สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ได้เผยแพร่บทความ เปิดวอร์รูมทีมสื่อสาร ศบค. ดร.วรัชญ์-“สื่อ”ต้องเป็นวัคซีนให้สังคม ลงเมื่อวันที่ 24 พ.ค.2564 โดยมีเนื้อความระบุดังนี้...ในการรับมือและต่อสู้กับ วิกฤตโควิด-19 ในประเทศไทยที่ผ่านมา ร่วมหนึ่งปีกว่า สิ่งสำคัญที่ทุกคนปฏิเสธไม่ได้ก็คือ "ข้อมูลข่าวสาร"ที่เกี่ยวข้องกับโควิด-19 ซึ่งการระบาดของโควิดฯ รอบแรกเมื่อปีที่ผ่านมา ข้อมูลข่าวสารที่ประชาชนต้องการรู้มากที่สุดก็คือ ความรู้เกี่ยวกับไวรัสโควิดฯ -การดูแลป้องกันตัวเองและคนรอบข้างเพื่อให้ปลอดภัยจากโควิด ฯ ส่วนสถานการณ์ปัจจุบันที่เป็นโควิดรอบสาม ข้อมูลข่าวสารที่ประชาชนสนใจติดตามก็คือเรื่องของข้อมูลเกี่ยวกับประสิทธิภาพของวัคซีนยี่ห้อต่างๆ และการบริหารจัดการฉีดของภาครัฐในการฉีดวัคซีนให้ประชาชน รวมถึงข่าวสารเกี่ยวกับโควิดสายพันธุ์ใหม่ ๆที่มีข่าวเข้ามาแพร่ระบาดในประเทศไทย เป็นต้น ที่ต้องยอมรับว่า ที่ผ่านมา ข่าวสารเกี่ยวกับโควิดฯ มีทั้งข่าวเฟกนิวส์ และข่าวที่นำเสนอไม่ถูกต้องรอบด้าน โดยเฉพาะข่าวสารที่เสนอผ่านโซเชียลมีเดีย จนบางครั้งทำให้ประชาชนเกิดความสับสน -เข้าใจผิด ในส่วนของภาครัฐ เซ็นเตอร์ใหญ่ในการให้ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับโควิดฯ ตลอดช่วงหนึ่งปีที่ผ่านมาอย่างเป็นทางการ ก็คือ ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ​ หรือ ศบค. ที่มี “นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน” เป็นโฆษกศบค. ซึ่งทุกคนรู้จักกันดี แต่ก็จะพบว่าช่วงที่ผ่านมาโดยเฉพาะในโซเชียลมีเดีย หลายคนได้เห็นบทบาทของ หนึ่งใน"ทีมที่ปรึกษาด้านการสื่อสารให้กับ ศบค. "นั่นก็คือ "ผศ.ดร.วรัชญ์ ครุจิต รองคณบดีฝ่ายวางแผนและพัฒนา คณะนิเทศศาสตร์และนวัตกรรมการจัดการ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) "ที่ออกมาให้ข้อมูลเกี่ยวกับโควิดฯ ในบริบทต่างๆ หลายครั้ง รวมถึงการทักท้วง การนำเสนอข่าวสารของสื่อมวลชนหลายแห่ง จนทำให้เกิดการแก้ไขข้อมูลที่ถูกต้อง "ทีมข่าวเพจจุลสารราชดำเนินฯ" พูดคุยกับ "ผศ.ดร.วรัชญ์ ครุจิต" ถึงบทบาทการทำงานใน”ทีมที่ปรึกษาด้านการสื่อสารของศบค. “หลังมีข่าวออกมาเมื่อวันจันทร์ที่ 17 พ.ค. ว่าพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีในฐานะประธานศบค. ได้ปรับทีมยุทธศาสตร์สื่อสารของรัฐบาลใหม่ โดยมีการดึง ดร. วรัชญ์ ครุจิต เข้ามาช่วยงานให้การสื่อสารเป็นไปอย่างครอบคลุมและมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ ผศ.