จากกรณีที่ในสังคมออนไลน์ได้เผยแพร่หนังสือ บริษัท แอคแคป แอสเซ็ทส์ จำกัด (บริษัท แอคแคปฯ) ที่ทำถึงราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ โดยมีเนื้อหาอ้างว่า บริษัท แอคแคปฯสามารถจัดหาวัคซีนชิโนฟาร์ม จำนวน 20 ล้านโดส และสามารถจัดส่งให้ได้ภายใน 2 สัปดาห์ แต่ไม่สามารถติดต่อขอเข้าพบ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.สาธารณสุข ได้ จนมีการเผยแพร่หนังสือฉบับดังกล่าวอย่างกว้างขวาง ส่งผลให้เกิดความเข้าใจผิดถึงการบริหารจัดการวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ของรัฐบาล เมื่อวันที่ 27 พ.ค.64 ที่ผ่านมานั้น
วันนี้ (29 พ.ค.64) นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) เปิดเผยว่า ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม (Anti Fake News Center) ตรวจสอบเบื้องต้นกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) พบว่า บริษัท แอคแคปฯไม่มีชื่อยื่นขึ้นทะเบียนนำเข้าวัคซีนซิโนฟาร์ม รวมทั้งยังจดทะเบียนทำธุรกิจด้านอสังหาริมทรัพย์ ไม่มีคุณสมบัตินำเข้ายาและเวชภัณฑ์ และไม่ได้เป็นตัวแทนของผู้ผลิตวัคซีนซิโนฟาร์มจริง ซึ่งภายหลังปรากฏเป็นข่าว ศ.นพ.นิธิ มหานนท์ เลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ และผู้อำนวยโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ก็ได้ปฏิเสธ พร้อมชี้แจงแล้วว่า ลักษณะของบริษัทไม่น่าเชื่อถือ และไม่มี Dossier หรือเอกสารประกอบรายการประกอบยาและการผลิตจากบริษัทเจ้าของวัคซีน เพื่อมาใช้ขอใบอนุญาตต่อ อย.แต่อย่างใด ดังนั้นหนังสือฉบับดังกล่าวนั้น จึงเป็นข้อความที่บิดเบือน และทำให้เกิดความเสียหายแก่ประชาชน เป็นการกระทำดังกล่าวที่เข้าข่ายเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2560 (พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ) เช่นเดียวกับผู้ที่นำข้อมูลดังกล่าวไปเผยแพร่ หรือส่งต่อก็จะเข้าข่ายมีความผิดเช่นกัน
"ก.ดีอีเอส กำลังประสานข้อมูลกับ บก.ปอท. รวมทั้งก.สาธารณสุข เพื่อรวบรวมหลักฐานแล้ว และดำเนินการเอาผิดผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด โดยขณะนี้เจ้าหน้าที่กำลังติดตามตัวกรรมการผู้จัดการผู้ลงนามทั้ง 2 รายในหนังสือมาให้ข้อมูล และข้อเท็จจริงเกี่ยวกับหนังสือฉบับดังกล่าว เพื่อดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องตามกฎหมายต่อไป"
นายชัยวุฒิ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ยังมีบุคคลและกลุ่มบุคคลนำไปวิพากษ์วิจารณ์และกล่าวหาในทำนองว่า รัฐบาลมีการเรียกรับผลประโยชน์จากการขึ้นทะเบียนและจัดหาวัคซีนโควิด-19 ซึ่งเข้าข่ายการหมิ่นประมาท และเสนอข้อมูลเท็จ อย่างชัดเจนเช่นกัน เพราะการขึ้นทะเบียนและนำเข้าวัคซีนมีระเบียบขั้นตอนการดำเนินการตามช่องทางกฎหมายอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องเข้าพบใครเป็นพิเศษ น่าสังเกตว่า ที่ผ่านมาเกิดความพยายามในการตั้งประเด็นโจมตีการบริหารจัดการวัคซีนโควิด-19 ของรัฐบาลมาอย่างต่อเนื่อง และรุนแรงขึ้น มองได้ว่า มีการวางแผนเป็นขบวนการเพื่อดิสเครดิตรัฐบาลหรือไม่ เห็นได้ชัดจากกรณี บริษัท แอคแคปฯ ที่ผู้เกี่ยวข้องในส่วนของภาครัฐต่างออกมาปฏิเสธไปแล้ว แต่ทราบว่า เมื่อคืนวันที่ 27 พ.