ผู้สื่อข่าวรายงาน ว่า ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษย์ชน ได้ยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว 2 แกนนำราษฎร ได้แก่ นายอานนท์ นำภา และ ไมค์ นายภาณุพงศ์ จาดนอก หลังเคยยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวให้อานนท์มาแล้ว 7 ครั้ง และอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่ให้ประกัน 2 ครั้ง กรณีภาณุพงศ์ ครั้งนี้เป็นยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวครั้งที่ 6 โดยศาลสั่งงดไต่สวนคำร้องขอประกันตัวของเขาผ่านวีดีโอคอนเฟอเรนซ์เมื่อวันที่ 13 พ.ค. 2564 เนื่องจากกรมราชทัณฑ์และสำนักงานศาลยุติธรรมทำหนังสือแจ้งการงดเบิกตัวผู้ต้องขังมาที่ศาล รวมไปถึงการพิจารณาคดีผ่านคอนเฟอเรนซ์ไว้จนถึงวันที่ 27 พ.ค. 2564 เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโควิดให้อยู่ในพื้นที่ที่เรือนจำกำหนด
สำหรับการยื่นประกันครั้งนี้ได้เสนอหลักทรัพย์ประกันเป็นเงินสดคนละ 2 แสนบาท โดยมี นางสาวชลิตา บัณฑุวงศ์ อาจารย์ประจำภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นนายประกัน พร้อมทั้งระบุเหตุผลสำคัญ คือ สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร โดยหากการไต่สวนคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวไม่เกิดขึ้นภายในสิ้นเดือนพ.ค. 2564 ทั้ง นายอานนท์ และนายภาณุพงศ์อาจต้องกลับเข้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร และเสี่ยงต่อการติดเชื้อซ้ำจนอาจได้รับอันตรายถึงแก่ชีวิต และกระทบสิทธิขั้นพื้นฐานในกระบวนการยุติธรรมของจำเลยตามรัฐธรรมนูญ
อย่างไรก็ตาม นายมุขเมธิน กลั่นนุรักษ์ ผู้พิพากษาหัวหน้าแผนกคดีค้ามนุษย์ในศาลอาญา มีคำสั่งให้ไต่สวนคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวอานนท์และภาณุพงศ์ในวันที่ 1 มิ.ย. 2564 เวลา 10.30 น. วันเดียวกับที่นัดไต่สวนคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวของนายชูเกียรติ แสงวงค์ หรือจัสติน ผู้ต้องหาคดีมาตรา 112 ซึ่งถูกฝากขังในชั้นสอบสวน คดีแปะกระดาษบนรูปรัชกาลที่ 10 หน้าศาลฎีกา โดยไม่ได้ระบุว่า การไต่สวนคำร้องขอปล่อยตัวครั้งนี้จะทำผ่านวีดิโอคอนเฟอเรนซ์หรือเบิกตัวทั้งสองมาที่ศาล
ย้อนรปะวัติการถูกขังของนายอานนท์ และนายภาณุพงศ์ หลังจากอัยการยื่นฟ้องคดี 19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร ทางนายอานนท์ถูกขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ มาตั้งแต่วันที่ 9 ก.พ. 2564 รวม 102 วัน ส่วนนายภาณุพงศ์ถูกนำตัวไปขังที่เรือนจำพิเศษธนบุรีก่อนย้ายมาที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ นับถึงวันนี้ 75 วันแล้ว ปัจจุบันทั้งคู่ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ในระหว่างการถูกขังที่เรือนจำ และกำลังเข้ารับการรักษาอยู่ที่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์