ดร.วรัชญ์ นอกจากจะเป็น รองคณบดีฝ่ายวางแผนและพัฒนา คณะนิเทศศาสตร์และนวัตกรรมการจัดการที่นิด้าแล้ว ปัจจุบันก็ยังเป็น หนึ่งในคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสื่อสารมวลชน เทคโนโลยีสารสนเทศ อีกด้วย โดย "ดร.วรัชญ์"กล่าวว่า หลังพลเอกประยุทธ์ นายกรัฐมนตรี มีคำสั่ง ตั้งศบค. ในช่วงประมาณวันที่ 25 มีนาคม 2563 ซึ่งในศบค. จะมีข้าราชการประจำจากหน่วยงานต่างๆ มาร่วมเป็นกรรมการเช่นจากกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงมหาดไทย และมีการตั้งโฆษกศบค.เพื่อสื่อสารแทนศบค. เพราะก่อนหน้านั้นก็มีความสับสนในเรื่องของการสื่อสาร สื่อกันไปคนละทางสองทาง โดยมีการตั้ง นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน ที่เป็นจิตแพทย์ เป็นโฆษกศบค. ที่มีวาทศิลป์ในการพูดที่ทำให้ทุกคนคลายความกังวล ผศ.ดร.วรัชญ์ ครุจิต รองคณบดีฝ่ายวางแผนและพัฒนา คณะนิเทศศาสตร์และนวัตกรรมการจัดการ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า).....จากนั้น ผมก็ได้รับการแนะนำให้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของทีมงานหลังนพ.ทวีศิลป์ เข้าไปเป็นโฆษกศบค.เพราะผมกับหมอทวีศิลป์ รู้จักกันมาก่อนแล้ว ซึ่งผมก็เข้ามาช่วยงาน นพ.ทวีศิลป์เช่นการช่วยเตรียมข้อมูล -คอยให้คำแนะนำเรื่องของการสื่อสาร โดยนอกจากผมที่อยู่ในทีมที่ปรึกษาด้านการสื่อสารให้กับ ศบค. แล้วก็ยังมีอีกหนึ่งคนที่เข้ามาทำงานพร้อมกันคือ”คุณกลอยตา ณ ถลาง” (ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานบริหารความยั่งยืนและสื่อสารองค์กร บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)-กองบก.เพจจุลสารราชดำเนิน) ที่ก็นำประสบการณ์จากภาคเอกชนเข้ามาช่วยทำงาน ส่วนผมก็ไปเสริมด้านวิชาการ ซึ่งการทำงานก็คือ สนับสนุน นพ.ทวีศิลป์ในการแถลงข่าว และการสื่อสารต่างๆ "ดร.วรัชญ์" เล่าถึงการทำงานของทีมที่ปรึกษาด้านการสื่อสารของศบค. กับนพ.ทวีศิลป์ว่า ตอนแรกๆ ช่วงเช้า นพ.ทวีศิลป์จะไปประชุมที่กระทรวงสาธารณสุข จากนั้นก็จะกลับเข้ามาที่ทำเนียบรัฐบาล เพื่อประชุม ศูนย์ปฏิบัติการ ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด -19 หรือศปก.ศบค. ที่เรียกว่า ศบค.