เมื่อวันที่ 20 พ.ค.ที่อาคารรัฐสภา นายวัชระ เพชรทอง อดีตส.ส.ประชาธิปัตย์ และนายสมบูรณ์ ทองบุราณ อดีตสว. ยื่นหนังสือผ่านเจ้าหน้าที่สารบรรณถึงนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร คัดค้านองค์ประกอบของคณะกรรมการสอบสวนวินัยร้ายแรงนายสรศักดิ์ เพียรเวช อดีตเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งถูกกล่าวหาว่ากระทำการคุกคามทางเพศต่อข้าราชการรัฐสภา ซึ่งเป็นผู้ใต้บังคับบัญชา เนื่องจากองค์ประกอบของคณะกรรมการสอบสวนดังกล่าว ขัดกับมติคณะรัฐมนตรีของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เมื่อวันที่ 21 เม.ย.2563 เพราะไม่ได้แต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิหรือผู้แทนหน่วยงานอื่นที่มีประสบการณ์ในการทำงานเฉพาะด้านที่เกี่ยวกับการคุ้มครองผู้ถูกล่วงละเมิดหรือคุกคามทางเพศโดยตรงเข้าไปร่วมด้วย ซึ่งการสอบข้อเท็จจริงหรือการสอบสวนทางวินัยในกรณีเกิดการล่วงละเมิดหรือคุกคามทางเพศในการทำงานโดยผู้บังคับบัญชาเป็นผู้กระทำนั้น ผู้เสียหายซึ่งเป็นผู้ใต้บังคับบัญชา ย่อมตกอยู่ในภาวะจำยอม ไม่กล้าร้องเรียน หรือเสียเปรียบในการนำเสนอข้อมูล รวมทั้งกรรมการสอบข้อเท็จจริงหรือกรรมการสอบสวน ก็ล้วนแต่เป็นผู้ใต้บังคับบัญชาของผู้ถูกกล่าวหาด้วย ย่อมมีความเกรงกลัวหรือเกรงใจ และตกอยู่ในภาวะจำยอม ภายใต้อำนาจของผู้บังคับบัญชาซึ่งเป็นผู้กระทำความผิด ขณะที่ผู้เสียหายที่ตกเป็นเหยื่อของการคุกคามทางเพศหรือล่วงละเมิดทางเพศ ย่อมได้รับความกระทบกระเทือนทั้งร่างกายและจิตใจ มีความอับอายที่จะเสนอข้อมูลเชิงลึก จึงต้องอาศัยผู้ทรงคุณวุฒิหรือผู้มีประสบการณ์ ในการคุ้มครองสิทธิของผู้ถูกล่วงละเมิดทางเพศหรือคุกคามทางเพศโดยตรงมาเป็นกรรมการสอบสวนร่วมอยู่ด้วย ซึ่งสามารถสรรหาได้จากองค์กรภาคเอกชน หรือภาคราชการที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย แต่กลับไม่มีผู้ทรงคุณวุฒิหรือผู้มีประสบการณ์จากภายนอกที่มีคุณสมบัติดังกล่าวข้างต้น เป็นกรรมการอยู่ในคณะกรรมการสอบสวนดังกล่าวแต่อย่างใด และผลจาการทึ่ไม่มีผู้ทรงคุณวุฒิหรือผู้มีประสบการณ์ที่มีคุณสมบัติเฉพาะด้านดังกล่าว ทำให้การดำเนินการของคณะกรรมการสอบสวน เหมือนเป็นการซ้ำเติมผู้เสียหายยิ่งขึ้นไปอีกจากการตั้งคำถามสอบสวน เช่น คำถามเกี่ยวกับการมีเพศสัมพันธ์และประสบการณ์ทางเพศ อันเป็นการลดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ทำให้เห็นได้ชัดว่ากรรมการสอบสวน ขาดความรู้ ความสามารถ และประสบการณ์ต่อคดี และคณะกรรมการสอบสวนยังไม่มีการให้ความคุ้มครองต่อผู้เสียหายซึ่งเป็นเหยื่อของการคุกคามทางเพศแต่อย่างใด
นายวัชระ กล่าวว่า คำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนเป็นคำสั่งสภาผู้แทนราษฎรที่ 12/2564 แต่งตั้งกรรมการสอบสวินัยร้ายแรงนายสรศักดิ์ เพียรเวช ลงนามโดยนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร แต่ขัดมติคณะรัฐมนตรี วันที่ 21 เมษายน 2563 ที่ระบุให้มีบุคคลภายนอกจากหน่วยงานอื่นร่วมเป็นกรรมการสอบสวนด้วย แต่ปรากฏว่ากรรมการที่นายชวนตั้งล้วนแต่เป็นลูกน้องเก่าของนายสรศักดิ์ทั้งสิ้น ใครเป็นคนกรองงานเสนอท่านประธานให้ลงนามออกคำสั่งที่ขัดมติครม.เช่นนี้ควรจะพิจารณาตนเองได้แล้ว เพราะท่านชวนเป็นจอมหลักการ ไม่ทำอะไรที่ขัดต่อหลักนิติรัฐนิติธรรมเป็นอันขาด