เครื่องผสมเกลือไอโอดต้นแบบจากพระราชดำริ ประชาสัมพันธ์สำนักงานงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา(สอศ.)กระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.)ชวนไปเยือนวิทยาลัยเทคนิคเชียงใหม่ ตามรองนายกรัฐมนตรี พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการจัดการเรียนการสอน การดำเนินงานตามนโยบายของศธ. ทั้งนี้ เพื่อเป็นการผลักดันให้เข้าสู่ยุคประเทศไทย 4.0 โดยในด้านการศึกษาคณะรัฐบาลยินดีให้การสนับสนุนการศึกษาทั้งด้านวิชาการ และวิชาชีพเพื่อเตรียมความพร้อมนักเรียน นักศึกษาให้รองรับอุตสาหกรรมใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต จุดหมายของผมคือไปสัมผัสเครื่องผสมเกลือไอโอดีนตามพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่9 และเครื่องบำบัดน้ำเสียจำลองแบบกังหันชัยพัฒนาเป็นต้น ณ วิทยาลัยเทคนิคเชียงใหม่ เกี่ยวกับสถานศึกษาสังกัดสอศ.ดร.สุเทพ ชิตยวงษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.)บอกว่า เชียงใหม่เป็นจังหวัดที่มีขนาดใหญ่และมีความสำคัญจังหวัดหนึ่งของประเทศไทย มีประวัติศาสตร์ยาวนานมากว่า 720 ปี มีความเป็นกัลยาณมิตร เป็นที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติ ปัจจุบันเป็นเมืองท่องเที่ยวอันดับต้นๆ ของประเทศ เป็นศูนย์กลางความเจริญต่างๆ เป็นศูนย์กลางธุรกิจหลากหลายประเภท เป็นศูนย์อุตสาหกรรมและการลงทุน ศูนย์คมนาคมของภูมิภาค และเป็นศูนย์กลางการบริหารราชการแผ่นดิน เลขาธิการกอศ.บอกอีกว่าสถานศึกษาอาชีวศึกษาจังหวัดเชียงใหม่มี ทั้งสิ้น 18 แห่ง ทุกแห่งได้รับใช้เบื้องยุคลบาทในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช พระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์ ด้วยความจงรักภักดี ดัวยความปลื้มปีติอันหาที่สุดมิได้ ได้สนองนโยบายของรัฐบาลในการช่วยเหลือประชาชนในโครงการต่างๆ การลงพื้นที่ของรองนายกรัฐมนตรีในครั้งนี้ สถานศึกษาอาชีวศึกษาจังหวัดเชียงใหม่ ได้จัดแสดงนิทรรศการ ผลงาน นวัตกรรม สิ่งประดิษฐ์สนองสืบสานพระราชปณิธาน อาทิ กังหันชัยพัฒนา ศาสตร์พระราชา งานบริการวิชาการตรวจสุขภาพ บริการ 108 อาชีพ นวัตกรรมอาหาร ศูนย์เรียนรู้คนพิการ เครื่องผสมเกลือไอโอดีน สนองพระราชดำริในหลวงรัชกาลที่ 9 เมื่อครั้ง พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จพระราชดำเนินไปยังพื้นที่ต่างๆ ทรงทราบว่าราษฎรในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย มีปัญหาขาดสารไอโอดีน ทำให้เป็น “โรคคอพอก” จำนวนมาก จึงมีพระราชกระแสรับสั่งให้กรมอนามัยหาสาเหตุ และพบว่าเกลือที่ราษฎรบริโภคเป็น “เกลือบก” ที่มีสารอาหารไม่เพียงพอ จึงมีพระราชดำริให้วิทยาลัยเทคนิคเชียงใหม่ คิดค้นและสร้างเครื่องผสมเกลือไอโดดีนขึ้น ก่อนแจกจ่ายไปยังพื้นที่ต่างๆ เพื่อผลิตเกลือไอโอดีนให้กับประชาชน พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรเครื่องผสมเกลือไอโอดีนต้นแบบ ที่วิทยาลัยเทคนิคเชียงใหม่ เมื่อปี 2533 ได้พระราชทานคำแนะนำในการปรับปรุงเครื่องต้นแบบ ว่าควรให้มีความคงทน และใช้วัสดุราคาถูก ซึ่งวิทยาลัยเทคนิคเชียงใหม่ได้ไปปรับแก้ ก่อนน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายเครื่องผสมเกลือไอโอดีนเครื่องแรกของไทย