ชุดเล็ก จากนั้นก็จะมาประชุมอีกวงหนึ่งที่เรียกว่า Statgtic Communication เพื่อมาลิสต์ประเด็นว่าวันนี้มีประเด็นอะไรบ้างที่ควรพูด โดยบางครั้ง ผมก็เข้าประชุมแทน นพ.ทวีศิปล์ ....จากนั้นสุดท้าย ก็จะมาประชุมวงของเรา ที่เป็นวงเล็กที่สุดก่อนแถลง ก็จะมีผม มีคุณกลอยตา และตัวแทนจากสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย (NBT) โดยตัวแทน NBT ก็จะมาบรีฟว่า วันนี้มีคำถามอะไรบ้างจากสื่อมวลชน เพราะเราไม่ได้รับคำถามสด เราให้สื่อส่งคำถามมา เพื่อจะตอบ ทางเราก็จะมาเตรียมกัน ช่วงแรกก็แถลงตอน 11.30 น. แต่ปัจจุบันขยับมาเป็น 12.30 น. ซึ่งการทำงานทุกวันก็จะเป็นแบบนี้ แต่บางทีก็มีนอกประเด็นบ้างก็จะมีการปรับเปลี่ยน เช่น ผมและนพ.ทวีศิลป์ บางครั้งต้องไปร่วมประชุมกับทาง กสทช. หรือทางกระทรวงสาธารณสุข และคณะทำงานเองก็มีเปลี่ยนไปเรื่อยๆ เช่นมีเรื่องของวัคซีนเข้ามา -แบบนี้ก็เรียกว่าเป็นวอร์รูมทีมสื่อสารของศบค. ? ก็คงได้ ก็เป็นทีมสื่อสาร ก็จะมีอยู่ประมาณ 4-5 คน ส่วนการทำงานของผม ช่วงแรกต้องเข้ามาทุกวัน พอช่วงหลังตัวเลขการติดเชื้อภายในประเทศ เริ่มเป็นศูนย์ บรรยากาศก็เริ่มดีขึ้น เริ่มมีการผ่อนคลาย เปิดอะไรต่างๆ ผมเองก็สังกัดที่นิด้า ผมก็ยังมีงานสอนอะไรอยู่ ไม่ได้มา full time เพราะก่อนหน้านั้น ก็ work from home เพราะผมก็มีภารกิจเช่นกัน โดยพออะไรดีขึ้น ระบบลงตัว เช่นทางกระทรวงสาธารณสุข มีการเตรียมสไลด์ให้ทุกวัน ภารกิจก็เริ่มลดลงจนกลับมาทำงานของตัวเองที่ต้นสังกัด แต่พอมาช่วงนี้ โควิดกลับมาใหม่ ทุกคน work from home ผมก็ต้องกลับมาใหม่ -ที่มีข่าว นายกรัฐมนตรีปรับทีมยุทธศาสตร์สื่อสารของรัฐบาลใหม่ โดยมีการดึงตัว ดร.วรัชญ์ ไปช่วยงานด้วย ทางนายกรัฐมนตรีมีการกำชับเรื่องอะไรเป็นพิเศษหรือไม่? ก็ไม่ได้เป็นทางการอะไร เพียงแต่ว่านายกรัฐมนตรีอยากให้ผมเข้ามาให้คำแนะนำในวงที่กว้างขึ้น จากแค่เป็นทีมงานของคุณหมอทวีศิลป์ ก็อาจเห็นว่าเป็นนักวิชาการและมีหลักการในการสื่อสาร เลยอยากให้ผมขยายบทบาทมากขึ้นในแง่ของการให้คำแนะนำต่อการสื่อสารในภาคส่วนอื่นๆ ด้วย ก็ไม่ได้มีลักษณะเป็นทางการอะไร จริงๆ ก็คล้ายกับที่ทำเหมือนเดิม เพียงแต่ว่า ก็อาจมีงานให้ช่วยมากขึ้น แต่ผมก็ยังช่วยงานคุณหมอทวีศิลป์เหมือนเดิม แต่บางอย่าง นายกรัฐมนตรีก็จะมอบหมายงานมาให้เช่นให้ไปช่วยงานอะไรต่างๆ ก็เป็นงานๆ ไป ส่วนศบค. ปกติผมก็เข้าร่วมประชุมเป็นปกติอยู่แล้ว เพื่อรับฟัง แต่บางครั้งอาจต้องเข้าร่วมประชุมคณะรัฐมนตรีด้วย