อาลัยเทิดพระเกียรติ “ในหลวงรัชกาลที่ ๙” ศิลปินเด็กทุน “ป๋า” และศิลปินแห่งชาติร่วมสร้างผลงาน เพื่อนำขึ้นประมูลหาทุนสนับสนุนวงการศึกษาศิลปะ อาลัยเทิด “ในหลวงรัชกาลที่ ๙” ศิลปินเด็กทุน “ป๋า” สร้างงานหลายแนวถนัด “ร่มโพธิ์ทองของแผ่นดิน” สีทองอร่ามสาทิสลักษณ์ “ในหลวง ร.๙” เหมือนจริงที่งดงามระดับคลาสสิคและสาทิสลักษณ์ “ในหลวงรัชกาลที่ ๙” เป็น ๓ มิติ ด้วยเทคนิคพิเศษเฉพาะตัวที่ได้รับการยกย่องให้เป็นศิลปินชั้นเยี่ยม แต่วัยหนุ่ม เพื่อคนรักศิลปะประมูลไปสะสมเคารพบูชา และหาทุนสนับสนุนวงการศิลปะของไทยต่อไป วันอังคารที่ ๒๖ กันยายน ๒๕๖๐ พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ องคมนตรีและประธานมูลนิธิรัฐบุรุษ พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ (กองทุนฯ) ได้เปิดเผยถึง “พิธีมอบทุนและประมูลจัดหาทุนส่งเสริมการศึกษาการสร้างสรรค์ศิลปะ” ประจำปี ๒๕๖๐ว่าในปีนี้ได้กำหนดจัดขึ้นในวันพุธที่ ๒๒ พฤศจิกายน ๒๕๖๐ณ โรงแรมดุสิตธานี โดยพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษให้เกียรติเป็นประธานพิธี พิธีมอบทุนในปีนี้ ได้กำหนดจำนวนทุนที่จะมอบให้นิสิต-นักศึกษาที่ศึกษาด้านการสร้างสรรค์ศิลปะในปีสุดท้ายตั้งแต่ระดับปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญญาเอก จำนวนทั้งสิ้น ๙๘ ทุน เพื่อนำไปใช้เป็นทุนในการสร้างสรรค์ “ศิลปะนิพนธ์” ให้จบการศึกษาไปประกอบอาชีพให้เจริญก้าวหน้าในวิชาชีพต่อไป อีกทั้งยังเป็นการดำเนินตามแนวทาง “เกิดมาต้องตอบแทนบุณคุณแผ่นดิน” ของ พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ องคมนตรีและรัฐบุรุษด้วย สำหรับจำนวนทุนที่จะมอบให้กับนิสิตนักศึกษาด้านศิลปะทั่วประเทศจะเป็นจำนวนเท่าอายุของประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ ซึ่งถือว่าเป็นการที่กองทุนได้มีส่วนร่วมฉลองที่ท่านมีอายุเข้าปีที่ 98 ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมากว่า 15 ปี ท่านเป็นบุคคลสำคัญในการริเริ่มการก่อตั้งกองทุนฯและให้การสนับสนุนกองทุนฯอย่างต่อเนื่อง อันก่อประโยชน์กับวงการศึกษาศิลปะอย่างกว้างขวางซึ่งที่ผ่านมาได้มีนิสิต-นักศึกษาได้รับทุนไปแล้วรวมจำนวนทั้งสิ้น ๑, ๑๗๐ คนโดยทุนการศึกษาที่มอบให้กับนิสิต นักศึกษา ในระดับปริญญาตรี และปริญญาโท จำนวนทุนละ ๓๐,๐๐๐ บาท และในระดับปริญญาเอกที่มีค่าใช้จ่ายสูงกว่า จะได้รับทุนการศึกษาทุนละ ๖๐,๐๐๐ บาท นอกจากนี้กองทุนฯ ยังได้เห็นความสำคัญของบุคคลในหน่วยงานราชการทั้งภาครัฐและเอกชนที่ได้ให้การสนับสนุนช่วยประมูลผลงานช่วยซื้อผลงานหรือบริจาคเงินให้กับกองทุนฯ อย่างต่อเนื่อง ดังนั้นกองทุนฯ จึงได้จัดทำเหรียญทองขนาดเล็กเส้นผ่าศูนย์ ๑.