วันที่ 18 พ.ค. 64 พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบบัญชีรายชื่อ และเลขาธิการพรรคประชาชาติ เขียนข้อความเรื่อง “เรือนจำไทย” ผู้ต้องขังและผู้คุมถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์มากที่สุด ระบุว่า
" จากการค้นหาเชิงรุก ทั้งหมด 8 แห่ง (จากจำนวน 143 เรือนจำ) ทำการตรวจหาเชื้อไปแล้ว 24,357 ราย และพบผู้ติดเชื้อโควิด 10,748 ราย และอยู่ระหว่างรอรายงานผลอีก 2,235 ราย ซึ่งหมายความว่า พบเชื้อโควิด 49% จากจำนวนผู้ที่เข้ารับการตรวจทั้งหมด จึงถือว่า “เรือนจำไทย” เป็นแหล่งระบาดของเชื้อโควิดที่ใหญ่ที่สุดในโลกเมื่อเทียบกับเรือนจำทั่วโลก
จำนวนเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการในเรือนจำทั้งหมด ประมาณ 13,000 คน ที่มีจำนวนผู้ต้องขังทั้ง 143 เรือนจำ มีจำนวน 309,634 คน (ข้อมูล 3 พฤษภาคม 2564) สภาพที่เรียกว่า “คนล้นคุก” ที่เรือนจำมี 143 แห่ง สามารถรองรับผู้ต้องขังได้ ประมาณ 200,000 คน แต่ต้องรับคนมากเกินอีก 100,000 กว่าคน จึงอยู่กันแบบแออัด ยัดเยียด คล้ายปลากระป๋อง เมื่อเปิดช่องให้ถูกโจมตีจากเชื้อโรคโควิด จึงแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วและถือว่าสายเกินที่จะแก้ไข สำหรับผู้ต้องขังในเรือนจำ แยกเป็นผู้ที่คดีมีคำพิพากษาถึงที่สุด(คดีถึงที่สุด) จำนวน 249,639 คน กับผู้ต้องขังคดีระหว่างการพิจารณา 59,995 คน สามารถแยกเป็นคดีระหว่างทางอุทธรณ์-ฎีกา จำนวน 30,553 คน และคดีระหว่างสอบสวน/พิจารณา(ยังไม่พิพากษา) 29,442 คน
การป้องกันการแพร่ระบาดของโควิดในเรือนจำประสบความล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง คือ
1.การกักตัวผู้สัมผัสเสี่ยงสูง ไม่ว่าจะกี่วันก็ปฏิบัติไม่ได้ เพราะเป็นงานที่ต้องปฏิบัติต่อเนื่องตลอด 24 ชั่วโมงทุกวัน ถ้าต้องกักตัวเจ้าหน้าที่จะหาคนที่ไหนมาทำงาน?
2.การรักษาระยะห่าง เพราะพื้นที่ควบคุมคับแคบ แออัด ยิ่งโดยธรรมชาติของผู้ต้องขังที่ต้องขึ้นไปแออัดกันอยู่บนเรือนนอนถึง 14-15 ชั่วโมงต่อวัน กล่าวคือ ขึ้นเรือนนอน 15.30-16.00 น. ปล่อยลงจากเรือนนอน 06.30 น. การรักษาระยะห่างจึงเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ (ทำไม่ได้เลยในคุก)
3.การแยกกักโรคสำหรับผู้ต้องขังเข้าใหม่/กลับจากศาล 21 วัน ไม่เกิดผลใดๆสำหรับผู้ที่ติดเชื้อแต่ไม่แสดงอาการ เพราะการตรวจ Swab เพียงตอนเข้าและตอนออก อาจไม่พบเชื้อ ทั้งๆที่บุคคลดังกล่าวเป็นพาหะนำโรคพอครบกำหนดแยกกักและถูกย้ายไปสู่แดนควบคุมปกติก็แพร่เชื้อสู่ผู้ต้องขังอื่นๆ (โดยเฉพาะผู้ช่วยเหลือตามแดนต่างๆ) โดยผู้ต้องขังเข้าใหม่ก็ไม่ทราบว่าตนเป็นผู้ป่วยโควิด19
