7 กันยายน 2559 เวลา 13.30 น. ที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค คณะอนุกรรมการด้านอาหาร ยา หรือผลิตภัณฑ์สุขภาพ (คอบช.) แถลงข่าวแสดงความเป็นห่วง กรณีเลขาธิการ อย.ออกประกาศสำนักงานฯ ถ่ายโอนภารกิจให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ตรวจสอบการนำเข้าสินค้าอาหารที่ยังไม่แปรรูป ได้แก่ เนื้อสัตว์ สัตว์น้ำ เครื่องเทศ ธัญพืช และถั่ว หวั่นประชาชนต้องบริโภคอาหารถูกตีกลับจากการส่งออกที่ด้อยคุณภาพและไม่ได้มาตรฐาน เปรียบเหมือนใช้ผู้บริโภคเป็นตัวประกันเพื่อเจรจาต่อรองผลประโยชน์การส่งออกสินค้าระหว่างประเทศ น.ส.กรรณิการ์ กิจติเวชกุล อนุกรรมการด้านอาหาร ยา หรือผลิตภัณฑ์สุขภาพ องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน (คอบช.) เปิดเผยว่า คณะอนุกรรมการฯได้มีการพิจารณาเรื่องนี้ด้วยความห่วงใยประเทศ ทั้งการออกประกาศทั้งที่ไม่มีกฎหมายรองรับ การใช้การอนุญาตนำเข้าอาหารซึ่งมีเรื่องการคุ้มครองผู้บริโภคไปเป็นการเจรจาต่อรองทางการค้ากับประเทศคู่ค้า และการรวบอำนาจการดูแลด้านอาหารนำเข้า-ส่งออกและตีกลับไปไว้ที่หน่วยงานด้านเศรษฐกิจเกรงว่าจะเป็นการซ้ำรอยความผิดพลาดในอดีต “เป็นประกาศ อย.ที่มีความผิดปรกติอย่างมากเพราะไม่ได้อ้างอิงถึงอำนาจตามกฎหมาย ไม่มีตราครุฑ ไม่มีลายเซ็น แต่เป็นการอ้างอิงนโยบายรัฐมนตรีและข้อเสนอคณะทำงานจัดทำแนวทางการเพิ่มประสิทธิภาพการตรวจสอบการนำเข้า-ส่งออกสินค้าเกษตรและอาหาร ภายใต้คณะกรรมาธิการการเกษตรและสหกรณ์ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ที่มีเพียงทหาร ข้าราชการ นักธุรกิจผู้มีส่วนได้ส่วนเสียไม่มีตัวแทนผู้บริโภค อีกทั้งการตรวจสอบสินค้าที่เป็นอาหาร อย.ไม่สามารถถ่ายโอนภารกิจให้กระทรวงเกษตรฯได้เพราะพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ.2522 ไม่ได้ให้อำนาจ อย.กระทำเช่นนั้น หาก อย.ถ่ายโอนภารกิจการตรวจให้กระทรวงเกษตรฯ กระทำหน้าที่แทนก็ถือว่าไม่ชอบด้วยกฎหมาย” นอกจากนี้ สินค้าที่ถ่ายโอนภารกิจตามประกาศ อย.ซึ่งลงวันที่ 29 เม.ย.59 นั้น แม้จะแยกเป็นสินค้าเกษตรเฉพาะสินค้าอาหารตามพิกัดศุลกากรและรหัสสถิติ (HS Code) ที่มีรายละเอียดตามเอกสารแนบท้ายประกาศฯ ข้อ 1 ให้กระทรวงเกษตรฯดูแล แต่ในข้อ 2 กลับซ่อนเงื่อนงำสินค้าอาหารทุกพิกัดที่ส่งออกแล้วถูกตีกลับโดยไม่มีวัตถุประสงค์เพื่อการจำหน่ายภายในประเทศ ยิ่งไปกว่านั้น ในข้อ 3 ให้กระทรวงเกษตรฯดูแลสินค้าอาหารที่ถูกตีกลับที่อาจมีวัตถุประสงค์เพื่อการจำหน่ายในประเทศ “ฉะนั้น ไม่ว่าสินค้าอาหารที่ได้มีการส่งออกแล้วถูกตีกลับไม่ว่าจะมีวัตถุประสงค์เพื่อจำหน่ายหรือไม่จำหน่ายในประเทศจะอยู่ภายใต้การดูแลของกระทรวงเกษตรฯ แทน อย. ซึ่งเดิมหากมีการตีกลับแล้วจะนำกลับมาผลิตหรือจำหน่ายในประเทศจะต้องผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการอาหารอย่างเข้มงวด จากการไม่ทำหน้าที่ตามกฎหมายของ อย.ครั้งนี้ จึงน่าเป็นห่วงด้านสุขภาพอนามัยของประชาชนในประเทศ เพราะจากรายงานของคณะทำงาน สนช.ที่อ้างถึงนี้ มีความชัดเจนว่า ต้องการแก้ปัญหาและลดภาระให้อุตสาหกรรมอาหาร” น.ส.