เพราะก็มีวาระที่เกี่ยวกับเรื่องโควิด จะได้รับทราบในภาพรวม ภาพใหญ่ -ที่มีการแสดงความเห็นผ่านFacebook ส่วนตัว ที่มีการอ้างอิงการเสนอข่าวขององค์กรสื่อหลายแห่ง ส่วนตัวมีการมอนิเตอร์การทำงานของสื่ออย่างไร? พูดตามตรง ทั้งหมดที่ผมทำ ผมทำในนามส่วนตัว ไม่ได้ไปจับตาใครเป็นพิเศษ โดยปกติ ถ้าเป็นเพื่อนผมในFacebook นานมาแล้ว ก็จะเห็นผมทำมาตลอด ผมก็เป็นคนแบบนี้ ถ้าหากว่าเห็นอะไรแล้ว คิดว่ามันใช่หรือไม่ ผมก็จะไป search ดูข้อมูล โดยผมเองก็มีประสบการณ์ในการหา และผมใช้ภาษาอังกฤษได้ ผมก็ไปหาข้อมูลจากแหล่งข้อมูลดั้งเดิม ว่าจริงๆ เขียนว่าอย่างไร ก็ทำให้สามารถเข้าใจได้ โดยด้วยความที่เราก็ทำงานตรงนี้มานาน ก็โอเค ทำให้พอจะรู้เรื่องอยู่ เช่นเรื่องวัคซีน ก็เลยทำ แต่ส่วนนี้ไม่ได้เป็นงานที่เกี่ยวกับที่ทำอยู่ ก็มีอยู่แค่ครั้งเดียวคือกรณีของทีมนักวอลเล่ย์บอลหญิง แต่ก็ไม่ได้เป็นงานที่มาจากการ assign ของหมอทวีศิลป์อะไรทั้งสิ้น ก็แค่คุยกันว่ามันไม่น่าเลยนะ แต่หมอก็ยืนยันว่าไม่ได้พูด ผมก็เลยบอกขอไปฟังเทปแถลงข่าวก่อน ว่าพูดจริงหรือไม่ แล้วก็ปรากฏว่า ไม่มีคำนั้น ผมก็เลยบอกหมอทวีศิลป์ว่า ถ้าแบบนั้น ผมขอเขียน จะได้ถือว่าเป็นการชี้แจง ก็แค่นั้น ไม่ได้ว่าเป็น IO แต่เป็นการใช้หมวกความเป็นนักวิชาการดีกว่า ตอนนั้น ก็นั่งทำอยู่ใช้เวลานานอยู่ ก็ประมาณ 2-3 ชั่วโมง กว่าจะหาข้อมูล กว่าจะเขียน ผมก็ไม่ได้อยากทำเลยนะ ที่ทำอยู่ทุกวันนี้ มันก็เหนื่อยเหมือนกัน แต่ว่ามันก็ต้องทำ เพราะมันผิด และด้วยความเป็นนักวิชาการ ก็เหมือนลูกศิษย์เขียนมาแล้วมันผิด เราจะปล่อยไปได้ยังไง ความเป็นครู โดยก่อนหน้านี้ ผมก็พูดเรื่อง จริยธรรมสื่อมานานแล้ว พวกเรื่อง เฟกนิวส์ ผมก็ทำมานานแล้ว ผมก็เป็นกรรมการศูนย์เฟกนิวส์ของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม บทบาทมีเดีย มอนิเตอร์ภาคพลเมือง อนึ่งก่อนหน้านี้ “ดร.วรัชญ์ ครุจิต”ได้ทักท้วงการพาดหัวข่าว -เสนอข่าวของสื่อมวลชนบางแห่ง ในข่าวเกี่ยวกับเรื่องโควิดฯ เช่น กรณีการนำเสนอข่าวเศรษฐีอินเดียเช่าเหมาลำเครื่องบินมาประเทศไทย-ความคลาดเคลื่อนในการเสนอข้อมูลเรื่อง ประสิทธิภาพของวัคซีนบางยี่ห้อ โดยเฉพาะของแอสตราเซเนกา ที่ไทยจะใช้เป็นหนึ่งในวัคซีนหลักที่ฉีดให้กับประชาชน-การทักท้วงเรื่อง การเสนอพาดหัวข่าวของสื่อบางแห่ง กรณีคำแถลงของ นพ.