ในปี 2536 เกิน30 ปี ที่มีพระราชดำริให้จัดสร้างเครื่องผสมเกลือไอโอดีนขึ้น วิทยาลัยเทคนิคเชียงใหม่ได้สร้างแจกจ่ายออกไปแล้วมากกว่า 100 เครื่อง ทุกภาคของประเทศ มีกำลังการผลิตวันละ 8 ตันต่อเครื่อง โดยการผสมเกลือไอโอดีน จะใช้เกลือเม็ด 1 กิโลกรัม ผสมโปแตสเซียมไอโอเดท 50 มิลลิกรัม เพื่อให้ผู้บริโภคได้รับสารไอโอดีนวันละ 150 ไมโครกรัมต่อคนต่อวัน จากพระอัจฉริยภาพของพระองค์ ยังผลให้วิกฤตผู้ป่วยโรคคอพอกในประเทศไทยหมดไป ทุกวันนี้ วิทยาลัยเทคนิคเชียงใหม่ ยังคงผลิตเครื่องผสมเกลือไอโอดีน โดยใช้ต้นแบบจากเครื่องที่ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระราชทานคำแนะนำ แจกจ่ายต่อไป โดยแบ่งเป็นเครื่องขนาดใหญ่ ใช้ต้นทุนเครื่องละ 70,000 บาท และเครื่องขนาดเล็กเครื่องละ 20,000 บาท สร้างความภูมิใจให้กับนักศึกษาที่ได้มีส่วนร่วมเป็นอย่างยิ่ง ความสนพระราชหฤทัยเรื่องปัญหาการขาดสารไอโอดีนของพระองค์ นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณ ที่ทรงห่วงใยราษฎรในทุกแง่มุมอย่างแท้จริง หนึ่งผู้ได้เข้าเฝ้าฯพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชในฐานะอาจารย์วิทยาลัยแห่งนี้นายชาญชัย ปิงเมือง ปัจจุบันเป็นหัวหน้าแผนกช่างกลโรงงาน บอกว่าพระองค์ เสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์พระที่นั่งไปยังวิทยาลัยเทคนิคเชียงใหม่ จำได้แม่นว่าเป็น เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2536 เวลา 17.15น.ถึง 19.00น. ทอดพระเนตรการสาธิตการใช้เครื่องผสมเกลือไอโอดีนที่สร้างโดยวิทยาลัยเทคนิคเชียงใหม่ โดยนายทวิช สุนทรส ผู้อำนวยการวิทยาลัยในเวลานั้น กราบบังคมทูลรายงาน โดยมีคณะครูอาจารย์ นักเรียนนักศึกษารับเสด็จ จากนั้นได้ทำการสาธิตทำงานถวายต่อหน้าพระพักตร์ จากนั้นได้ทรงพระดำเนินทอดพระเนตรอุปกรณ์ช่วยเหลือคนพิการที่ผลิตโดยวิทยาลัยเทคนิคเชียงใหม่ เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรการดำเนินงานของแผนกวิชาช่างยนต์ เสด็จฯไปยังแผนกวิชาช่างกลโรงงานทอดพระเนตรเครื่องกลึงที่ใช้ผลิตอุปกรณ์สำหรับช่วยเหลือคนพิการ เสด็จฯไปทอดพระเนตรห้องสมุด จนได้เวลาเสด็จพระราชดำเนินกลับ นำมาซึ่งความปลื้มปีติแก่ชาววิทยาลัยเทคนิคเชียงใหม่และชาวจังหวัดเชียงใหม่ นายชาญชัย ปิงเมือง หัวหน้าแผนกช่างกลโรงงาน วิทยาลัยเทคนิคเชียงใหม่ เล่าย้อนภาพครั้งที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชเสด็จฯวิทยาลัยเทคนิคเชียงใหม่เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2536 ในฐานะที่เป็นคนหนึ่งที่รับเสด็จ ณ จุดที่ใกล้ที่สุดว่า พระองค์มีพระราชดำรัสให้พิจารณาแก้ไขปัญหาการขาดแคลนสารไอโอดีนของราษฎรโดยการสำรวจพื้นที่ในแต่ละพื้นที่ถึงปัญหาและความต้องการเกลือซึ่งแต่ละท้องถิ่นที่มีปัญหาและความต้องการไม่เหมือนกัน โดยเฉพาะต้องสำรวจเส้นทางเกลือว่าผลิตจากแหล่งใด ก็น่าที่จะนำเอาไอโอดีนไปผลิตกับแหล่งผลิตต้นทางเกลือเสียเลยทีเดียว นายชาญชัยบอกว่าวิทยาลัยทำเครื่องผสมเกลือไอโอดีนสนองพระมหากรุณาธิคุณพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่9 โดยพัฒนาเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพมาถึงวันนี้พัฒนามาถึง 5 รุ่นแล้ว “เมื่อก่อนนี้ทางตำรวจตระเวนชายแดน(ตชด.)