ช่วยกันคิด ช่วยกันทำ / ทหารประชาธิปไตย แม้ว่าพลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย จะทำการยึดอำนาจด้วยกำลังทหารได้สำเร็จ แต่ปัญหาที่ตามมาคือความยากลำบากที่จะรักษาอำนาจให้ยาวนานต่อไป แม้ในตอนเริ่มต้นจะสัญญาว่าจะเปิดให้มีการเลือกตั้ง เมื่อยึดอำนาจครบ 1 ปี แต่ต่อมาก็ขอขยายเป็น 2 ปี และหากเปิดให้มีการเลือกตั้งจริงภายใน 2 ปี โดยที่เป็นการเลือกตั้งที่สุจริตก็จะแพ้การเลือกตั้งอย่างยับเยินแน่นอน ในทางตรงข้ามหากพยายามโกงการเลือกตั้ง ประชาชนก็คงไม่ยอมและจะลุกฮือขึ้นมาประท้วงทั้งประเทศ สถานการณ์ของ มินอ่อง หล่าย และคณะทหารจึงเหมือนขี่หลังเสือ อยากลงแบบนิ่มๆก็ลงไม่ได้ หากจัดให้มีการเลือกตั้งวันใด ก็มีแต่จะพ่ายยับ ขืนอยู่ต่อก็เจอแต่การประท้วงในรูปแบบต่างๆ ที่นอกจากจะมีหลายรูปแบบ ตั้งแต่การชูป้าย การนัดหยุดงาน การเดินขบวน ซึ่งถูกทหารปราบปรามอย่างรุนแรง ทำให้ผู้ประท้วงและประชาชนโดยทั่วไปบาดเจ็บล้มตายจำนวนนับพันแล้ว แต่ก็มิได้ทำให้ประชาชนถอดใจยอมกลับไปเป็นทาสอยู่ภายใต้รองเท้าบู๊ตเหมือนในอดีต ตรงข้ามมีประชาชนบางส่วน รวมทั้งนักศึกษาหนีเข้าป่าไปฝึกอาวุธกับกองกำลังชนกลุ่มน้อย และกลับเข้ามาทำสงครามกองโจรในเมือง ซึ่งเริ่มมีปรากฏการณ์เกิดขึ้นประปรายแล้ว เช่น การระเบิดโรงพัก ระเบิดสถานที่ราชการ หรือเผาโรงงานที่เป็นท่อน้ำเลี้ยงของคณะทหาร ส่วนปฏิบัติการทางทหารของชนกลุ่มน้อย แม้จะถูกโจมตีอย่างรุนแรงจากกองทัพพม่า โดยเฉพาะการใช้ความเหนือกว่าของอาวุธและกองกำลังทางอากาศ แต่ปฏิบัติการทางภาคพื้นดินกลับตกเป็นรอง เพราะกองกำลังชนกลุ่มน้อยชำนาญพื้นที่มากกว่า ประกอบกับได้รับการสนับสนุนจากประชาชนในพื้นที่มากขึ้น เนื่องจากถูกกองทัพของรัฐบาลกลางทำร้ายจากการปราบปรามแบบเหวี่ยงแห ในด้านต่างประเทศ เมียนมาถูกประเทศตะวันตกแซงก์ซั่นตัวบุคคล ทรัพย์สิน และธุรกิจที่เกี่ยวพันกับคณะทหาร จีนส่งกำลังเข้ามาคุ้มครองดูแลท่อก๊าซจากรัฐยะไข่ไปยูนนาน ซึ่งเข้ามาแล้วออกยาก คิดดูว่าระยะทางกว่า 800 กม. ต้องใช้กำลังทหารเท่าไร แถมยังมีปัญหาเรื่องสิทธิสภาพนอกอาณาเขตอีก อินเดียก็เริ่มให้การสนับสนุนกองกำลังชนกลุ่มน้อยมากขึ้น ตามแนวชายแดนของตน เช่น กองกำลังในรัฐยะไข่ อย่างกองกำลังอารกัน ส่วนในแคว้นชินที่เป็นรัฐที่ยากจนที่สุดก็เริ่มมีปฏิบัติการของกองกำลังชนกลุ่มน้อยเข้มข้นขึ้น แม้จะถูกปราบปรามจากกองทัพพม่าอย่างหนัก