๕ นิ้ว จำนวน ๒๙ เหรียญ เพื่อมอบให้กับผู้มีอุปการะคุณเป็นการแสดงความขอบคุณท่านที่ให้การสนับสนุน ด้าน อาจารย์ ปัญญา วิจินธนสาร ศิลปินแห่งชาติและประธานคณะกรรมการดำเนินงานกองทุนฯ ได้เปิดเผยว่าการดำเนินงานด้านการคัดเลือกและขอผลงานจากศิลปินแห่งชาติ ศิลปินชั้นเยี่ยม ศิลปินอาวุโสและศิลปินอดีตนิสิต-นักศึกษาทุนในปีนี้ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี และได้มอบผลงานให้กับกองทุนฯรวมจำนวน ๓๕ ผลงานด้วยความยินดีเพื่อให้นำขึ้นประมูลหาทุนเข้ากองทุนฯในวันงานดังกล่าว สำหรับผลงานแรกที่โดดเด่นที่คณะกรรมการฯได้คัดเลือกให้ใช้เป็นผลงานในการจัดพิมพ์เป็นบัตรเชิญชวนการซื้อโต๊ะร่วมประมูลในครั้งนี้เป็นผลงานของ อาจารย์สิโรจน์ พวงบุบผา อดีตนิสิต-นักศึกษาที่เคยได้รับทุน โดยได้สร้างสรรค์ผลงานชื่อ “ร่มโพธิ์ทองของแผ่นดิน” ขนาดใหญ่ ๑๖๐x๑๓๐ ซม. (รูปที่ ๓๔)ด้วยเทคนิคจิตรกรรมลายทองบนผ้าใบที่งดงาม ส่วนผลงานชิ้นที่สองที่โดดเด่นซึ่งได้รับเลือกให้ใช้เป็นหน้าปกสูจิบัตรการประมูลในครั้งนี้เป็นผลงานที่งดงามและมีคุณค่าด้านศิลปะอย่างสูง เป็นผลงานขนาดใหญ่ ๑๔๐x๑๐๐ ซม.ของ“จารุวัตร บุญแวดล้อม” อดีตนิสิต-นักศึกษาทุนปีแรก โดยสร้างสรรค์ผลงานที่ชื่อว่า “ในหลวงของเรา” (รูปที่ ๓๒) เจ้าของผลงานชิ้นนี้ได้บอกเล่าถึงรายละเอียดการสร้างสรรค์งานว่าตนเองทำด้วยความรัก ด้วยความตั้งใจต้องการสร้างสรรค์ผลงานให้เห็นถึงความสง่างามในวัยเยาว์ของพระองค์ตามความประทับใจของศิลปินโดยศิลปินได้บอกเล่าถึงการทำงานในครั้งนี้อย่างไม่ปิดบังและไม่เคยเป็นมาก่อนว่า ขณะที่สร้างสรรค์ผลงานชิ้นนี้น้ำตาลก็ไหลออกมาโดยไม่รู้ตัว ไม่รู้เหตุแต่ก็ต้องทำต่อจนจบ น้ำตาจึงได้หยุดไหล ส่วนผลงานชิ้นที่ ๓ ที่อาจารย์ปัญญานำมากล่าวถึงในที่นี้ เป็นผลงานที่ผ่านการชิงกับผู้ที่ชนะมาแล้วถึง ๒ ครั้ง ๒ คราว เพื่อให้ใช้เป็นบัตรเชิญ หรือใช้เป็นปกสูจิบัตรที่ล้ำค่า แต่ก็พลาดหวังด้วยเหตุปัจจัยหลายด้าน แต่การพลาด ก็ไม่ได้ทำให้ความงามของผลงานชิ้นนี้เปลี่ยนแปลงไปแต่อย่างใด(รูปที่ ๑๒) ผลงานชิ้นนี้มีชื่อว่า“ทรงพระเจริญ”ของศิลปินอาวุโส“นภดล โชตะสิริ” ที่สร้างผลงานด้วยสีอะคริลิคบนผ้าใบ ขนาด๗๐x๙๐ ซม. ให้เห็นถึงความสะอาดบริสุทธิ์ของ“ในหลวงรัชกาลที่ ๙”ในวงล้อมตัวอักษร ๓ ภาษา คือไทย จีน อังกฤษ ที่มีความหมายเดียวกันคือ“ทรงพระเจริญ” คนที่ได้เห็นผลงานนี้จะนึกย้อนยุคกลับไปได้ไกลราว ๔๐ ถึง๕๐ ปีในยุคที่เมืองไทยมีรูปในหลวงรูปนี้แขวนกันทั่วทุกบ้านและทุกร้านของคนไทยเชื้อสายจีนที่ได้มาพึ่งพระบรมโพธิ์สมภารของพระองค์ ผลงานอีกชิ้นหนึ่งที่อาจารย์ปัญญายกขึ้นมาพูดถึง เป็นผลงานของศิลปินชั้นเยี่ยม “อัฐพร นิมมาลัยแก้ว” อดีตนิสิต-นักศึกษาที่เคยได้รับทุนเช่นเดียวกัน ปัจจุบันเป็นอาจารย์อยู่ที่สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง สถาบันสอนศิลปะชั้นแนวหน้าของประเทศอีกสถาบันหนึ่ง อาจารย์อัฐพรได้ใช้ชั้นเชิงเทคนิคสื่อผสมของ “สีน้ำมันบนผ้าโปร่งแสง” ทับซ้อนกันเป็นชั้น ทำให้เกิดเป็นภาพเชิงซ้อน ๓ มิติที่นูนหนาประกอบกันขึ้นมาเป็นสาทิสลักษณ์อันงดงามในชื่อ “รัชกาลที่ 9” ขนาด ๑๐๐ x ๑๒๐ ซม.