สถานการณ์เร่งด่วน นายกรัฐมนตรีและประธาน ศบค. ต้องแสดงความจริงใจในการแก้ไขปัญหา ที่เห็นว่ามีอำนาจทางกฎหมายและทรัพยากรการบริหารแก้เร่งด่วน 6 ประการ คือ
1. ลดจำนวนคน ลดความหนาแน่น การลดความแออัดในเรือนจำสามารถทำได้ทันที คือ ผู้ถูกคุมขังระหว่างการพิจารณาคดีที่มีประมาณ 59,995 คน ตามรัฐธรรมนูญถือเป็นผู้บริสุทธิจะปฏิบัติเหมือนผู้กระทำผิดไม่ได้ และยังกำหนดต้องให้ประกันตัวเป็นหลัก การไม่ให้ประกันตัวทำไม่ได้หรือเป็นข้อยกเว้น (รัฐธรรมนูญ ม. 29) การแก้ปัญหาในคดีที่อยู่ระหว่าการพิจารณา เป็นเรื่องที่กฎหมายให้อำนาจ อาจแยกเป็น 2 กลุ่ม คือ
1) กลุ่มระหว่างพิจารณาและระหว่างการสอบสวน จำนวน 29,442 คน ที่สามารถยึดการปล่อยตัวชั่วคราว หรือในอำนาจให้สถานีตำรวจทั่วประเทศประมาณ 1,484 สถานีตำรวจ ยังไม่รวมถึงห้องควบคุมของกองบัญชาการสอบสวนกลาง กองบัญชาการตรวจคนเข้าเมือง เป็นที่คุมขังสภาพดี พื้นที่ว่างเปล่าจำนวนมากทั่วประเทศ
2) กลุ่มระหว่างอุทธรณ์-ฎีกา จำนวน 30,553 คน เป็นอำนาจศาลก็ตามแต่ราชทัณฑ์มีกฎหมายที่สามารถกำหนดเรือนจำในพื้นที่ราชการอื่นๆได้ หรือ ศาลพิจารณาให้ประกันตัวผู้ต้องขังที่คดียังไม่ถึงที่สุด หรือ ศาลพิจารณาให้ประกันตัวผู้ต้องขังที่คดียังไม่ถึงที่สุด โดยใช้กำไลอิเล็กทรอนิกส์ติดตามตัวและกำหนดเงื่อนไขการเดินทางสำหรับผู้ที่มีพฤติกรรมเสี่ยงจะหลบหนี และพิจารณาให้ประกันตัวโดยกำหนดหลักทรัพย์ต่ำ หรือไม่ต้องวางหลักทรัพย์สำหรับผู้ต้องขังที่มีฐานะยากจน
2. กลุ่มผู้ต้องขังที่คำพิพากษาถึงที่สุด จำนวน 249,639 คน ให้กรมราชทัณฑ์ออกมาตรการ “พักการลงโทษ” สำหรับผู้ต้องขังที่สูงอายุ หรือมีโรคประจำตัว ที่เป็นกลุ่มเสี่ยงจะได้รับอันตรายหากติดเชื้อโควิดโดยทันที โดยอาจใช้กำไลอิเล็กทรอนิกส์และกำหนดเงื่อนไขในการคุมประพฤติร่วมด้วย
3. ให้เรือนจำทุกแห่งพิจารณาการส่งตัวผู้ติดเชื้อโควิดออกไปรักษาที่โรงพยาบาลภายนอกเรือนจำเป็นหลัก โดยให้โรงพยาบาลหรือโรงพยาบาลสนามจัดสถานที่สำหรับการรักษาพยาบาลและควบคุมตัวผู้ที่มาจากเรือนจำโดยเฉพาะที่มีความมั่นคงปลอดภัย ให้รัฐบาลจัดสรรงบประมาณและกำลังเจ้าหน้าที่ส่วนอื่นช่วยงานกรมราชทัณฑ์เพื่อดูแลความมั่นคงปลอดภัยระหว่างการส่งตัวผู้ต้องขังหรือนักโทษออกไปรักษานอกเรือนจำ และให้กรมราชทัณฑ์ออกระเบียบเพื่อรับรองว่า กรณีผู้ติดเชื้อโควิดเป็นกรณีที่อาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตหรือความปลอดภัยของผู้ต้องขัง จึงไม่จำเป็นต้องจัดเจ้าพนักงานเรือนจำ 2 คน ควบคุมผู้ต้องขังป่วยหนึ่งคน ตามกฎกระทรวงการส่งตัวผู้ต้องขังไปรักษาตัวนอกเรือนจำ พ.ศ.2563 ข้อ 4(1)
