“กระทรวงอุตสาหกรรม” ลุยตั้งคณะทำงานบริหารจุดฉีดวัคซีนแรงงานป้องกันโควิด-19 พร้อมถกนัดแรก 17 พ.ค.นี้ ด้าน “กนอ.”สั่งทุกนิคมฯสำรวจพื้นที่นิคมฯทั่วประเทศรองรับ ส่วน “คมนาคม” เดินหน้าเปิดพื้นที่สถานีกลางบางซื่อฉีดวัคซีน 24 พ.ค. ประเดิมด่านหน้าขนส่งก่อน 1 มิ.ย.ให้ปชช.วอล์กอิน “ซูเปอร์โพล” เผยผลสำรวจปากท้อง หลังโควิด ปชช.ร้อยละ 80.6 หวังรัฐบูมสินค้าเกษตร
เมื่อวันที่ 16 พ.ค.64 นายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมเพื่อหาแนวทางบริหารจัดการพื้นที่ของนิคมอุตสาหกรรมทั่วประเทศเป็นศูนย์กลางการฉีดวัคซีนให้กับประชาชนทั่วไป โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วย ผู้บริหารกระทรวงฯ ผู้ว่าการ กนอ. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) ว่า ที่ประชุมมีมติแต่งตั้งคณะกรรมการบริหารจัดการจุดบริการให้ฉีดวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า (โควิด-19) ให้แรงงานภาคอุตสาหกรรม และประชาชนทั่วไป ซึ่งคณะกรรมการชุดดังกล่าวจะมีการประชุมร่วมกันระหว่างภาครัฐและเอกชนนัดแรกในวันที่ 17 พ.ค.64 ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวสอดคล้องกับนโยบายรัฐบาล ในการให้วัคซีนป้องกันเชื้อ แก่ประชาชนทั่วประเทศตามความสมัครใจ
ด้าน นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(กนอ.) กล่าวว่า ขณะนี้ กนอ.ได้จัดตั้งคณะทำงาน เพื่อลงพื้นที่อย่างเร่งด่วน เพื่อสำรวจพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมทั่วประเทศ ที่เหมาะสม ในการรองรับการฉีดวัคซีน
“เบื้องต้นในที่ประชุมได้หารือว่าจะแบ่งกลุ่มผู้ที่รับวัคซีนออกเป็น 3 กลุ่ม คือ 1.ผู้ปฏิบัติงานในโรงงานอุต สาหกรรมที่อยู่ในนิคมอุตสาหกรรม 2.โรงงานอุตสาหกรรมนอกนิคมอุตสาหกรรม ที่แจ้งความประสงค์เข้ามา และโรงงานอุตสาหกรรมที่อยู่ในสวนอุตสาหกรรมที่กำกับดูแลโดยกรอ. 3.ประชาชนทั่วไปในพื้นที่ใกล้เคียง”
ขณะที่ นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เปิดเผยว่า กระทรวงคมนาคมได้ประชุมร่วมกับกระทรวงสา ธารณสุข โดยได้ข้อสรุปว่าจะเปิดสถานีกลางบางซื่อ บริเวณพื้นที่ชั้น 1และชั้นลอยกว่า 13,500 ตารางเมตร เป็นศูนย์บริการฉีดวัคซีนให้กับประชาชน และผู้ให้บริการในระบบขนส่งสาธารณะทุกประเภท ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล โดยกระทรวงสาธารณสุข จะรับผิดชอบวัคซีน และบุคลากรทางการแพทย์ที่จะมาให้บริการในแต่ละวัน ส่วนกระทรวงคมนาคมรับผิดชอบสถานที่ และเจ้าหน้าที่ในการอำนวยความสะดวกประชาชน ซึ่งคาดว่าจะรองรับประชาชนได้วันละประมาณ 1 หมื่นคน ทั้งนี้เบื้องต้นจะเปิดให้บริการสำหรับผู้ให้บริการด่านหน้า ในระบบขนส่งสาธารณะทุกประเภทในสังกัดกระทรวงคมนาคมก่อน ตั้งแต่วันที่ 24-31 พ.ค.64 เวลา 09.00-20.00 น.และตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย.เป็นต้นไป จะให้บริการกับประชาชนทั่วไปแบบวอล์กอินทุกวัน จนถึงสิ้นปี 64 โดยประชาชนที่สนใจสามารถยื่นบัตรประชาชน และรับบัตรคิวที่สถานีกลางบางซื่อได้ทันที เพื่อเป็นทางเลือกให้ประชาชนเข้ารับวัคซีนได้สะดวก ง่าย และครอบคลุมประชาชนทุกกลุ่ม