ในตู้พลาสติกใส(รูปที่ ๒๗) ที่ไม่เหมือนใครและไม่มีใครเหมือนในโลกหล้านี้จึงเป็นที่หมายตาของนักสะสมหลายคนจะประมูลสู้กันอย่างสนุก เพื่อให้ได้ผลงานชิ้นนี้ไปครอบครอง คุณเยาวณี นิรันดร ผู้แทน บริษัท คริสตี้ อ๊อกชั่น ประเทศไทย ผู้ดำเนินการประมูลในครั้งนี้ ได้ให้ความเห็นถึงผลงานที่จะทำขึ้นประมูลในครั้งนี้ว่านอกเหนือจากผลงานที่กล่าวมาแล้วกองทุนฯยังได้รับ มอบผลงานสะสมของประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษมาด้วยจำนวน ๑ ผลงาน ผลงานชิ้นนี้เป็นผลงานสร้างสรรค์แบบสดๆและฉับไวของอาจารย์สุชาติ วงษ์ทอง ที่ได้เห็นท่านประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษเล่นเปียโนจึงได้จับอารมณ์ความรู้สึกของท่านและความไพเราะของเปียโนในช่วงเวลานั้นมาสร้างเป็นผลงานสดที่งดงามชื่อ “อารมณ์สุนทรีย์” ด้วยสีอะคริลิคบนผ้าใบ ขนาด ๙๐x ๑๒๐ ซม.ที่เป็นผลงานภาพเหมือนของ“ป๋า”เพียงผลงานเดียวในการประมูลครั้งนี้ นอกจากนี้คุณเยาวณี ยังได้ชี้ชวนให้นักสะสมได้พิจารณาผลงานของ อาจารย์ปัญญา วิจินธนสาร ศิลปินแห่งชาติในการประมูลครั้งนี้ เนื่องจากอาจารย์จะมีเวลาสร้างสรรค์ผลงานปีละไม่กี่ชิ้น มีผู้รอคิวเป็นแรมปีที่จะเป็นเจ้าของผลงาน มีเพียงในงานนี้เท่านั้นที่อาจารย์มอบผลงานเยี่ยมๆให้นำขึ้นประมูลปีละครั้งเพื่อนำขึ้นประมูลหาทุนให้กับนิสิต-นักศึกษาเป็นประจำทุกปี ผลงานในปีนี้ที่อาจารย์ปัญญามอบเพื่อนำขึ้นประมูลมีชื่อว่า “เสด็จออกบวช” เป็นผลงานศิลปะไทยแนวธรรมะที่ท่านถนัดซึ่งสร้างสรรค์ด้วยสีอะคริลิคบนผ้าใบขนาด ๑๕๐x๑๘๐ ซม. (รูปที่ ๙) ภาพผลงานโดยรวมมีพื้นสีเหลืองทองเป็นพื้นหลักที่สะท้อนถึง“ธรรมะ” มุมขวาเห็นคนจูงม้าขาวตัวงามแสดงถึงการออกเดิน มุมซ้ายมีใบโพธิ์สัญลักษณ์ของการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้ากระจายอยู่ราวกับต้นโพธิ์ สื่อความหมายให้เห็นการเดินทางสู่การบรรลุธรรมที่งดงาม เรียบร้อย และพอเพียงควรค่าแก่การสะสมเป็นอย่างยิ่ง ผลงานของศิลปินแห่งชาติที่จะนำขึ้นประมูลในครั้งนี้ นอกจากของอาจารย์ปัญญาแล้ว ก็ยังมีผลงานของศิลปินแห่งชาติอีก ๘ ท่าน รวมแล้วเป็นผลงานของศิลปินแห่งชาติจำนวน ๙จำนวนผลงานที่จะขึ้นประมูลจำนวน ๓๖ ผลงาน บรรยากาศการประมูลคาดว่าจะคึกคักเช่นเดียวกับทุกปีที่ผ่านมา จึงขอเรียนเชิญให้นักสะสม และผู้ใหญ่ใจบุญทั้งหลายได้ร่วมกันสร้างกุศลในการจัดหาทุนให้กับการศึกษาศิลปะกันให้มากๆ เพื่อให้นิสิต-นักศึกษาที่ยากจนได้มีโอกาสจบการศึกษา และกลับมารับใช้สังคมและประเทศชาติต่อไป _____________________________________