"สศช." ยันมีเงินเหลือเฟืออีก 1.6 แสนล้านบาท เยียวยาศก.สู้โควิด ด้าน"ส.อ.ท." เดินหน้าเติมสภาพคล่อง"เอสเอ็มอี"สู้"ไวรัสมรณะ"จับมือผู้ประกอบการรายใหญ่ลดระยะเวลาเครดิตทางการค้าพยุง ศก. ขณะที่ "กรม บัญชีกลาง"ย้ำใช้สิทธิเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลผู้ป่วยโควิดไม่เสียค่าใช้จ่าย ทั้งโรงพยาบาลรัฐ-เอกชน "ครม."ผ่านฉลุยลดจ่ายเงินประกันสังคมช่วงโควิดระบาด เหลือ 2.5% นาน 3 เดือน ดีเดย์มิ.ย.-ส.ค.64 เมื่อวันที่ 18 พ.ค.64 นายวันฉัตร สุวรรณกิตติ รองเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ในฐานะโฆษกสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยว่า กรณีที่มีประเด็นข้อกังวลในเรื่องที่รัฐบาลไม่มีวงเงินเพียงพอในการกระตุ้นเศรษฐกิจและเยียวยาประชาชน เนื่องจากมีการใช้เงินกู้ภายใต้พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 วงเงิน 1 ล้านล้านบาท (พ.ร.ก.เงินกู้โควิด-19) ไปเต็มจำนวนแล้วนั้น ขอชี้แจงดังนี้ ปัจจุบันการดำเนินการของแผนงานโครงการภายใต้ พ.ร.ก. เงินกู้โควิด-19 มีการอนุมัติวงเงินแล้วทั้งสิ้น 833,475 ล้านบาท โดยยังมีวงเงินคงเหลืออีก 166,525 ล้านบาท และยังมีงบประมาณจากงบกลาง ในส่วนของเงินสำรองจ่าย เพื่อกรณีฉุกเฉินและจำเป็น ภายใต้งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2564 วงเงิน 99,000 ล้านบาท ซึ่งยังมีวงเงินคงเหลือ 98,213.9 ล้านบาท ขณะเดียวกันค่าใช้จ่ายในการบรร เทา แก้ไขปัญหา และเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19 วงเงิน 40,3 25.6 ล้านบาท ซึ่งยังมีวงเงินคงเหลือ 37,108.2 ล้านบาท ขณะที่ นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า จากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19ระลอกที่ 3 ได้ส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจของทุกภาคส่วน ซึ่งแนวทางหนึ่งที่ภาคเอกชนจะสามารถช่วยเหลือผู้ประกอบการคือ การช่วยกันชำระค่าสินค้าหรือบริการให้แก่คู่ค้าเร็วขึ้น ทางส.อ.ท.จึง ฟื้นโครงการ "FTI Faster Payment Phase 2"กลับมาอีกครั้ง โดยได้จับมือกับ 163 บริษัทที่เคยเข้าร่วมโครงการในครั้งที่แล้ว ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสมาชิกของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย อาทิบริษัทในเครือ SCG,บริษัท สหพัฒนพิบูล จำกัด (มหาชน), กลุ่มบริษัทซีพีเป็นต้น ซึ่งทั้งหมดนี้มี SME ในซัพพลายเชนหลายหมื่นราย และจะขอความร่วมมือขยายผลไปยังกลุ่มผู้ประกอบการในตลาด MAI และ SET100 โดยคาดหวังว่าโครงการ FTI Faster Payment Phase 2 จะช่วยเพิ่มเสริมสภาพคล่องและช่วยพยุงเศรษฐกิจในภาวะวิกฤติให้สามารถเดินหน้าต่อไปได้ ด้าน นายประภาศ คงเอียด อธิบดีกรมบัญชีกลาง เปิดเผยว่า ปัจจุบันได้รับข้อร้องเรียนเป็นจำนวนมากเกี่ยวกับค่ารักษาพยาบาลของผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยเฉพาะกรณีที่เข้ารับการตรวจและรักษาพยาบาลที่สถานพยาบาลของเอกชน กรมบัญชีกลาง สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และสำนักงานประกันสังคม จึงได้ร่วมบูรณาการ เพื่อกำหนดสิทธิประโยชน์เกี่ยวกับค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลประชาชนกลุ่มเสี่ยงและผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ให้เข้าถึงบริการทางการแพทย์ที่จำเป็นและเหมาะสม โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งในสถานพยาบาลของทางราชการและสถานพยาบาลของเอกชน และได้ออกแถลงการณ์ เรื่อง สิทธิผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพื่อให้ทุกหน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ตลอดจนประชาชนทราบถึงสิทธิที่พึงได้รับตามกฎหมาย รายงานข่าวแจ้งว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)เห็นชอบตามที่คณะกรรมการประกันสังคม(บอร์ด สปส.) เสนอร่างกฎกระทรวงกำหนดอัตราเงินสมทบกองทุนประกันสังคม พ.ศ. ? โดยให้อัตราเงินสมทบนายจ้างและผู้ประกันตน มาตรา 33 จากเดิมฝ่ายละ 5% เหลือฝ่ายละ 2.5% ของค่าจ้างผู้ประกันตน และผู้ประกันตนมาตรา 39 เหลืออัตราเดือนละ 216 บาท จากเดิมสมทบอยู่ที่เดือนละ 432บาท เป็นเวลา 3 เดือน ตั้งแต่เดือน มิ.ย.-ส.ค.64 ส่วนงวดเดือน ก.ย.64 เป็นต้นไป ให้ส่งเงินสมทบอัตราเดิม เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนแก่ผู้ประกันตนในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในระลอก 3 สำหรับการลดเงินสมทบในครั้งนี้จะทำให้เกิดประโยชน์ต่อนายจ้างและผู้ประกันตน นายจ้าง จำนวน 485,113 ราย ผู้ประกันตนมาตรา 33 จำนวน 11,164,384 คน และผู้ประกันตนมาตรา 39 จำนวน 1,832,500 คน สามารถนำเงินสมทบที่ลดลงไปใช้จ่ายเพื่อเสริมสภาพคล่องในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 ในระยะเวลาตั้งแต่เดือน มิ.ย.-ส.ค.64 รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 20,163 ล้านบาท อันเป็นการลดปัญหาทางการเงินของนายจ้างและผู้ประกันตน ส่งผลให้คุณภาพชีวิตผู้ประกันตนดีขึ้นและเป็นการรักษาระดับการจ้างงานของนายจ้างอีกด้วย