วันที่ 23 พ.ค.64 นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในรัฐบาลของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร โพสต์เฟซบุก ระบุว่า
" ตามที่ปรากฏข่าวในสื่อมวลชนหลายแหล่ง เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2564 คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบร่างพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคมจากการระบาดระลอกใหม่ของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. .. เพื่อกู้เงินในวงเงิน 7 แสนล้านบาท นั้นเนื่องจากพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 ซึ่งกู้เงิน 1 ล้านล้านบาท นั้น มีบทบัญญัติที่นอกเหนือจากเรื่องการกู้เงิน โดยได้บรรจุกระบวนการใช้จ่ายเงินของรัฐเข้าไว้ด้วย
โดยมีการจัดตั้งคณะกรรมการขึ้นมาให้มีอำนาจเบ็ดเสร็จครบวงจรเกี่ยวข้องกับการใช้จ่ายเงินดังกล่าว ทำให้การใช้จ่ายเงินของรัฐมีความหละหลวม ไม่มีขบวนการตรวจสอบให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย อันเป็นการละเมิดหลักการวินัยการเงินการคลัง และเป็นที่เชื่อได้ว่า พ.ร.ก. ฉบับใหม่ก็จะมีข้อกำหนดเช่นเดียวกัน
นายธีระชัย ระบุว่ามีความห่วงใยในหลักการบริหารการคลังของประเทศ จึงจะยื่นคำร้องขอให้ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยเรื่องนี้ และเนื่องจากเป็นประเด็นที่สำคัญ จึงใคร่ขอให้องคมนตรีกรุณานำข้อทักท้วงดังกล่าวและของทุกฝ่ายไปประกอบการพิจารณาให้รอบด้าน โดยจะยื่นคำร้องในวันจันทร์ที่ 24 พฤษภาคม 2564
“ผมเองไม่ขัดข้องที่รัฐบาลจะกู้เงิน เพราะตระหนักว่าประชาชนมีความเดือดร้อน และประชาชนจำเป็นต้องใช้เงินเพื่อการแก้ปัญหาโควิดอีกมาก แต่เห็นว่าการใช้จ่ายเงินของรัฐ จำเป็นต้องมีการควบคุมตรวจสอบตามหลักวินัยการเงินการคลัง ผมขอย้ำว่า ไม่คัดค้านการที่รัฐบาลพลเอกประยุทธ์จะกู้เงิน แต่ขอแนะนำให้แก้ไขร่าง พ.ร.ก. โดยขอให้ใช้หลักการเดียวกับ พ.ร.ก. สมัยรัฐบาลคุณอภิสิทธิ์ ที่กู้เงินเพื่อโครงการไทยเข้มแข็ง และ พ.ร.ก. สมัยรัฐบาลคุณยิ่งลักษณ์ ที่กู้เงินเพื่อบริหารจัดการน้ำท่วมใหญ่ซึ่งทั้งสองกรณี กำหนดให้การใช้จ่ายเงินเป็นไปตามครรลองปกติ อันเป็นไปตามหลักวินัยการเงินการคลังผมเห็นว่า
การที่รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ ร่าง พ.ร.ก. ที่บัญญัติวิธีใช้จ่ายโดยจัดตั้งคณะกรรมการขึ้นมาให้มีอำนาจแบบเบ็ดเสร็จ คัดเลือกโครงการเอง กำกับโครงการเอง กำหนดระเบียบบริหารโครงการเอง นั้น ทำให้มีช่องโหว่หละหลวม ขาดการตรวจสอบโดยบุคคลที่สาม ไม่ตรงหลักวินัยการเงินการคลัง จึงขอเสนอให้มีการปรับปรุงแก้ไข”