินการตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่อไป และในวันนี้ตนจะเดินทางไปยื่นหนังสือถึงนายกฯ และเดินทางไปยังหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
ขณะที่ นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ได้เชิญผู้ให้บริการมารับทราบคำสั่งศาลที่มีคำสั่งระงับการทำให้แพร่หลายหรือลบข้อมูลคอมพิวเตอร์ในบัญชีผู้ใช้บริการในเว็บไซต์ เฟซบุ๊ก และรหัสประจำตัวผู้ใช้บริการเฟซบุ๊ก (Facebook ID) และข้อมูลหมายเลขประจำเครื่องคอมพิวเตอร์ (IP ADDRESS) ที่มีผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต (ISP) เชื่อมโยงบัญชีผู้ใช้บริการเฟซบุ๊ก จำนวน 8 บัญชี ออกจากระบบคอมพิวเตอร์ ได้แก่ 1. Pavin Chachavalpongpun 2. Andrew MacGregor Marshall 3. รอยัลลิสต์มาร์เก็ตเพลส-ตลาดหลวง 4. Suda Rangkupan 5. ป้าหนิง DK 6. Aum Neko 7. KTUK - คนไทยยูเค และ8. Pixel HELPER
ทั้งกระทรวงฯ ยังได้ทำความเข้าใจกับผู้ให้บริการเกี่ยวกับประกาศกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เรื่อง หลักเกณฑ์ ระยะเวลา และวิธีการปฏิบัติสำหรับการระงับการทำให้แพร่หลายหรือลบข้อมูลคอมพิวเตอร์ของพนักงานเจ้าหน้าที่หรือผู้ให้บริการ พ.ศ. 2560 และประกาศกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เรื่อง ขั้นตอนการแจ้งเตือน การระงับการทำให้แพร่หลายของข้อมูล คอมพิวเตอร์และการนำข้อมูลคอมพิวเตอร์ออกจากระบบคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2560 ซึ่งกำหนดให้ผู้ให้บริการต้องระงับการแพร่หลายข้อมูลคอมพิวเตอร์ซึ่งเป็นความผิดตามมาตรา 14 (2) (3) แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2560 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ตามคำสั่งศาลโดยรวดเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ หากมีเหตุล่าช้าก็ต้องดำเนินการภายใน 24 ชั่วโมง
พร้อมกันนี้ ได้เน้นย้ำว่าในการโพสต์ข้อมูลต่างๆ บนอินเทอร์เน็ตจะต้องกระทำด้วยความระมัดระวังและไม่กระทำผิดกฎหมาย เนื่องจากปัจจุบันกระทรวงฯ ให้ความสำคัญและดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดอย่างเคร่งครัด โดยได้รับความร่วมมือจากผู้ให้บริการในการระงับการทำให้แพร่หลายหรือลบข้อมูลคอมพิวเตอร์ และปฏิบัติตามกฎหมายด้วยดี
"หากไม่ปฏิบัติตามจะเข้าข่ายการกระทำความผิด ตามมาตรา 15 ผู้ให้บริการผู้ใดให้ความร่วมมือ ยินยอม หรือรู้เห็นเป็นใจให้มีการกระทำความผิด ตามมาตรา 14 ในระบบคอมพิวเตอร์ที่อยู่ในความควบคุมของตน ต้องระวางโทษเช่นเดียวกับผู้กระทำความผิด ตามมาตรา 14 ให้รัฐมนตรีออกประกาศกำหนดขั้นตอนการแจ้งเตือน การระงับการทำให้แพร่หลายของข้อมูลคอมพิวเตอร์ และการนำข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้นออกจากระบบคอมพิวเตอร์ถ้าผู้ให้บริการพิสูจน์ได้ว่าตนได้ปฏิบัติตามประกาศของรัฐมนตรีที่ออกตามวรรคสอง ผู้นั้นไม่ต้องรับโทษ" นายชัยวุฒิกล่าว