"ศบค." เผย กราฟผู้ติดเชื้อ กทม. ยังสูง ! วางใจไม่ได้ แบ่ง 6 โซนรพ.ดูแลทั่วกรุงเทพฯ ย้ำทุก
ชีวิตในประเทศไทยที่เป็นกลุ่มเสี่ยงมีสิทธิ์ตรวจโควิด-19 ทุกคน
เมื่อเวลา 12.30 น. วันที่ 22 พ.ค. ที่ทำเนียบรัฐบาล นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. แถลงว่า การระบาดในพื้นที่กทม.นั้นจะเห็นว่ากราฟยังขึ้นสูงอยู่ เราอยู่ในสภาวะที่ยังไม่น่าไว้วางใจ จะเป็นสายพันธุ์ใหม่หรือเก่า แต่การติดเชื้อที่แพร่กระจายโดยเร็วประชาชนต้องตื่นตัวแต่ไม่ตื่นตระหนก เพื่อควบคุมการติดเชื้อ ทุกท่านต้องช่วยกัน เราอยู่ในสังคมเดียวกัน โดยเฉพาะกทม.ที่มีความแออัดจึงไม่แปลกที่จะเห็นกราฟเช่นนี้ และหากดูเป็นจำนวนคลัสเตอร์ ขณะนี้มีคลัสเตอร์ที่อยู่ระหว่างการดำเนินการควบคุมโรค 30 คลัสเตอร์ ดูทิศทางยังทะแยงขึ้น โดยคลัสเตอร์ใหม่วันนี้ คือแคมป์คนงานทั้งสิ้น กระจายในเขตคลองเตย ห้วยขวาง บางคอแหลม ปทุมวัน และบางรัก จึงมอบหมายให้กทม.บูรณาการข้อมูลเหล่านี้อย่างละเอียด ขณะที่จำนวนเขตที่มีคลัสเตอร์เหล่านี้ก็เพิ่มขึ้นด้วยเช่นกันอยู่ที่ 24 เขต ประมาณครึ่งหนึ่งของกทม. เขตที่เหลือที่ไม่ใช่การติดเชื้อเป็นกลุ่มใหญ่ก็ขอให้ระมัดระวัง
นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า ขณะนี้ยังมีการคิดถึงการนำส่งผู้ติดเชื้อไปยังโรงพยาบาลต่างๆ โดยแบ่งพื้นที่กทม.ออกเป็น 6 โซน คือโรงพยาบาลที่ดูแล กทม.โซนเหนือ จะเป็นโรงพยาบาลเฉลิมพระเกียรติ โรงพยาบาลภูมิพลอุลยเดช โซนตะวันออกโรงพยาบาลรามาธิบดี โรงพยาบาลนพรัตน์ราชธานี โซนใต้ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ โซนธนบุรีใต้ โรงพยาบาลวชิรพยาบาล ธนบุรีเหนือ โรงพยาบาลศิริราช และกทม.กลาง โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า และโรงพยาบาลราชวิถี กันไว้สำหรับผู้ป่วยสีเหลือง สีแดง สำหรับการค้นหาเชิงรุกในชุมชนเมื่อวันที่ 20 พ.ค. ตัวเลขที่น่าสนใจคือพื้นที่ตลาดบางกะปิ ที่ตรวจหาเชื้อ 845 คน พบเชื้อ 137 คน คิดเป็น 16.21 เปอร์เซ็น จึงขอให้คนที่อยู่โดยรอบตลาดให้ความร่วมมือทีมสอบสวนโรคและต้องสวมหน้ากากตลอดเวลา ส่วนคลัสเตอร์ที่ต้องมีการเฝ้าระวังมีทั้งหมด 28 แห่ง แบ่งเป็นกลุ่มเฝ้าระวังสูงสุด 20 คลัสเตอร์ กลุ่มเฝ้าระวัง 2 คลัสเตอร์ และที่พบใหม่ 6 คลัสเตอร์ ส่วนใหญ่เป็นแคมป์คนงาน
เมื่อถามถึง การระบาดของเชื้อโควิดในแรงงานต่างด้าวโดยเฉพาะในแคมป์คนงานต่างๆ มีพื้นที่ตรวจเพื่อรองรับแรงงานต่างด้าวตรงนี้มากน้อยแค่ไหน นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า ในที่ประชุมได้พูดคุยกันถึงนโยบายของนายกรัฐมนตรีที่บอกว่าทุกคนที่อยู่ในประเทศไทยต้องได้รับการตรวจและดูแลเหมือนกันหมด เพราะฉะนั้นขอให้ทั้ง 3 ส่วนคือ 1.ประชาชนที่เป็นทั้งคนไทยและคนต่างด้าวซึ่งมีสิทธิหรือไม่มีสิทธิก็แล้วแต่ ขอให้แสดงตัว ถ้าสงสัยว่าตัวเองอยู่ในกลุ่มเสี่ยงและอยู่ในพื้นที่นั้นและต้องการตรวจ ขอให้เดินไปที่หน่วยงานด้านสาธารณสุขที่อยู่ใกล้หรือกทม.ขอให้แจ้งไปเลย การแสดงตัวนี่จะขอบคุณมากๆ และไม่ต้องกลัวว่าจะไม่ได้ตรวจ ขอให้ไปแจ้งแล้วเจ้าหน้าที่จะดูแลให้
2.กลุ่มผู้ประกอบการ ซึ่งถือว่ามีส่วนที่จะต้องรับผิดชอบคนงานที่ได้นำพามา ถ้าผู้ประกอบการสามารถแบ่งเบาภาระเรื่องค่าใช้จ่ายได้ก็จะขอบคุณมาก ถ้าผู้นั้นเป็นผู้ที่มีประกันตน ไม่ว่าจะนอกระบบหรือในระบบ ถ้าสามารถที่จะดูแลได้ก็ขอฝากให้ช่วยดูแล แต่ถ้าดูแลไม่ได้ก็ขอให้พาแรงงานของท่านไปตรวจ ภาครัฐก็จะดูแลให้
3.ภาคของรัฐที่ดูแลเรื่องนี้ ไม่ต้องกังวลเรื่องงบประมาณ กรมควบคุมโรคได้แจ้งมาแล้วว่า ได้ของบประมาณไปที่นายกรัฐมนตรี ซึ่งท่านก็ให้มาและมีก้อนหนึ่งที่จะสามารถดูแลเป็นค่าใช้จ่ายในการตรวจแล็บเพื่อที่จะแยกคนกลุ่มป่วยกับกลุ่มที่ไม่ป่วยออกมา เพราะฉะนั้นแม้จะมีความยุ่งยากอย่างไรก็จะสามารถนำไปสู่การปฏิบัติได้ ดังนั้นขอให้มั่นใจว่า 100 เปอร์เซ็นของคนที่อยู่ในผืนแผ่นดินไทยจะได้รับการดูแลอย่างดี