นนทบุรี : นายนพดล แก้วสุพัฒน์ นายกสมาคมองค์การบริหารส่วนตำบล(อบต.)แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า จากการประชุมคณะทำงานของสมาคมอบต.แห่งประเทศไทย ที่โรงแรมทีเค พาเลส แอนด์คอนเวนชั่น ถ.แจ้งวัฒนะ เมื่อเร็วๆนี้ ที่ประชุมได้แสดงความเห็นในร่าง พรบ. ประมวลกฎหมายองค์กรปกครองท้องถิ่น ที่มีสาระสำคัญซึ่งอาจกระทบต่อองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และการบริการประชาชน ประกอบด้วย 1.การควบรวมองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น อาจส่งผลทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำและการเข้าถึงบริการของประชาชนโดยมี อปท. ที่เข้าหลักเกณฑ์การควบรวมไม่น้อยกว่า 4,000 แห่ง 2.ที่มาระบบตัวแทน ให้มีการเลือกตั้งโดยตรง มาจากเขตละ 3 คนโดยมีเกณฑ์จำนวนประชากรกำหนด นายนพดล กล่าวต่อว่า 3.การดำรงตำแหน่ง ไม่เกิน 2 วาระ ซึ่งแต่เดิม พรบ. สภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พรบ.เทศบาล และพรบ.องค์การบริหารส่วนจังหวัด ไม่ได้กำหนดวาระการดำรงตำแหน่งผู้บริหารท้องถิ่น ซึ่งประเด็นนี้มีสื่อมวลชลหลายแขนงแสดงความคิดเห็นว่าการกำหนดวาระการดำรงตำแหน่งผู้บริหารท้องถิ่นมีความแตกต่างจากผู้บริหารระดับประเทศ ซึ่งการดำรงตำแหน่งของผู้บริหารท้องถิ่นเป็นพื้นที่ขนาดเล็ก ประชาชนจะรู้พฤติกรรมและการกระทำ รวมถึงข้อดีข้อเสีย จะทำให้ประชาชนเลือกผู้บริหารท้องถิ่นได้อย่างถูกต้อง 4.การกำกับดูแล ตาม ร่างพรบ.ประมวลกฎหมายองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มาตรา 197 อาจเป็นข้อต่อรองของราชการส่วนภูมิภาคที่มีผลต่อราชการส่วนท้องถิ่น ที่ระบุว่าองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นใดไม่ปฏิบัติตามคำชี้แจง แนะนำ หรือตักเตือนของผู้กำกับดูแล ให้ผู้กำกับดูแลมีอำนาจที่จะสั่งเพิกถอนหรือสั่งให้ระงับการปฏิบัติการขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้นไว้ก่อนได้ “ทางสมาคมอบต.แห่งประเทศไทยจึงได้จัดทำข้อเสนอ ใน 6 ประเด็นตามร่าง พรบ.ประมวลกฎหมายองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ได้มีมติเห็นชอบ และทำเป็นข้อเสนอต่อ คณะรัฐมนตรี และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ประกอบด้วย 1.การที่สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ได้จัดทำข้อเสนอ โดยขาดกระบวนการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน ในภาพกว้าง เกี่ยวกับการรับฟังความคิดเห็นในการควบรวมองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นเหตุให้ประชาชนจำนวนมากไม่ทราบถึงผลดีผลเสียของการควบรวมองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สมาคมองค์การบริหารส่วนตำบลแห่งประเทศไทย มีมติเสนอให้คณะรัฐมนตรี มีแนวทางกำหนดให้กระทรวงมหาดไทย จัดเวทีภาคประชาชนทุกอำเภอ เพื่อรับฟังความเห็น ข้อดีข้อเสีย และ ให้ประชาชนแสดงเจตนารมณ์ การที่จะ ควบรวมองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อเป็นข้อมูลให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ พิจาณาร่าง พรบ. ดังกล่าว” นายนพดล กล่าว และว่า 2. เรื่องมติให้ควบรวม อปท.เข้ากับเทศบาลตำบลเดิม โดยกำหนดให้เขตจัดตั้งเป็น หนึ่งตำบลหนึ่งท้องถิ่น 3.ที่มาของสมาชิกสภาเทศบาลตำบล ควรมีที่มาจากตัวแทนในระดับหมู่บ้าน เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในระบบตัวแทนภาคประชาชน 4.ไม่ควรกำหนดวาระการดำรงตำแหน่งของผู้บริหารท้องถิ่น เพราะ เนื่องจากการกำหนดวาระการดำรงตำแหน่งของผู้บริหาร ทำให้เกิดการพัฒนาที่ไม่ต่อเนื่อง “5.จากที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีสถานภาพเป็นนิติบุคคล ซึ่งไม่ได้สังกัดในความรับผิดชอบของกระทรวงมหาดไทย จึงมีข้อเสนอขอให้มีการกำหนดองค์กรที่ มีสำนักงานกระจายอำนาจฯ และกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นเดิม ร่วมกันจัดให้เป็น องค์กรขึ้นมาทำหน้าที่ (1) กำหนดแนวทางการออกระเบียบ การปฏิบัติหน้าที่ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภายใต้แนวทางการกระจายอำนาจ(2) ให้มีอำนาจในการกำหนดโครงสร้าง และการบริหารงานบุคลากรท้องถิ่น(3)ให้มีอำนาจด้านวางแนวทางงบประมาณและกำกับดูแล และ 6 ให้กำหนดในบทเฉพาะการ กำหนดประกันรายได้ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีรายได้ไม่รวมเงินอุดหนุน 20 ล้านบาท” นายนพดลกล่าว นายกสมาคมอบต.แห่งประเทศไทย กล่าวอีกว่า มติสมาคม อบต.แห่งประเทศไทย จะเร่งรัดในการยื่นข้อเสนอดังกล่าวต่อคณะรัฐมนตรี สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ส่วนกระแสข่าวที่มีประเด็นการยุบ อบจ. สมาคม อบต.แห่งประเทศไทย เห็นว่าร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวได้กำหนดวางแนวทางให้ อบจ.มีประสิทธิภาพในการจัดบริการในภาพรวมในระดับจังหวัดได้ดีขึ้น