ทวีศิลป์ ที่พาดพิง ทีมวอลเลย์บอลหญิงไทย เมื่อ”ทีมข่าวเพจจุลสาราชดำเนิน” ถาม ดร. วรัชญ์ว่าบทบาทดังกล่าว คิดว่าอาจทำให้สื่อไม่ค่อยชอบตัวดร.วรัชญ์ หรือไม่ เพราะทำให้เกิดผลต่างๆ เช่น คนที่เกี่ยวข้องต้องหยุดพักการทำหน้าที่ หรือสื่อบางแห่งต้องออกคำแถลงอย่างเป็นทางการกรณีเสนอข้อมูลคลาดเคลื่อน คำถามดังกล่าว “ดร.วรัชญ์”ตอบว่า เอาจริงๆ ก็ไม่เคยมีใครเข้ามาต่อว่าผมตรงๆ แต่มีอย่างหนึ่งที่เขาฝากคือ มีอะไรก็พูดตรงๆ อย่าเหมา อย่าด่าสื่อแบบเหมารวม ว่าสื่อไม่ดี ใครทำไม่ดี ไม่ถูก ก็พูดมาเลย พูดเป็นรายๆ ไป ผมก็ตรงไปตรงมา ไม่ได้มีวาระซ่อนเร้นอะไร ที่พยายามจะไปทำร้ายใคร ผมก็ทำกับทุกสื่อ ไม่ได้เจาะจงกับที่ใดที่หนึ่ง ทุกค่ายทุกสี ก็ทำหมด -เคยได้คุยกับผู้บริหารขององค์กรสื่อที่ท้วงติงหรือไม่ หรือว่าตัวนักข่าวหรือไม่ ? ก็ไม่เคยมีใครติดต่อมาโดยส่วนตัว คือผมเห็นแล้วผมหาข้อมูลพบว่ามันไม่จริง ผมก็โพสต์เลย เพราะว่ามันผิดไปแล้ว คนเข้าใจผิดไปแล้ว จริงๆ ผมก็รู้จักเกือบทุกสื่อ เพราะผมก็เป็นอาจารย์สอนนิเทศศาสตร์มาสิบกว่าปี ก็มีลูกศิษย์อยู่ในค่ายต่างๆ คงรอไม่ได้ที่จะเขียนเข้าไปทักแล้วบอกเขาว่าตรงนี้มันผิด เพราะกว่าเขาจะแก้ กว่าจะตรวจสอบต่างๆ ผมก็คิดว่า ผมก็คิดว่าผมก็เป็นมีเดียมอนิเตอร์ภาคพลเมืองไปเลยแล้วกัน -ในช่วงสถานการณ์โควิดปัจจุบัน สิ่งที่พบในการนำเสนอข้อมูลข่าวสารที่พบว่ามีการเสนอผิดพลาด หรือไม่ตรงกับข้อเท็จจริง ส่วนใหญ่เป็นลักษณะอย่างไร ผิดตรงไหน เช่น การพาดหัวข่าว หรืออะไร? ก็ส่วนหนึ่ง คือเรื่องของ"พาดหัว"มันมีความเสี่ยงอยู่แล้วในการที่อาจจะผิด เพราะการพาดหัว จะต้องย่อความ แล้วพอย่อความ มันก็จะเกิดความเสี่ยงตรงที่มันอาจไม่ตรงกับเนื้อหาจริงๆ ที่มันจะยาวกว่านี้ ถ้าถามว่าอยากจะฝากอะไร ก็อยากฝากว่า ในเรื่องของการพาดหัวเป็นเรื่องสำคัญ เพราะพาดหัวทำให้บิดเบือนข้อเท็จจริงไปในสาระสำคัญ โดยเฉพาะในเรื่องที่สำคัญเช่นเรื่องวัคซีน หรือเรื่องที่ก่อให้เกิดความตื่นตระหนก อันนี้ผมก็ไม่ได้กล่าวหาใคร แต่ผมคิดว่า บางทีนักข่าวพาดหัวมา เออ ก็รู้สึกว่ามันก็เร้าใจดี มันดู ดรามา ดี แบบนี้ มันดูฟาดแรงดี ซึ่งจริงๆในเนื้อหาจริง ๆ มันก็ไม่ขนาดนั้น บางที ผมก็เขียนธรรมดา นักข่าวก็ไปพาดหัว ดร.