เมื่อวันที่ 18 พ.ค. น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)ว่า ครม.เห็นชอบมาตรการรับมือฤดูฝน ปี 2564 ตามที่สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เสนอ เพื่อเตรียมความพร้อมในการรับมือ ป้องกัน และลดความเสียหายจากการเกิดภัยพิบัติในฤดูฝน ซึ่งประมาณการปริมาณน้ำในแหล่งน้ำทั่วประเทศ ณ วันที่ 1 พฤษภาคม 2564 มีปริมาณน้ำรวม 38,722 ล้านลูกบาศก์เมตร (ร้อยละ 47 ของความจุ) และเมื่อเข้าฤดูฝนจะมีการใช้น้ำเพิ่มขึ้นเป็น 96,249 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งมากกว่าปริมาณน้ำที่มีอยู่ในอ่างเก็บน้ำถึง 57,527 ล้านลูกบาศก์เมตร ดังนั้น สทนช. จึงกำหนดแผนการจัดสรรน้ำในฤดูฝน และมาตรการรับมือฤดูฝนปี 2564 ดำเนินการควบคู่กันไป โดยแผนการจัดสรรน้ำในฤดูฝน กำหนดให้ใช้น้ำฝนในการทำกิจกรรมต่างๆ เป็นหลักเพื่อให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำต้นทุน แบ่งประเภทการใช้น้ำ ดังนี้ 1)การอุปโภคบริโภค รวม 3,429 ล้านลูกบาศก์เมตร 2)การรักษาระบบนิเวศ รวม 12,888 ล้านลูกบาศก์เมตร 3)การเกษตรกรรม รวม 78,905 ล้านลูกบาศก์เมตร และ 4)การอุตสาหกรรม รวม 1,027 ล้านลูกบาศก์เมตร ส่วนพื้นที่จัดสรรน้ำเพื่อการเกษตรฤดูฝน กรมส่งเสริมการเกษตร ได้คาดการณ์พื้นที่ปลูกพืชฤดูฝนปี 2564 ดังนี้ 1)ในเขตชลประทาน มีจำนวน 11.56 ล้านไร่ แบ่งเป็น นารอบที่ 1 (นาปี) จำนวน 10.62 ล้านไร่ พืชไร่ จำนวน 6.1 แสนไร่ และพืชผัก จำนวน 3.2 แสนไร่ 2)นอกเขตชลประทาน มีจำนวน 61.49 ล้านไร่ แบ่งเป็น นารอบที่1 (นาปี) จำนวน 48.95 ล้านไร่ พืชไร่ จำนวน 11.75 ล้านไร่ และพืชผัก จำนวน 7.9 แสนไร่ สำหรับมาตรการรับมือฤดูฝน ปี 2564 ประกอบด้วย 10 มาตรการ ดังนี้ 1)คาดการณ์ชี้เป้าพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมและฝนน้อยกว่าค่าปกติ โดยปรับปรุงข้อมูลทุกสิ้นเดือน 2)บริหารจัดการน้ำพื้นที่ลุ่มต่ำเพื่อรองรับน้ำหลาก ตั้งแต่ 1 เมษายน ถึง 15 สิงหาคม 2564 3)ปรับปรุงเกณฑ์การบริหารจัดการน้ำในแหล่งน้ำขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และเขื่อนระบายน้ำ ให้เสร็จภายใน 30 เมษายน 2564 4)ซ่อมแซมปรับปรุงอาคารชลศาสตร์และระบบระบายน้ำ ให้พร้อมใช้งานภายใน 30 มิถุนายน 2564 5)ปรับปรุงและแก้ไขสิ่งกีดขวางทางน้ำ ให้เสร็จภายใน 30 มิถุนายน 2564 6)ขุดลอกคูคลองและกำจัดผักตบชวา ให้เสร็จภายใน 30 มิถุนายน 2564 7)เตรียมความพร้อมและวางแผนเครื่องจักรเครื่องมือประจำพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมและฝนน้อยกว่าค่าปกติ ให้เสร็จภายใน 30 มิถุนายน 2564 8)เพิ่มประสิทธิภาพการใช้งานและปรับปรุงวิธีการส่งน้ำตลอดระยะเวลาฤดูฝน 9)สร้างการรับรู้และประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนเตรียมความพร้อม ตลอดระยะเวลาฤดูฝน 10)ติดตามประเมินผลและปรับมาตรการให้สอดคล้องกับสถานการณ์ภัย ตลอดระยะเวลาฤดูฝน นอกจากนี้ ที่ประชุม ครม. ได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำแผนปฏิบัติการตามมาตรการดังกล่าวด้วย