ฝนหลวงฯ เกาะติดสภาพอากาศ รุกช่วยเหลือพื้นที่ต้องการน้ำต่อเนื่อง พร้อมปรับแผนตั้งหน่วยฯ ในพื้นที่ภาคอีสาน ให้เกิดประสิทธิภาพและครอบคลุมพื้นที่เป้าหมาย เมื่อวันที่ 1 มิ.ย. นายสุรสีห์ กิตติมณฑล อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร เปิดเผยว่า กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ยังคงรายงานแผนและผลการปฏิบัติการฝนหลวง ซึ่งเป็นการปฏิบัติภารกิจร่วมกับกองทัพอากาศและกองทัพบก ในการสนับสนุนอากาศยานและบุคลากร จึงทำให้ในขณะนี้กรมฝนหลวง ฯ สามารถตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวง จำนวน 13 หน่วยปฏิบัติการ กระจายตัวอยู่ทั่วภูมิภาคของประเทศไทย อย่างไรก็ตาม แม้ว่าประเทศไทยจะเข้าสู่ช่วงฤดูฝนมาเป็นระยะเวลากว่าครึ่งเดือนแล้ว ตามประกาศจากกรมอุตุนิยมวิยา เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2564 ที่ผ่านมา แต่ปริมาณฝนตกที่เกิดขึ้นในประเทศไทยยังคงมีปริมาณไม่มาก และยังตกไม่กระจายตัวทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ ในขณะเดียวกัน พี่น้องประชาชนและเกษตรกร เริ่มทำการเพาะปลูก และมีการหว่านเมล็ดพันธุ์ โดยในบางพื้นที่เมล็ดพันธุ์ที่หว่านไว้เริ่มที่จะงอกเกิดขึ้นมากลายเป็นต้นกล้าแล้ว อีกทั้ง ในหลายพื้นที่ก็เริ่มประสบปัญหาภาวะฝนทิ้งช่วง ซึ่งจากข้อมูลแผนที่อากาศผิวพื้นของกรมอุตุนิยมวิทยา ณ เวลา 07.00 ในวันนี้ พบว่า มีพายุโซนร้อน “ฉอยหวั่น” เกิดขึ้นแถวบริเวณประเทศฟิลิปปินส์ และกำลังพัดเคลื่อนที่ไปทางทิศตะวันตกค่อนไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือเล็กน้อย โดยพายุโซนร้อนดังกล่าวไม่ได้ส่งผลอิทธิพลใดใดต่อประเทศไทยโดยตรง อีกทั้ง ยังมีหย่อมความกดอากาศสูงจากซีกโลกใต้ที่ดันขึ้นมา ซึ่งส่งผลให้ลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้มีกำลังอ่อนลงด้วย จึงทำให้ในช่วงนี้ปริมาณฝนในประเทศไทยค่อนข้างที่จะลดลง และ ในขณะเดียวกันเริ่มมีหย่อมความกดอากาศต่ำเกิดขึ้นบริเวณประเทศเวียดนาม ดังนั้น อาจจะส่งผลให้ภายใน 3-4 วันข้างหน้านี้ ประเทศไทยอาจมีแนวโน้มที่จะเกิดฝนตกภายในประเทศมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ กรมฝนหลวงฯยังคงติดตามข้อมูลสภาพอากาศเป็นประจำทุกวันอย่างต่อเนื่องเพื่อนำมาประกอบในการวางแผนขึ้นบินปฏิบัติการฝนหลวงช่วยเหลือพี่น้องประชาชนในพื้นที่ที่มีความต้องการน้ำ โดยผลจากการปฏิบัติการฝนหลวงเมื่อวานนี้ ได้ขึ้นบินปฏิบัติการฝนหลวง จำนวน 8 หน่วยปฏิบัติการ ทำให้มีฝนตกบริเวณพื้นที่การเกษตรบางส่วนของ จ.ลำปาง ลำพูน เชียงใหม่ กำแพงเพชร อุทัยธานี นครสวรรค์ กาญจนบุรี หนองบัวลำภู อุดรธานี ประจวบคีรีขันธ์ สามารถเพิ่มปริมาณน้ำให้กับพื้นที่ลุ่มรับน้ำเขื่อนจำนวน 5 แห่ง และอ่างเก็บน้ำจำนวน 4 แห่ง นายสุรสีห์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2564 เป็นต้นไป กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ได้มีการปรับแผนการตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน 2 หน่วยฯ โดยปรับแผนย้ายหน่วยปฏิบัติการฝนหลวง จ.บุรีรัมย์ มาตั้งอยู่ที่หน่วยปฏิบัติการฝนหลวง จ.สุรินทร์ และปรับแผนย้ายหน่วยปฏิบัติการฝนหลวง จ.อุดรธานี มาตั้งอยู่ที่หน่วยปฏิบัติการฝนหลวง จ.ขอนแก่น ทั้งนี้ เพื่อให้การวางแผนปฏิบัติการฝนหลวงเกิดประสิทธิภาพและครอบคลุมพื้นที่เป้าหมายมากยิ่งขึ้น ในส่วนของการติดตามสภาพอากาศ ในช่วงเช้าวันนี้ จากผลการตรวจสภาพอากาศจากสถานีเรดาร์ฝนหลวงทั่วประเทศ พบว่า มีบริเวณพื้นที่ภาคกลาง และภาคใต้ เข้าเงื่อนไขการปฏิบัติการฝนหลวง ในเช้าวันนี้จึงมีการวางแผนขึ้นบินปฏิบัติการ จำนวน 3 หน่วยปฏิบัติการฝนหลวง ดังนี้ -หน่วยปฏิบัติการฝนหลวง จ.กาญจนบุรี มีเป้าหมายช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรและพื้นที่ลุ่มรับน้ำ จ.กาญจนบุรี และจ.สุพรรณบุรี -หน่วยปฏิบัติการฝนหลวง จ.ลพบุรี มีเป้าหมายช่วยเหลือพื้นที่การเกษตร จ.ชัยนาท และ จ.อุทัยธานี -หน่วยปฏิบัติการฝนหลวง อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ มีเป้าหมายช่วยเหลือพื้นที่การเกษตร จ.เพชรบุรี อย่างไรก็ตาม อีก 10 หน่วยปฏิบัติการฝนหลวง จะยังคงติดตามสภาพอากาศตลอดทั้งวัน โดยหากสภาพอากาศมีการเปลี่ยนแปลงเข้าเงื่อนไขการปฏิบัติการฝนหลวง จะขึ้นบินปฏิบัติการฝนหลวงช่วยเหลือพื้นที่เป้าหมายต่อไป ทั้งนี้ พี่น้องเกษตรกรและประชาชนสามารถขอรับบริการฝนหลวงและติดตามข้อมูลข่าวสารของกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ได้ที่ช่องทาง Facebook กรมฝนหลวงและการบินเกษตร Twitter Instagram Line Official Account : @drraa_pr และหมายเลขโทรศัพท์ 02-109-5100