ผสญ.1 ติดตามความก้าวหน้าและประชุมตรวจรับงานจ้างก่อสร้างอุโมงค์ส่งน้ำช่วงแม่แตง – แม่งัด – แม่กวง ทั้ง 6 สัญญา โครงการเพิ่มปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำเขื่อนแม่กวงอุดมธารา จ.เชียงใหม่
เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายจิตะพล รอดพลอย ผู้อำนวยการสำนักงานก่อสร้างชลประทานขนาดใหญ่ที่ 1 สำนักพัฒนาแหล่งน้ำขนาดใหญ่ กรมชลประทาน พร้อมด้วยคณะกรรมการตรวจการจ้าง , ที่ปรึกษาควบคุมงาน ลงพื้นที่ติดตามความก้าวหน้าและประชุมตรวจรับงานจ้างก่อสร้างอุโมงค์ส่งน้ำช่วงแม่แตง – แม่งัด – แม่กวง ทั้ง 6 สัญญา โครงการเพิ่มปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำเขื่อนแม่กวงอุดมธารา จังหวัดเชียงใหม่ ณ ห้องประชุมสำนักงานก่อสร้างชลประทานขนาดใหญ่ที่1 ตำบลสันโป่ง อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่
กรมชลประทานได้ดำเนินการก่อสร้างเขื่อนแม่กวงอุดมธาราและระบบส่งน้ำ ก่อสร้างแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2536 ความจุอ่างเก็บน้ำ 263 ล้าน ลบ.ม. มีพื้นที่ชลประทาน 175,000 ไร่ มีน้ำท่าไหลเข้าอ่างเก็บน้ำปีละ 202 ล้าน ลบ.ม. แต่ปัจจุบันการเติบโตด้านการท่องเที่ยว ภาคอุตสาหกรรม และการขยายตัวของชุมชนในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่และจังหวัดลำพูนเป็นไปอย่างรวดเร็วส่งผลให้มีความต้องการใช้น้ำในปริมาณที่สูงกว่าปริมาณน้ำต้นทุนในอ่างเก็บน้ำเขื่อนแม่กวงอุดมธารา ทำให้เกิดปัญหาการขาดแคลนน้ำเป็นปริมาณปีละ 137 ล้านลูกบาศก์เมตร และในอนาคต (20 ปีข้างหน้า) มีแนวโน้มว่าจะขาดแคลนน้ำมากถึงปีละ 173 ล้านลูกบาศก์เมตร เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของราษฎรในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่และจังหวัดลำพูน และเพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำทั้งในด้านเกษตรกรรม อุปโภค บริโภค การท่องเที่ยว และอุตสาหกรรม
กรมชลประทาน จึงได้เร่งรัดดำเนินโครงการเพิ่มปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำเขื่อนแม่กวงอุดมธารา จังหวัดเชียงใหม่ โดยมีระยะเวลาดำเนินโครงการ 6 ปี (ปีงบประมาณ 2555 – 2560) วงเงินค่าก่อสร้าง 15,000 ล้านบาท ต่อมาคณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2560 เห็นชอบให้ขยายระยะเวลาดำเนินการก่อสร้างจากระยะเวลาเดิม 6 ปี เป็น 11 ปี (ปีงบประมาณ 2555 – 2564) ภายใต้กรอบวงเงินเดิม และเพื่อให้เป็นไปตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ของรัฐบาลโดยมีนโยบายแก้ไขปัญหาภัยแล้งและเร่งรัดพื้นที่กักเก็บน้ำ มุ่งแก้ปัญหาน้ำท่วมและภัยแล้งอย่างยั่งยืน
กรมชลประทานจึงได้ดำเนินแนวทางการขับเคลื่อนตามภารกิจให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ของรัฐบาล โดยเร่งเดินหน้าสร้างความมั่นคงทางด้านน้ำ ด้วยการขับเคลื่อนโครงการเพิ่มปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำเขื่อนแม่กวงอุดมธารา จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นโครงการขนาดใหญ่ที่สำคัญตามแนวทาง RID. No.1 Express 2020 โดยได้มอบหมายให้สำนักงานก่อสร้างชลประทานขนาดใหญ่ที่ 1 สำนักพัฒนาแหล่งน้ำขนาดใหญ่เร่งรัดดำเนินการโครงการให้แล้วเสร็จโดยเร็วเพื่อจะให้ราษฎรในพื้นที่มีชีวิตที่ดีขึ้น
ลักษณะโครงการเป็นการก่อสร้างอุโมงค์ส่งน้ำในชั้นหินที่มีความยาวมากที่สุดในประเทศไทยความยาวประมาณ 49 กิโลเมตร ทำหน้าที่ผันน้ำส่วนเกินช่วงฤดูน้ำหลาก (เดือนกรกฎาคม – เดือนพฤศจิกายนของทุกปี) ในลำน้ำแม่แตงผ่านอุโมงค์ช่วงแรกเรียกว่าอุโมงค์ส่งน้ำช่วงแม่แตง - แม่งัด ความยาวประมาณ 26 กิโลเมตร มาพักไว้ที่เขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชลจากนั้นปริมาณน้ำส่วนนี้จะรวมกับปริมาณน้ำบางส่วนของเขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชลส่งผ่านอุโมงค์ช่วงที่ 2 เรียกว่าอุโมงค์ส่งน้ำช่วงแม่งัด - แม่กวง ความยาวประมาณ 23 กิโลเมตร ผันไปลงอ่างเก็บน้ำเขื่อนแม่กวงอุดมธาราได้ปริมาณน้ำปีละ 160 ล้านลูกบาศก์เมตร หากโครงการดังกล่าวก่อสร้างแล้วเสร็จ จะสามารถเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนของอ่างเก็บน้ำเขื่อนแม่กวงอุดมธาราได้เฉลี่ยประมาณ 160 ล้านลูกบาศก์เมตร เพื่อตอบสนองความต้องการภาคเกษตรกรรม 323 ล้านลูกบาศก์เมตร และรักษาระบบนิเวศน์ 12.61 ล้านลูกบาศก์เมตร และเป็นการช่วยเพิ่มเสถียรภาพการส่งน้ำช่วงฤดูฝน 175,000 ไร่ ของโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาเขื่อนแม่กวงอุดมธารา และเพิ่มพื้นที่การเพาะปลูกในช่วงฤดูแล้งในเขตชลประทานของโครงการฯ จาก 17,060 ไร่ เป็น 76,129 ไร่ นอกจากนี้ยังช่วยบรรเทาอุทกภัยในเขตตัวเมืองเชียงใหม่ได้ประมาณร้อยละ 70 และสามารถส่งน้ำไปช่วยพื้นที่ชลประทานของโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาแม่แตงได้อีกกว่า 25 ล้านลูกบาศก์เมตร เพิ่มพื้นที่การเพาะปลูกในช่วงฤดูแล้งของโครงการฯ แม่แตงได้อีกกว่า 14,000 ไร่