4. หยุดเอาคนเข้าไปเพิ่ม ต้องหยุดการเอาคนเข้าไปเพิ่มในเรือนจำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรือนจำที่พบผู้ติดเชื้อแล้วต้องไม่เพิ่มจำนวนประชากรโดยเด็ดขาด เพราะการเอาคนเข้าไปเพิ่มเปรียบเสมือนกับส่งคนที่ยังมีสุขภาพดีไปติดเชื้อ หรือส่งคนที่มีความเสี่ยงจะติดเชื้อเข้าไปอยู่รวมกับคนที่มีสุขภาพดี ซึ่งจะทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นและระบบสาธารณสุขรองรับไม่ไหว
หากมีคำพิพากษาหรือคำสั่งศาลให้ควบคุมตัวบุคคลใดควรจัดหาสถานที่อื่นในการควบคุมตัวเพื่อคัดกรองและกักตัวเป็นการชั่วคราว เช่น ค่ายทหาร หรือสถานที่ฝึกอบรมของหน่วยงานราชการที่ภาวะปัจจุบันไม่ได้ใช้งาน โดยให้รัฐจัดสรรงบประมาณและกำลังเจ้าหน้าที่ส่วนอื่นช่วยงานกรมราชทัณฑ์เพื่อดูแลความมั่นคงปลอดภัย จนกว่าจะมั่นใจว่า เรือนจำในเขตพื้นที่ปลอดจากเชื้อโควิด และผู้ต้องขังหรือนักโทษแต่ละคนได้รับการคัดกรองและดูอาการจนแน่ใจแล้วว่าปลอดจากเชื้อโควิด จึงค่อยส่งตัวเข้าไปอยู่ในเรือนจำได้
5. จัดสรรงบประมาณและวัคซีนให้เรือนจำ งบประมาณที่จัดสรรไว้สำหรับการควบคุมโรคโควิด-19 งบประมาณต้องจัดสรรเป็นพิเศษสำหรับการบริการสุขภาพในเรือนจำ ในฐานะที่เป็น “กลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง” เพราะสภาพความเป็นอยู่ที่แออัด ผู้ต้องขังและนักโทษ “ไม่มีทางเลือก” อื่นที่จะเข้าถึงบริการสุขภาพได้
6. ต้องเพิ่มอัตรากำลังบุคลากรทางการแพทย์เป็นพิเศษ ให้กับเรือนจำทุกแห่งโดยทันทีเพื่อการปฏิบัติหน้าที่ในช่วงภาวะวิกฤต และต้องจัดให้ผู้ต้องขัง นักโทษ และเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานเกี่ยวกับเรือนจำ อยู่ใน “กลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง” ที่จะได้รับการฉีดวัคซีนก่อน และได้รับโดยทันที โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มผู้สูงอายุและผู้ที่มีโรคประจำตัวต้องได้รับวัคซีนก่อน
ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ฯนายกรัฐมนตรีและประธาน ศบค. ไม่สุจริตมีพฤติการณ์ส่อไปทางทุจริตมีความจงใจให้เรือนจำเป็นที่ควบคุม กักขัง ในคดีที่มีความเห็นต่างที่มุ่งผลทางการเมืองจนเกิดวิกฤติการแพร่ระบาดรุนแรงในเรือนจำ เมื่อเกิดปัญหาขึ้นมา พล.อ.ประยุทธ์ นายกรัฐมนตรีและประธาน ศบค. ไม่แสดงออกถึงความจริงใจในการแก้ไขปัญหา ไม่ใช้ความรู้ความสามารถในการบริหารในภาวะวิกฤตของเรือนจำที่ “ความอยู่รอดเป็นชีวิตต้องสำคัญกว่าผลประโยชน์และตำแหน่ง” ทั้งที่ทราบว่าเชื้อโควิดต้องใช้วัคซีนป้องกันแต่ไม่จริงใจในการจัดหาปล่อยล่าช้าจนผู้ติดเชื้อลุกลาม การแก้ปัญหาที่เห็น ”ความอยู่รอดเป็นชีวิตต้องสำคัญกว่าผลประโยชน์และตำแหน่ง” เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนและทำลายศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้ต้องขังและเจ้าหน้าที่"