สมาคมการแสดงสินค้า(ไทย) เตรียมเสนอแผนเร่งด่วนต่อนายกรัฐมนตรี เพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศมูลค่า 10,000 ล้านบาท ผ่านงานแสดงสินค้าครอบคลุมกลุ่มสินค้าอุปโภค/บริโภคทั่วประเทศ พร้อมเสนอแนวทางการช่วยเหลือผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมการแสดงสินค้า และธุรกิจบริการ ที่เกี่ยวข้องอีกกว่า 100,000 อัตรา ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 นาย ประวิชย์ ศรีบัณฑิตมงคล นายกสมาคมการแสดงสินค้า (ไทย) กล่าวถึงแนวทาง และแผนงานที่ได้เตรียมเข้าหารือ และนำเสนอต่อนายกรัฐมนตรี หลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดได้ทุเลาลง และสามารถจัดกิจกรรมงานแสดงสินค้าได้ ซึ่งน่าจะเป็นช่องทางการกระตุ้นเศรษฐกิจไทยที่มีประสิทธิภาพได้ในระยะเวลาอันสั้น โดยจะมีการจัดงานแสดงสินค้า เพื่อการจำหน่ายผลิตภัณฑ์อุปโภค/บริโภค ที่จำเป็นในชีวิตประจำวันจำนวน 10 งาน ทั้งในกรุงเทพฯ และในภูมิภาคต่างๆ เปิดโอกาสให้ประชาชนได้จับจ่ายซื้อสินค้าในราคาประหยัด ขณะเดียวกันผู้ผลิตสินค้า และผู้จัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ หรือ โรงงานต่างๆ จะได้เพิ่มช่องทางในระบายสินค้า และเพิ่มสภาพคล่องในการดำเนินธุรกิจ และการจ้างงานได้ต่อไป ทั้งนี้ นาย ประวิชย์ ยังกล่าวถึงแนวทางการจัดงานแสดงสินค้าโครงการนี้ ว่า ใช้งบประมาณไม่เกิน 1,000 ล้านบาท แต่สามารถก่อให้เกิดมูลค่าในระบบห่วงโซ่เศรษฐกิจกว่า10 เท่าหรือ 10,000 ล้านบาท ภายในระยะเวลาอันสั้น ขณะเดียวกันห่วงโซ่ในการจัดงานแสดงสินค้าในแต่ละครั้ง ที่ต้องใช้บริการหลักที่เกี่ยวขัอง อาทิ ศูนย์แสดงสินค้า ผู้จัดงาน ผู้ให้บริการก่อสร้าง และ ผู้ให้บริการด้านโลจิสติกส์ ยังรวมถึงงานบริการอื่นๆ เช่น โรงแรม ร้านอาหาร สถานที่บริการนักท่องเที่ยว และอื่นๆ ก็จะได้รับอานิสงค์ไปด้วย ไม่เพียงเท่านั้นภาครัฐก็ยังสามารถ จัดเก็บรายได้จาก ภาษีทางตรง และทางอ้อม จากการจัดงานแสดงสินค้าทั้งภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีเงินได้นิติบุคคล/ภาษีเงินได้บุคคล ได้อีกเช่นกัน สำหรับมูลค่าทางเศรษฐกิจของอุตสาหกรรมงานแสดงสินค้า ซึ่งรวมทั้งในประเทศ และต่างประเทศ ทั้งแบบธุรกิจ (B2B) และแบบการจำหน่ายสินค้าขายปลีก (B2C) มีมูลค่ากว่า 100,000 ล้านบาท ในปี 2562 ข้อมูลจากสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเส็บ นั้นได้รับผลกระทบจากวิกฤตการณ์การระบาดของโควิด-19 กว่า 70% ทำให้ในปี 2563 มีมูลค่าตลาดรวมลดลงเหลือเพียง 30,000 ล้านบาท และคาดว่าจะลดลงอีกหลังการระบาดรอบที่ 3 ที่รุนแรงในปี 2564 เหลือเพียง 20,000 ล้านบาท ซึ่งงานแสดงสินค้า ส่วนใหญ่กว่า 80% จัดโดยสมาชิกของสมาคมฯ ซึ่งประกอบด้วยผู้จัดงานมืออาซีพ สถานที่จัดการแสดงสินค้า/การประชุม ผู้บริการก่อสร้าง และผู้บริการด้านโลจิสติกส์ นอกจากนี้ สมาคมฯ ยังเตรียมเข้าหารือนายกรัฐมนตรี เพื่อเสนอแนวทางในการช่วยเหลือ เยียวยาให้กับสมาชิก และผู้ประกอบการให้สามารถคงอัตราการจ้างงาน และดำเนินธุรกิจต่อไปได้ในสถานการณ์ลำบากเช่นนี้ โดยทางสมาชิกฯ ได้รับผลกระทบมาจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 เนื่องจากไม่สามารถจัดกิจกรรมต่างๆ ได้ ตามคำสั่งของรัฐบาลที่ให้ระงับการดำเนินงานดังกล่าว จนต้องปิดสถานที่จัดงานชั่วคราว พักกิจการ หรือเลิกกิจการไป ทำให้มีแรงงานต้องตกงานไปกว่า 60% ซึ่ง นายประวิชย์ กล่าวว่า แนวทางฟื้นฟูอุตสาหกรรมที่สมาคมฯ ต้องการให้รัฐบาลพิจารณาช่วยเหลือต่อผู้ประกอบการ และสมาชิก อย่างเร่งด่วน ได้แก่ การเพิ่มแหล่งเงินกู้ระยะสั้น การจัดหาวัคซีนให้กับบุคลากรในอุตสาหกรรมการแสดงสินค้า เป็นลำดับต้นๆ เพื่อสร้างความพร้อมและกลับมาจัดงานแสดงสินค้าได้อย่างปลอดภัย ทั้งผู้จัดงาน ผู้ออกงาน ผู้เข้าชมงาน และ บุคลากรที่เกี่ยวข้องต่างๆ นอกจากนี้ เพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้แก่ผู้ประกอบการในการรักษาแรงงานที่มีทักษะเกี่ยวกับอุตสาหกรรมการจัดงานแสดงสินค้าซึ่งเป็นทักษะเฉพาะที่ต้องอาศัยประสบการณ์ในการทำงาน และสมาชิก ได้นำเสนอให้พิจารณายกเว้นภาษีหัก ณ ที่จ่ายเป็นระยะเวลา 6 เดือน อย่างไรก็ตาม นายประวิชย์ ยังกล่าวต่อว่า จากการระบาดเมื่อปีที่ผ่านมาในสถานการณ์ของอุตสาหกรรมการแสดงสินค้าในประเทศ ที่ถูกห้ามจัดเป็นระยะเวลากว่าครึ่งปี ได้กลับมาจัดภายใต้มาตรการปกติใหม่ ที่สมาคมฯ และสมาชิก พร้อมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมควบคุมโรค และสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเส็บ ได้จัดทำขึ้นเพื่อนำเสนอต่อ ศบค. อนุมัติ และนำไปใช้เป็นหลักปฏิบัติอย่างเคร่งครัด ทำให้การจัดงานแสดงสินค้าที่จัดขึ้นในระยะเวลาที่ผ่านมาจัดได้ด้วยความปลอดภัย ไม่มีการแพร่ระบาดของผู้ติดเชื้อรายใหม่ในการจัดงานเลย ซึ่งเป็นสิ่งพิสูจน์ถึงประสิทธิภาพในการควบคุมกันเองของงานที่จัดขึ้นโดยสมาชิกในสมาคมการแสดงสินค้า(ไทย)