วรัชญ์ ตอกกลับ ฟาด อะไรแบบนี้ ผมก็เออ ผมไปฟาดใครที่ไหน ผมก็เขียนธรรมดาของผม คือพยายามเร้าอารมณ์มากเกินไปในบางเรื่อง แต่เรื่องปกติ ก็เอาละ ก็อาจยกเว้นได้บ้าง หรือเรื่องวงการบันเทิงคุณก็เขียนไป แต่เรื่องที่มันเป็นความเป็นความตาย เรื่องที่มันเป็นสุขภาพ เรื่องระดับชาติ ก็ขอ ระมัดระวังกัน แล้วเราก็ยังอยู่ในสถานการณ์ฉุกเฉิน ก็ต้องมีความละเอียดอ่อนในเรื่องของการนำเสนอข้อมูลข่าวสาร คือบางที มันก็ไม่ได้ fake แต่ก็ทำให้คนเข้าใจผิดได้ อย่างกรณี"จังหวัดบุรีรัมย์"ที่พาดหัวบอกว่า หากไม่ฉีดวัคซีน จะโดนปรับหรือจำคุก อะไรแบบนี้ ซึ่งความจริงก็ถูกส่วนหนึ่ง แต่มันมีเงื่อนไขที่ว่า ก่อนจะถูกปรับหรือจำคุกได้ มันต้องผ่าน 2-3 เงื่อนไขก่อน ถึงจะถูกปรับหรือจำคุก แต่ไปเขียนแค่ว่า ไม่ฉีดวัคซีน มีโทษถึงปรับ-จำคุก แบบนี้ คนทั่วไป สามัญชนมาอ่าน ก็เข้าใจผิด คือเมื่อใด ที่ทำให้คนเข้าใจผิด ณ เมื่อนั้น ก็คือคุณไม่นำเสนอข้อเท็จจริงที่สมบูรณ์ มันก็ผิดจากหลักการ การเป็นสื่อที่ดีแล้ว -เรื่องของเฟกนิวส์ที่เจอในช่วงโควิดในขณะนี้ โดยเฉพาะจากสื่อโซเชียลมีเดีย เช่นพวกเฟกนิวส์เกี่ยวกับข้อมูลการฉีดวัคซีน อะไรต่างๆ มีเพิ่มขึ้นจากปกติหรือไม่ ในเชิงวิชาการและเชิงสถิติ? ผมก็ไม่ได้ไปเก็บสถิติ เรื่องของจำนวน ผมไม่ทราบ แต่ว่าอะไรที่มันเป็นประเด็นสำคัญ ก็มักจะมีเฟกนิวส์ตามมา ทั้งที่เจตนา และไม่เจตนา อันนี้ก็ไม่เชิงวิชาการ แต่รู้ได้จากเชิงประจักษ์เลยว่า อะไรที่มันเกี่ยวข้องกับการเมือง มันจะเป็นตัวล่อเฟกนิวส์ได้เป็นอย่างดี เพราะว่ามันเป็นประเด็นที่แบ่งข้างแบ่งขั้ว มีอารมณ์เข้ามาเกี่ยวข้อง มีอคติ มีagenda ในการใส่ความอีกฝ่ายหนึ่ง อะไรแบบนี้ คือเรื่องที่เกี่ยวกับการเมือง หากไปดู จะพบเยอะมาก -การติดตามการเสนอข่าวของสื่อ มีการติดตามดูอย่างไร เลือกดูเฉพาะสื่อกระแสหลักหรือสื่ออื่นๆที่เกิดขึ้นจำนวนมากในโซเชียลมีเดีย? คือผมเป็นคนดูข่าวเยอะ ผมไม่อ่านอย่างอื่น ผมอ่านแต่ข่าวทั้งวัน เพราะผมใช้โซเชียลมีเดีย ผมก็กด follow เพจข่าว ผมเห็นข่าวอะไร ซึ่งด้วยความเป็นนิสัยของผม หรือเป็น"ต่อมความสงสัย" ด้วยประสบการณ์และความสนใจส่วนตัว เห็นแล้ว สงสัยว่า มันใช่หรือไม่ ถ้าหากว่ามันไม่เมคเซ้นส์ ผมก็จะเริ่มหาแล้วว่า มันใช้หรือไม่ เพราะผมก็เชื่อว่าในการที่การช่วยแก้ไขข้อมูลให้ถูกต้อง ก็เป็นการสร้างประโยชน์ให้กับสังคมและผู้ใช้งานโซเชียลมีเดีย ที่ก็เป็นหน้าที่ของผู้ใช้สื่อที่ดี ก็เพียงเท่านั้น ไม่ได้ตั้งใจจะไปมอนิเตอร์อะไรเป็นจริงเป็นจัง แต่ช่วงหลังก็เริ่มมีคนส่งข้อมูลมาให้เรื่อยๆ มาถามว่า เรื่องนี้ใช่หรือไม่ ก็ยอมรับว่าก็ได้ข้อมูลมาเพราะบางอย่างผมก็ไม่รู้ ก็ปล่อยไปก่อนเพราะยังไม่รู้ แต่บางอย่าง ผมก็ตะหงิด ๆ ผมก็มาสืบต่อ จนรู้ว่า ตกลงมันแบบนี้ -ในการเขียนหรือโพสต์บนfacebook ในเรื่องที่เป็นทางวิชาการเช่น เรื่องวัคซีน เรื่องข้อมูลทางการแพทย์โดยเฉพาะจากต่างประเทศ จะไปตรวจหาข้อมูลจากแหล่งใด แปลจากต่างประเทศหรือว่ามีแหล่งข้อมูลอยู่? ก็ใช่ครับ ด้วยประสบการณ์และทักษะ ก็หาจาก google ปกติ ไม่ได้มีเครื่องมือ ไม่ได้มี social listening อะไรเลย แต่อย่างมาก เช่นสมมุติว่าผมรู้จักใครบางคนที่อยู่หน่วยงานภาครัฐต่างๆ ที่ส่วนมากก็จะเป็นกระทรวงสาธารณสุข ก็อาจจะมีการไปสอบถาม แต่ว่าก็น้อยครั้งมาก ส่วนมากผมก็จะทำตอนกลางคืน หากไปดูในfacebook ที่ผมโพสต์ จะโพสต์ตอนกลางคืนเกือบทั้งนั้น เช่นเที่ยงคืนก่อนนอน ผมมีเวลาผมก็นั่งไล่ทำไปเรื่อย เพราะผมก็ไม่ได้มีเวลาไปถามใคร ก็หาเท่าที่หาได้ โดยบางอันที่เราเห็นว่ามันมีมูลที่เราต้องแก้ไข เราก็ทำไป -มองการสื่อสารของภาครัฐ ในช่วงวิกฤตโควิดอย่างไรบ้าง ที่เป็นเรื่องของการสื่อสารในภาวะวิกฤต ที่คนก็มองกันว่า ภาครัฐมีปัญหาในการสื่อสาร โดยเฉพาะเรื่องไม่บูรณาการกัน ระหว่างหน่วยงานรัฐเช่น ศบค.-กระทรวงสาธารณสุข -กรุงเทพมหานคร ข้อมูลบางเรื่องไม่ตรงกัน? ก็แน่นอนว่าในความวิกฤต มันก็มีความวุ่นวาย เป็น chaos ก็เป็นธรรมชาติ ที่มันจะเกิดการไม่ลงรอยกัน ไม่เป็นเอกภาพของการสื่อสาร มันเป็นธรรมชาติอยู่แล้ว ซึ่งมันก็ อาจจะไม่ได้มีความผิดที่ใครคนใดคนหนึ่งก็ได้ เพียงแต่ว่ามันต้องมีการจัดการ โดยถ้าคนที่มีประสบการณ์และมีหลักการที่ดี มันก็จะช่วยได้ โดยเมื่อเกิดวิกฤต คนก็มักจะมองข้ามการสื่อสาร ความสำคัญของการสื่อสาร โดยมองว่าต้องไปจัดการที่ปัญหาก่อน โดยบางทีก็ลืมมองข้ามความสำคัญของการสื่อสารในภาวะวิกฤต ตรงนี้หากอยากจะฝาก ก็คือว่าทุกองค์กรทุกหน่วยงาน ก็ควรต้องมี"แผนการสื่อสารในภาวะวิกฤต" เตรียมพร้อมเอาไว้ และสิ่งหนึ่งที่สำคัญ ในส่วนของสื่อ ก็คือ การจัดการการสื่อสารกับสื่อมวลชน เพราะสื่อมวลชนก็จะเป็นพันธมิตร เป็นเครือข่ายตัวช่วยที่ดีที่สุด หรืออาจเป็นผู้ที่ทำลายเราก็ได้ในภาวะการสื่อสาร ถ้าหากว่าจัดการได้ไม่ดี -คิดว่าภาครัฐ ควรต้องมีการปรับอะไรหรือไม่ในการให้ข้อมูลหรือข่าวเรื่องโควิดในช่วงนี้เช่น ล่าสุดที่เกิดปัญหากรณีเรื่องนโยบาย walk-in การฉีดวัคซีน ที่ดูเหมือนทำให้ประชาชนยังอาจเข้าใจอะไรผิด เรื่องการwalk -in