แต่สภาพภูมิประเทศที่เป็นภูเขา และกันดาร ทำให้ยากต่อการปราบปราม ในการเข้ายึดอำนาจวันที่ 1 กุมภาพันธ์นั้น พลเอกอาวุโส มินอ่อง หล่าย คงคิดไม่ถึงว่าจะได้รับการต่อต้านรุนแรงและยืดเยื้อขนาดนี้ เพราะที่ผ่านมากองทัพเคยยึดอำนาจมาแล้วถึง 2 ครั้ง และปกครองเมียนมามายาวนานหลายสิบปี ภายหลังการปราบปรามประชาชนอย่างรุนแรง คราวนี้ประชาชนได้บทเรียนมาแล้วว่าการปกครองโดยรัฐบาลทหารทำให้ประเทศตกต่ำยากจน ประชาชนยากไร้ ผู้ปกครองร่ำรวยจากการโกงกิน โดยที่ทำการตรวจสอบมิได้ การพลิกฟื้นการปกครองในระบอบประชาธิปไตยโดยการชนะการเลือกตั้งอย่างถล่มทลาย เป็นเครื่องยืนยันถึงบทเรียนที่ประชาชนเมียนมาเรียนรู้ แม้รัฐบาลพลเรือนของนางอองซาน ซูจี จะยังไม่อาจขจัดอิทธิพลของกองทัพจากการปกครองบ้านเมืองได้อย่างสิ้นเชิง ด้วยกองทัพยังมีกลไกควบคุมอำนาจ และฐานทางศรษฐกิจที่มั่นคง ตลอดจนการกำกับอำนาจจากรัฐธรรมนูญที่ทหารร่างขึ้นมา แต่การเปิดโลกทรรศน์ให้ประชาชนชาวเมียนมาได้รับรู้ ทราบถึงบรรยากาศที่คลี่คลายจากอำนาจเผด็จการของทหาร ตลอดจนอนาคตที่เขาพอจะมองเห็นได้ว่ามันเริ่มมีแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ จึงทำให้ชาวพม่าเกิดความหวงแหนอำนาจอธิปไตยที่เป็นของตน อันจะเป็นบันไดไปสู่อนาคตที่คาดหวังได้ อย่างไรก็ตามได้มีการพยายามที่จะทำลายภาพลักษณ์ของการลุกขึ้นมาต่อต้านเผด็จการของประชาชนเมียนมา และชนกลุ่มน้อยนั้นว่าได้รับการสนับสนุนจากต่างชาติเพื่อหวังยึดครองเมียนมาในลำดับต่อไป และเป้าสำคัญที่ถูกโจมตีมากคือ โลกตะวันตก ซึ่งแน่นอนคงไม่อาจปฏิเสธได้ว่าประเทศเหล่านั้น คงมีการสนับสนุนบ้างไม่มากก็น้อยเพื่อผลประโยชน์ของตนเอง แต่มันเป็นหน้าที่ของประชาชนเมียนมาที่จะออกมาปกป้องผลประโยชน์ของตนเองและของชาติภายหลังการโค่นล้มเผด็จการสำเร็จ ตราบใดที่คำพังเพยที่ว่า “ศัตรูของศัตรูคือมิตร” ยังเป็นจริงอยู่ อีกด้านหนึ่งก็มีความพยายามที่จะป้ายสีการปกครองระบอบประชาธิปไตยว่ามีแต่ทำให้บ้านเมืองปั่นป่วนวุ่นวายล่มจม โดยที่มิได้เข้าใจเลยว่าระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยมันต้องใช้เวลาในการพัฒนากว่าจะเป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ได้ และหากจะโทษว่าโลกตะวันตกเอาประชาธิปไตยมาหลอกล่อ เพื่อให้ประชาชนลุกฮือมาต่อต้านเผด็จการทหารแล้วไซร้ อยากถามว่าประชาชนเมียนมามีทางเลือกอะไรบ้างภายใต้การปกครองของท็อปบู๊ต อนึ่งการโทษการแทรกแซงของต่างชาติ โดยมุ่งไปโจมตีพวกตะวันตกและพันธมิตร โดยไม่ได้หันไปมองการแทรกแซงประเทศเพื่อนบ้านทางเหนือ และทางใต้ นี่ก็เข้ามาแทรกแซงกิจการภายในของเมียนมาเพื่อผลประโยชน์เช่นกัน ซึ่งอาจเลวร้ายกว่าการแทรกแซงของตะวันตกและพันธมิตร เพราะเพื่อนบ้านนี่แหละอาจหนุนเผด็จการทหารให้กดขี่ประชาชนชาวพม่าต่อไป เพื่อประโยชน์ทั้งส่วนตัวและผลประโยชน์ของชาติ จึงนับว่าเป็นการมองเพียงด้านเดียวเท่านั้น ประเทศไทยนั้นวางตนลำบากในสถานการณ์อย่างนี้ ไม่ว่าจะถูกกดดันจากมหาอำนาจทั้ง 2 ขั้ว หรือการที่มีชายแดนติดกันเป็นระยะทางยาวก็ตาม หากหนุนรัฐบาลทหาร เพราะมีความสัมพันธ์อันดีมายาวนาน ด้วยอะไรที่รู้ๆกันอยู่ก็ตาม แต่ถ้าเมียนมายังไม่อาจควบคุมสถานการณ์ภายในประเทศให้สงบลงได้ การปะทะกับกองกำลังชนกลุ่มน้อยของกองทัพเมียนมา ตามชายแดนย่อมส่งผลกระทบต่อชาวไทยในละแวกนั้นด้วย ยิ่งถ้ามีการปะทะกันอย่างรุนแรงและบานปลายก็จะเกิดผู้อพยพจำนวนมากทะลักเข้าไทย ซึ่งจะเป็นภาระทั้งด้านค่าใช้จ่ายและการต่อสู้กับโรคระบาดโควิด-19 หากเราจะกดดันไม่ให้ผู้อพยพเข้าไทย ตามหลักมนุษยธรรม เพราะเขาหนีตายมา ก็จะทำให้ประเทศไทยต้องถูกประณามจากโลกเสรี และอาจเป็นชนวนที่ทำให้เกิดการแทรกแซงการเมืองไทยได้ อย่าลืมว่าการเมืองไทยแม้ดูภายนอกอาจจะสงบนิ่ง แต่ภายในมันมีการกระเพื่อมอย่างรุนแรง ที่จะแย่งชิงอำนาจและผลประโยชน์กันในทุกรูปแบบ ยิ่งการเมืองไทยถูกปิดกั้นด้วยวิถีต่างๆรวมทั้งการบิดเบือนข่าวสาร การปิดกั้นการแสดงออกหรือวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล โดยที่ในเนื้อแท้ก็มิใช่รัฐบาลประชาธิปไตย เหมือนที่สร้างภาพจะยิ่งสร้างปัญหากดทับ ทุกวันนี้ความเชื่อถือของรัฐบาลจากประชาชนเหลือน้อยไปทุกทีแล้ว ไม่ว่าการผิดสัญญาตั้งแต่ครั้งยึดอำนาจมาสู่การสืบทอดอำนาจ ตลอดจนเหตุเฉพาะหน้า เช่น การบริหารจัดการเรื่องวัคซีน การฉีดวัคซีน การควบคุมการแพร่ระบาด ที่ไม่เคยชัดเจนและส่อว่าจะไม่เป็นไปตามที่ประกาศก็ตาม ยิ่งทำให้สถานภาพของรัฐบาลตกต่ำลงไปเรื่อยๆ ขนาดการดำเนินการกู้เงินอีก 700,000 ล้านเพื่อมาแก้ไขสถานการณ์ที่เข้าขั้นวิกฤติ ยังทำเป็นความลับ แล้วจะเหลืออะไรให้ประชาชนเชื่อถือ และนี่อาจเป็นอีกหลายๆสาเหตุที่จะกลายเป็นชนวนให้เกิดความวุ่นวายได้ อย่าทำดูเบาไปว่า “มันเป็นแค่ข่าวลือ”