ค.64 นายดวงฤทธิ์ บุนนาค สถาปนิก และแกนนำกลุ่มแคร์ คิดเคลื่อนไทย ที่มักร่วมกิจกรรมทางการเมืองกับพรรคเพื่อไทย นำไปพูดคุยแสดงความคิดเห็นผ่านแอปพลิเคชันคลับเฮาส์ โดยมีเนื้อหาสาระให้เกิดความสับสนขึ้นในสังคม ตลอดจนสร้างความเสียหายให้แก่รัฐบาลและผู้เกี่ยวข้อง มีการพูดถึงขั้นว่า มีคนเรียกค่าพาเข้าพบนายกรัฐมนตรี กับบริษัทดังกล่าว เพื่อให้มีช่องทางเจรจานำเข้าวัคซีนซิโนฟาร์ม โดยแลกกับเงิน 5 ล้านบาทอีกด้วย และเมื่อต้นเดือน พ.ค.64 นายดวงฤทธิ์ก็เคยทวีตข้อความผ่านทวิตเตอร์อ้างว่า มีรุ่นน้องที่รู้จักกันพยายามนำวัคซีนซิโนฟาร์ม 20 ล้านโดสให้รัฐบาล และระบุว่า "ประสานไปที่คนของรัฐบาลทุกช่องทางแล้ว มันถามหาผลประโยชน์ตอบแทนกันก่อนหมดเลย" จนมีผู้มารีทวิตหรือเผยแพร่ข้อความต่อจำนวนมาก และยังมีหลักฐานว่า มีความสนิทสนมกับ นายกรกฤษณ์ กิติสิน หนึ่งในผู้บริหารของบริษัท แอคแคปฯ ด้วย หรือเมื่อต้นเดือน ม.ค.64 ก็ทวีตในทำนองว่า มีคนบางกลุ่มได้สิทธิซื้อวัคซีนโควิด-19 แล้ว ทั้งที่กระบวนการทุกอย่างมีการเปิดเผยโปร่งใสโดยตลอด
"การที่บริษัท แอคแคปฯถูกเปิดโปงว่า ไม่ใช่ผู้แทนซิโนฟาร์มจริง และการทวีตข้อความในประเด็นเดียวกันล่วงหน้าของคุณดวงฤทธิ์ ทำให้สามารถตั้งข้อสังเกตได้ว่า อาจเป็นขบวนการเดียวกันที่ต้องการสร้างความสับสนและดิสเครดิตรัฐบาล เรื่องนี้กระทรวงดีอีเอสได้รวบรวมหลักฐานการเผยแพร่ข้อความในแพลตฟอร์มต่างๆ รวมทั้งการพูดคุยใน แอปฯคลับเฮาส์ล่าสุดไว้ทั้งหมดแล้ว ขณะนี้ได้ให้ฝ่ายกฎหมายทำการสรุปว่า มีผู้กระทำผิดกี่รายอย่างไรบ้าง เพื่อดำเนินคดีอย่างเร่งด่วนต่อไป"
นายชัยวุฒิ กล่าวอีกว่า การที่มีการออกมาโพสต์ว่ามีการเรียกเงิน 5 ล้านบาท หรือมีการเรียกผลประโยชน์จากการจัดหาวัคซีนโควิด-19 นั้น หากมีหลักฐานยืนยันชัดเจน ก็เปิดเผยได้อยู่แล้ว หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพร้อมดำเนินการตามกฎหมาย เพราะเป็นการแอบอ้างหาประโยชน์ ซึ่งไม่สมควรให้เกิดขึ้น โดยเฉพาะในช่วงที่ประเทศกำลังประสบปัญหาการระบาดโควิด-19 แต่ถ้าไม่มีหลักฐาน เป็นการพูดลอยๆ ผ่านโซเชียลเน็ตเวิร์คเพื่อดิสเครดิตนายกฯ และรัฐบาล เท่ากับเป็นการนำข้อมูลอันเป็นเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ เมื่อภาครัฐจำเป็นต้องดำเนินคดีตามกฎหมาย คนเหล่านี้ก็มักจะออกมาเรียกร้องว่า เป็นการละเมิดสิทธิ ปิดหูปิดตาประชาชนซึ่งเป็นรูปแบบของขบวนการเฟคนิวส์ และต้องการให้เกิดความเข้าใจผิดในสังคม
"เชื่อว่าสังคมพอจะเข้าใจถึงเจตนาของกลุ่มคนดังกล่าว หลายคนก็เป็นกลุ่มคนที่อยู่ตรงข้ามรัฐบาล และนิยมชมชอบกลุ่มการเมืองบางกลุ่ม จุดยืนทางการเมืองของคุณดวงฤทธิ์ก็ชัดเจน พอถูกจับได้ไล่ทัน ก็อ้างว่า ชนตอ มีอันตรายถึงตาย ไม่ขอพูดถึงเรื่องนี้อีก ทั้งที่หากไม่มีเจตนาก็ควรออกมาชี้แจงข้อเท็จจริง เหมือนมีเจตนาให้สังคมสับสนไปเรื่อยๆ ซึ่งกรณีของคุณดวงฤทธิ์ ถือว่าความผิดสำเร็จแล้ว หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำลังรวบรวมหลักฐาน และจะดำเนินการทางกฎหมายอย่างเด็ดขาดแน่นอน"