ตรงนี้ถือเป็นบทเรียนอะไรหรือไม่? อย่างที่บอก คือบางทีมันควบคุมยาก โดยสิ่งหนึ่งที่การสื่อสารทำได้ ก็คือ การสร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง แต่ว่าการบริหารจัดการเพื่อให้มันมีเอกภาพ ก็ต้องมีการบริหารจัดการจากภายในด้วย ซึ่งอันนี้ ก็ยอมรับว่ามันก็มีความยากอยู่ เพราะว่าแต่ละคนก็มีพื้นที่ของตัวเอง กรุงเทพมหานคร ก็มีพื้นที่ของเขา กระทรวงสาธารณสุข ก็มีพื้นที่ของเขา ก็อาจทำให้มีความติดขัดอยู่บ้าง แต่ว่าหน้าที่ของการสื่อสาร คือพยายาทำยังไงให้ออกมา โดยไม่ว่าจะพูดกี่คนก็ตาม ขอให้ออกมาในประเด็นเดียวกัน ในแง่มุมที่ไม่สร้างความสับสน -ในฐานะกรรมการปฏิรูปประเทศ ด้านสื่อฯ ด้วย คิดว่าการปฏิรูปสื่อเรื่องเร่งด่วน ที่ควรต้องทำคืออะไร ? เรื่องเฟกนิวส์ ก็เป็นสิ่งที่มีการวิเคราะห์และเป็นประเด็นสำคัญ ที่ต้องแก้ไขโดยเร่งด่วน ซึ่งกรรมการปฏิรูปสื่อฯ ก็เคยศึกษาไว้ประมาณสามประเด็นเช่น เรื่องของการสร้างความรู้เท่าทันสื่อ -การพัฒนาศักยภาพบุคลากรในภาครัฐ เรื่องของการประชาสัมพันธ์ภาครัฐที่ดีขึ้น -เรื่องของการจัดทำฐานข้อมูล -การทำงานของสื่อในยามที่สังคมเกิดสภาวะวิกฤต มองว่าสื่อควรทำหน้าที่อย่างไร ในเรื่องการตรวจสอบข้อมูลและการเสนอข่าวสารที่รอบด้าน และ มองยังไง ที่บางคนบอกว่า สื่อเอง บางทีก็เป็นคลัสเตอร์เฟกนิวส์เสียเอง? ถ้าเปรียบเทียบว่าเฟกนิวส์คือไวรัส สื่อก็สามารถเป็นคลัสเตอร์เฟกนิวส์ได้ เพราะว่าสื่อ สามารถกระจายได้อย่างรวดเร็ว ไปยังจำนวนคนที่รับข่าวที่เป็นหลักล้าน แต่ว่าสื่อก็สามารถเป็นวัคซีนได้เช่นกัน ด้วยการปราบข้อมูลเท็จ เพราะว่าสื่อ ก็ต้องรู้ว่าสิ่งไหนจริงหรือไม่จริง แล้วก็สร้างภูมิคุ้มกันฉีดให้เขา ช่วยกันมอนิเตอร์กันเองก็ได้ ทำข่าวด้วยความระมัดระวัง ไม่ใช่แค่ว่าเป็นผู้ส่งข้อมูล แต่ควรต้องเป็นผู้ที่ตรวจสอบข้อมูลด้วย ไม่ใช่ว่าใครพูดอะไรก็นำเสนอ ไปหยิบจากเพจต่าง ๆ แต่สื่อควรเป็นผู้ที่วิเคราะห์และทำความเข้าใจให้กับประชาชน ในภาวะวิกฤตที่ประชาชนเกิดความสับสน บางครั้งปัญหามันเกิดจาก information overload (ภาวะข้อมูลท่วมท้น ) เกิดจากการที่สื่อจำนวนมากเอาแต่ส่งข้อมูล โดยไม่มีการสังเคราะห์ ดังนั้นสิ่งที่อาจจำเป็นยิ่งกว่าข้อมูล ก็คือ การสร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง ที่มา: สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย https://www.tja.or.th/view/news/1331441