ส่วน นายนพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยซูเปอร์โพล (SUPER POLL) เปิดเผยผลสำรวจประชา ชนเรื่อง ปากท้องวันนี้ ปากท้องหลังโควิด พบว่า ปากท้องวันนี้ในมุมของประชาชน ผลสำรวจพบ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 80.6 ขอรัฐบาลบูม ส่งเสริมสินค้าเกษตร รองลงมาคือ ร้อยละ 78.0 ต้องการให้รัฐบาลออกมาตรการผ่อนผันการชำระหนี้ในระบบ เช่น ธนาคารและสถาบันการเงินต่างๆ ร้อยละ 74.4 ต้องการมาตรการเยียวยา เช่น ลดค่าไฟฟ้า ค่าโทรศัพท์ ค่าอินเทอร์เน็ต และอื่น ๆ ร้อยละ 73.0 ต้องการให้เจ้าสัว ผู้ประกอบการ ลดราคารอาหารและสินค้าจำเป็น
ที่น่าสนใจคือ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 68.6 ต้องการรัฐบาลช่วยแก้ปัญหาหนี้นอกระบบ หามือปราบหนี้นอกระบบมาสร้างผลงานช่วงวิกฤติชาติลดความเดือดร้อนปลอดจากอำนาจมืด และร้อยละ 64.0 ต้องการให้รัฐบาลกระจายที่ทำกิน ลดความเหลื่อมล้ำ เป็นธรรมทั่วถึง ตามลำดับ
ทั้งนี้ เมื่อถามความคิดเห็นของประชาชนต่อเศรษฐกิจปากท้องของประชาชนหลังโควิด พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 77.5 หวังให้ประเทศไทยกลายเป็นศูนย์กลางและฐานผลิตอาหารปลอดสารพิษ รองลงมาคือ ร้อยละ 74.4 ต้องการให้ประเทศไทยกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยว พลิกฟื้นเศรษฐกิจปากท้อง นำชีวิตชีวาของประชาชนกลับมา และร้อยละ 66.1 คาดหวังว่าเศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวรวดเร็ว นอกจากนี้ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 79.5 ระบุมีความหวังจะลุยไปข้างหน้าค่อนข้างมาก ถึง มากที่สุด ในขณะที่ร้อยละ 16.4 ระบุปานกลาง และร้อยละ 4.1 ระบุค่อนข้างน้อยถึงไม่มีความหวังเลย
ผอ.ซูเปอร์โพล เปิดเผยว่า ผลสำรวจนี้ชี้ให้เห็นชัดเจนว่า ประเทศชาติและประชาชนยังมีทางออกที่ดีหลายทางโดยข้อมูลที่ค้นพบสามารถจำแนกออกให้เห็นได้ว่าคนส่วนใหญ่ยังมีความหวัง หลังโควิดที่จะลุยกันต่อไปข้างหน้า ด้วยความหวังในมาตรการต่างๆ ของรัฐ ใน 3 กลุ่ม ได้แก่กลุ่มที่ 1 คือ การเยียวยาเร่งด่วน แก้ปัญหาบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน ให้ครอบคลุมและทั่วถึง กลุ่มที่ 2 คือ การช่วยเหลือแก้ปัญหายาดำเดิมในสังคม ที่บั่นทอนความรู้สึกเหลื่อมล้ำเป็นธรรมในสังคม และกลุ่มที่ 3 คือ เป้าหมายที่ชัดเจนของประเทศและความตั้งใจจริงของรัฐบาลในการขับเคลื่อน ซึ่งการสะท้อนของประชาชนผ่านผลโพลถึงความหวังทั้ง 3 กลุ่ม จะเห็นว่าในวิกฤตยังมีโอกาส และอยากเห็นการเปลี่ยนแปลงประเทศ และพัฒนาการของคุณภาพชีวิตโดยรวมที่ดีขึ้น