ปรกชล อู๋ทรัพย์ กล่าวว่า โดยโครงสร้างเดิมของกระทรวงเกษตรฯ ก็ไม่ได้มีเพื่อการนี้ ซึ่งการถ่ายโอนภารกิจจะทำให้ภาระงานของกระทรวงเกษตรฯต้องรับผิดชอบมีมากขึ้น และเป็นภารกิจที่ต้องคำนึงถึงความปลอดภัยของผู้บริโภคซึ่งเป็นภารกิจของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาโดยตรง ประกอบกับก่อนหน้านี้ที่พบสารพิษตกค้างเกินค่ามาตรฐานในผักผลไม้ที่ได้รับตรารับรองมาตรฐานQ และ Organic Thailand จากกระทรวงเกษตรฯ ก็เป็นการสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาในการกำกับดูแลมาตรฐานสินค้าของกระทรวงเกษตรฯ รศ.ดร.จิราพร ลิ้มปานานนท์ ให้ความเห็นว่า “ในบทบาทหน้าที่ของกระทรวงเกษตรฯ ที่จะสนับสนุนการส่งออกเพื่อสร้างรายได้ให้ประเทศ ตรงนั้นอาจเป็นเหตุผลที่มักถูกอ้างตลอดเวลาว่า หากดูแลเฉพาะการส่งออก ถ้าสินค้าถูกตีกลับจากประเทศปลายทาง เราจะไม่มีมาตรการอะไรที่จะไปใช้ต่อรอง ซึ่งถ้าคิดแบบนี้แปลว่าคิดบนฐานของเศรษฐกิจมาก่อนความปลอดภัยของผู้บริโภค ถ้าสินค้าถูกตีกลับแปลว่าอาหารนั้นไม่ปลอดภัยจึงถูกตีกลับ ทำให้เกิดคำถามว่า นั่นเป็นการดูแลประชาชนจริงหรือไม่ ?” คณะอนุกรรมการด้านอาหาร ยา หรือผลิตภัณฑ์สุขภาพ คอบช. ยังตั้งข้อสังเกตว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เน้นเรื่องการค้าและการเจรจาต่อรองเพื่อขายสินค้าเกษตรและอาหาร แต่ในประกาศ อย. ถ่ายโอนภารกิจดังกล่าว ให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นผู้ตรวจสอบคุณภาพและความปลอดภัยของอาหารหากมีการกระทำการฝ่าฝืนต่อพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ.2522 หากมีการวิ่งเต้นหน่วยงานที่ได้รับการถ่ายโอนภารกิจให้มีการช่วยเหลือผู้ส่งออกที่สินค้าถูกตีกลับจะเกิดขึ้นอย่างง่ายดายขึ้นหรือไม่ เมื่อไม่มีหน่วยงานที่ดูแลด้านความปลอดภัยของสินค้าอาหารเช่น อย. มาคอยถ่วงดุลการตรวจสอบสินค้าและอาหาร “ตั้งแต่ปี 2545 เคยมีแรงผลักดันจากภาคธุรกิจที่จะดึงงานควบคุมดูแลเรื่องอาหารทั้งหมดให้ไปอยู่ภายใต้หน่วยงานเดียว คือ สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มอกช.) ภายใต้กระทรวงเกษตรฯ ด้วยเหตุผลเพื่อให้เกิดการแข่งขันได้ดียิ่งขึ้นทางด้านเศรษฐกิจ โดยแทบไม่สนใจเรื่องการคุ้มครองผู้บริโภค เช่นเดียวกับเหตุผลที่อ้างอิงในรายงานคณะทำงานของ สนช. แต่ครั้งนั้นมีการทัดทานจากหลายฝ่ายทำให้รัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ไม่ได้ดำเนินตามเสียงเรียกร้องของกลุ่มธุรกิจอาหาร ไม่น่าเชื่อว่า จะมาสำเร็จในรัฐบาลทหารของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งเชื่อว่าจะส่งผลกระทบสุขภาพอนามัยของประชาชนในประเทศไทย เช่นที่เคยเกิดขึ้นแล้วเมื่อครั้งวัวบ้าระบาดในอังกฤษ และไข้หวัดนกในไทย ซึ่งในปัจจุบัน อังกฤษต้องทบทวนบทเรียนแยกหน่วยงานด้านความปลอดภัยอาหารออกมาจากกระทรวงด้านเศรษฐกิจ แต่ของไทยกลับไม่มีการสรุปบทเรียนทางอนุกรรมการอาหารและยา คอบช.จึงเสนอให้มีการทบทวนเรื่องดังกล่าว และ ขอให้ทางกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ชี้แจงอย่างละเอียดว่า มีกระบวนการตรวจสอบสินค้าอาหารตีกลับอย่างไร มีหน่วยงานหรือภาคส่วนใดเข้าไปร่วมตรวจสอบสร้างความสมดุล ประชาชนจะมีความปลอดภัยต่อการบริโภคอาหารที่ถูกส่งคืนกลับมาอย่างไร และจะคุ้มครองผู้บริโภคอย่างไร ทั้งนี้ ประกาศฉบับนี้นั้นมีผลบังคับใช้ไปแล้ว ตั้งแต่ 15 พฤษภาคมที่ผ่านมา