วันที่ 16 พ.ค. 64 นายนพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยซูเปอร์โพล (SUPER POLL) เปิดเผยผลสำรวจประชาชนทั่วประเทศจำนวน 1,382 คน ระหว่างวันที่ 8–15 พ.ค.2564 เรื่อง ปากท้องวันนี้ ปากท้องหลังโควิด พบว่า ปากท้องวันนี้ในมุมของประชาชน ผลสำรวจพบ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 80.6 ขอรัฐบาล บูม ส่งเสริมสินค้าเกษตร รองลงมาคือ ร้อยละ 78.0 ต้องการให้รัฐบาลออกมาตรการผ่อนผันการชำระหนี้ในระบบ เช่น ธนาคารและสถาบันการเงินต่างๆ ร้อยละ 74.4 ต้องการมาตรการเยียวยา เช่น ลดค่าไฟฟ้า ค่าโทรศัพท์ ค่าอินเทอร์เน็ต และอื่น ๆ ร้อยละ 73.0 ต้องการให้เจ้าสัว ผู้ประกอบการ ลดราคารอาหารและสินค้าจำเป็น
ที่น่าสนใจคือ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 68.6 ต้องการรัฐบาลช่วยแก้ปัญหาหนี้นอกระบบ หามือปราบหนี้นอกระบบมาสร้างผลงานช่วงวิกฤติชาติลดความเดือดร้อนปลอดจากอำนาจมืด และร้อยละ 64.0 ต้องการให้รัฐบาลกระจายที่ทำกิน ลดความเหลื่อมล้ำ เป็นธรรมทั่วถึง ตามลำดับ
ทั้งนี้ เมื่อถามความคิดเห็นของประชาชนต่อเศรษฐกิจปากท้องของประชาชนหลังโควิด พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 77.5 หวังให้ประเทศไทยกลายเป็นศูนย์กลางและฐานผลิตอาหารปลอดสารพิษ รองลงมาคือ ร้อยละ 74.4 ต้องการให้ประเทศไทยกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยว พลิกฟื้นเศรษฐกิจปากท้อง นำชีวิตชีวาของประชาชนกลับมา และร้อยละ 66.1 คาดหวังว่าเศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวรวดเร็ว นอกจากนี้ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 79.5 ระบุมีความหวังจะลุยไปข้างหน้าค่อนข้างมาก ถึง มากที่สุด ในขณะที่ร้อยละ 16.4 ระบุปานกลาง และร้อยละ 4.1 ระบุค่อนข้างน้อยถึงไม่มีความหวังเลย
ผอ.ซูเปอร์โพล เผยว่า ผลสำรวจนี้ชี้ให้เห็นชัดเจนว่า ประเทศชาติและประชาชนยังมีทางออกที่ดีหลายทางโดยข้อมูลที่ค้นพบสามารถจำแนกออกให้เห็นได้ว่าคนส่วนใหญ่ยังมีความหวัง หลังโควิดที่จะลุยกันต่อไปข้างหน้า ด้วยความหวังในมาตรการต่างๆ ของรัฐ ใน 3 กลุ่ม ได้แก่กลุ่มที่ 1 คือ การเยียวยาเร่งด่วน แก้ปัญหาบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน ให้ครอบคลุมและทั่วถึง กลุ่มที่ 2 คือ การช่วยเหลือแก้ปัญหายาดำเดิมในสังคม ที่บั่นทอนความรู้สึกเหลื่อมล้ำเป็นธรรมในสังคม และกลุ่มที่ 3 คือ เป้าหมายที่ชัดเจนของประเทศและความตั้งใจจริงของรัฐบาลในการขับเคลื่อน ซึ่งการสะท้อนของประชาชนผ่านผลโพลถึงความหวังทั้ง 3 กลุ่ม จะเห็นว่าในวิกฤตยังมีโอกาส และอยากเห็นการเปลี่ยนแปลงประเทศ และพัฒนาการของคุณภาพชีวิตโดยรวมที่ดีขึ้น