วันที่ 27 พฤษภาคม 2564 นางวาสนา ทองจันทร์ พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดอ่างทอง มอบหมายให้เจ้าหน้าที่สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดอ่างทอง ร่วมกับ อพม.อำเภอโพธิ์ทอง และ อพม.อำเภอแสวงหา พร้อมด้วยผู้นำท้องถิ่นลงพื้นที่เยี่ยมให้กำลังใจ เก็บข้อมูลสมุดพกครอบครัวการวางแผนให้การช่วยเหลือตามโครงการบูรณาการเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตกลุ่มเปราะบางรายครัวเรือนในพื้นที่จังหวัดอ่างทองเพื่อบูรณาการความร่วมมือในการช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางให้ครอบคลุมทุกมิติแบบองค์รวม รวมถึงให้กลุ่มเปราะบางสามารถเข้าถึงสิทธิและสวัสดิการ พัฒนาคุณภาพชีวิตกลุ่มเปราะบางและให้ครอบครัวมั่นคงมีความสุข สามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน อีกทั้งให้มีฐานข้อมูลกลุ่มเปราะบางรายครัวเรือนระดับประเทศที่เกิดจากการบูรณาการข้อมูลจากทุกหน่วยงาน มีกำหนดระยะเวลาความร่วมมือ 5 ปี (พ.ศ. 2564 – 2568)
นางวาสนา ทองจันทร์ พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดอ่างทอง กล่าวว่า ครัวเรือนเปราะบาง นั้นหมายถึง ครัวเรือนที่มีรายได้น้อยและมีบุคคลที่อยู่ในภาวะพึ่งพิงที่ต้องการได้รับความช่วยเหลือจากคนอื่น เช่น ครอบครัวยากจนที่มีเด็กเล็ก แม่เลี้ยงเดี่ยว ผู้สูงอายุ คนพิการ ผู้ป่วยติดเตียงมีปัญหาที่อยู่อาศัย จำเป็นต้องร่วมกันพัฒนาคุณภาพชีวิตกลุ่มดังกล่าวอย่างเร่งด่วน จริงจัง และต่อเนื่อง
สำหรับโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตกลุ่มเปราะบาง รายครัวเรือน (มิติสังคม) เกิดขึ้นเนื่องมาผลของสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด 19 รวมทั้งปัญหาการเข้าถึงบริการของภาครัฐส่งผลให้มีผู้ประสบปัญหาทางสังคมมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง ครอบครัวมีเด็กเล็ก ครอบครัวมีแม่เลี้ยงเดี่ยว ผู้สูงอายุคนพิการ ผู้ป่วยติดเตียงที่อยู่ในภาวะยากลำบาก และผู้ประสบปัญหาด้านที่อยู่อาศัย ซึ่งแนวทางการพัฒนาคุณภาพชีวิตกลุ่มเปราะบางเหล่านี้ จำเป็นอาศัยการแก้ปัญหาอย่างรอบด้านในทุกมิติทั้งเศรษฐกิจ สังคม สุขภาพ และสภาพแวดล้อม และจำเป็นต้องบูรณาการความร่วมมือจากหลายภาคส่วน เพื่อให้การดำเนินงานพัฒนาคุณภาพชีวิตกลุ่มเปราะบางดีขึ้นอย่างยั่งยืน สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดอ่างทอง จึงได้ดำเนินโครงการพัฒนาคุณภาพ ชีวิตกลุ่มเปราะบาง รายครัวเรือน (มิติสังคม) ขึ้นโดยบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการร่วมพัฒนาคุณภาพชีวิตกลุ่มเปราะบางในทุกมิติให้ครอบครัวมีความมั่นคง มีความสุข และสามารถพึ่งพาตนเองได้