ดูแลประชาชนแถวตะเข็บชายแดน ปัญหาหนึ่งที่พบคือโรคคอพอก ก็ได้ประสานไปยังกรมอนามัย และกรมอนามัยก็ประสานมายังวิทยาลัยเทคนิคเชียงใหม่ เพื่อผลิตเครื่องผสมเกลือไอโอดีนสนองพระราชหฤทัยห่วงใยราษฎรเรื่อวการขาดสารไอโอดีน วิทยาลัยก็ใช้แนวคิดเครื่องผสมปูนเอามาเป็นต้นแบบ เพื่อการคลุกเคล้าเกลือกับสารไอโอดีนเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพอย่างดียิ่ง และเครื่องผสมเกลือไอโอดีนนี้จะได้สร้างแล้วมอบไปยังพื้นที่ที่เกิดปัญหา เพื่อให้ได้สะดวกและประหยัด คงทนนั่นคือการใช้แสตนเลสเป็นวัสดุ โดยเรื่องนี้ความทราบถึงสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารีที่เคยเสด็จฯยังวิทยาลัยเทคนิคเชียงใหม่เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2530 และในปี2536 ได้โดยเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช จึงพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ให้สร้างเครื่องผสมเกลือไอโอดีนแล้วกระทรวงสาธารณสุขได้สนองพระมหากรุณาธิคุณจัดงบให้สร้าง 100 กว่าเครื่องมอบไปยังพื้นที่ต่างๆ” นายชาญชัยบอกด้วยว่าเครื่องที่ทำหลังพัฒนามาถึงวันนี้เป็นรุ่นที่ห้าแล้วทำเพื่อบริการประชาชนตกเครื่องละ 2 หมื่นบาท เป็นเครื่องขนาดเล็กแต่ถ้าของเอกชนจะแพงมาก “ผมยังจำได้คราวนั้นในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงแนะนำผู้บริหารว่าทำเครื่องให้ใช้สะดวก ประหยัด ใช้วัสดุที่มีอยู่เป็นหลัก เมื่อเสด็จฯทอดพระเนตรวิทยาลัยก็สาธิตให้ทอดพระเนตร แล้วจึงทรงแนะใช้สะดวก ผลิตได้เยอะๆ” นายชาญชัยบอกว่าเท่าที่จำพระอิริยาบถได้ทรงพอพระทัยมากเพราะเป็นนวัตกรรมของไทย ราคาถูก ใช้วัสดุที่มีอยู่ในพื้นที่ วิทยาลัยเทคนิคเชียงใหม่ยังต้องทำเครื่องผสมเกลือสนองพระมหากรุณาธิคุณสนองแนวพระราชดำริต่อไปเพราะโรคคอหอยพอกยังระบาดอยู่ โดยเฉพาะด้านตะเข็บชายแดน เราตั้งใจทำเพื่อเฉลิมพระเกียรติถวายเป็นพระราชกุศล ก่อนที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่9 จะเสด็จฯกลับได้ทอดพระเนตรน้ำพุที่วิทยาลัยสร้างไว้เปิดให้น้ำพุ่งสวยงาม มีพระราชดำรัสว่า น้ำที่พุ่งออกมาจากด้านล่างเต็มไปด้วยเชื้อโรค ต้องไปดูของพระองค์หรือใช้วิธีของพระองค์กังหันน้ำชัยพัฒนา จากนั้นวิทยาลัยจึงได้สนอพระมหากรุณาธิคุณผลิตเครื่องบำบัดน้ำเสียกังหันแบบชัยพัฒนามอบให้สถานที่ต่างๆที่มีแหล่งน้ำเช่นมอบให้วัด มอบให้นครเชียงใหม่เพื่อการบำบัดน้ำให้สะอาดด้วยเครื่องกังหันน้ำตามแนวพระราชดำริ “ทางวิทยาลัยเทคนิคเชียงใหม่ได้น้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงฯแล้วก็หยิบยกพระราชดำรัสที่พระราชทานไว้คราวเสด็จฯเยือนวิทยาลัยสอดแทรกในการจัดการเรียนการสอนแก่นักเรียนนักศึกษาซึมซับศาสตร์พระราชาไปเรื่อยๆ แล้วย้ำว่าทุกสิ่งที่เราทำที่เราเรียนเพื่อถวายเป็นพระราชกุศลที่ทรงห่วงใยพวกเรา แล้วผลความสำเร็จที่นำเราไปสู่ความสุขก็เกิดขึ้นกับเราคือความเชี่ยวชาญ ความดีงาม เช่นทรงแนะว่าทำอย่างประหยัดนะ ทำเพื่อประชาชนคือส่วนรวมนะก็ทำให้เราไม่ได้มองประโยชน์ตนหรือทำด้วยความโลภ นี่แหละหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงตามแนวพระราชดำริ”นายชาญชัยทิ้งท้าย