เมื่อวันที่ 16 พ.ค.ที่บริเวณใต้สะพานพระราม8 ฝั่งธนบุรี เขตบางพลัด นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ และหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะประธานมูลนิธิ ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช เป็นประธานเปิดโครงการใจถึงใจสู้โควิด บางกอกน้อยและบางพลัด พร้อมด้วยนายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ นายปริญญ์ พานิชภักดิ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และนายชนินทร์ รุ่งแสง อดีต ส.ส.กทม. ในฐานะผู้ช่วยเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ เพื่อร่วมกันมอบข้าวกล่อง และถุงเติมสุข พร้อมสิ่งของเพื่อการยังชีพ ให้แก่ตัวแทนชุมชน
โดยนายจุรินทร์ กล่าวว่า มูลนิธิ ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช จัดตั้งขึ้นเพื่อช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบไม่จากภัยพิบัติ หรือเป็นภัยอะไรก็ตาม จึงเป็นที่มาว่าวันเดียวกันนี้มูลนิธิฯ จึงได้ออกมาเป็นส่วนหนึ่งของสังคมในการช่วยบรรเทาความทุกข์ของประชาชนที่ประสบภัยโควิด-19 แล้ววันนี้ตามชุมชนต่างๆในเขตบางพลัด กรุงเทพมหานครซึ่งก่อนหน้านี้ตนได้ลงพื้นที่ไปหลายเขต ในกรุงเทพฯ และจากนี้จะลงพื้นที่เขตต่างๆอีกจนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย ทั้งนี้ วันเดียวกันนี้ขอเปิดตัวโครงการอาสาปชป.ช่วยหมอพร้อม โดยนำยุวประชาธิปัตย์ลงพื้นที่รณรงค์ให้คนกรุงเทพฯฉีดวัคซีน ทั้งผู้สูงอายุรวม และผู้มีโรคประจำตัว 7 โรคเรื้อรังร่วมลงทะเบียนฉีดวัคซีน พร้อมกันนี้ ยังได้นำถุงยังชีพมามอบให้ผู้แทนชุมชน เพื่อกระจายไปยังประชาชนที่ต้องกักตัวและอยู่ที่บ้านไม่สามารถออกจากบ้านได้ เพราะอยู่ในพื้นที่ชุมชนสีแดง นอกจากนี้ตนได้นำรถโมบายพาณิชย์มาจอดให้บริการจำหน่ายสินค้าราคาถูกให้กับประชาชนทั้งสินค้าอุปโภคและบริโภค โดยมีรถโมบายพาณิชย์ทั้งหมด 730 คันจอดให้บริการในสำนักงานเขตและตระเวนจำหน่ายสินค้าลดสูงสุดให้กับประชาชน
ด้านนายชนินทร์ กล่าวว่า ตลอดระยะเวลาปีกว่าที่วิกฤตโควิดส่งผลต่อประชาชนในพื้นที่ทีมงานของพรรคประชาธิปัตย์ไม่ว่าจะเป็นตน อดีต ส.ก. ส.ข. และแกนนำสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ได้จัดทำกิจกรรมดูแลประชาชนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบมาอย่างต่อเนื่องนอกจากนี้ในฐานะที่ตนดูแลพื้นที่ บางกอกน้อย บางพลัด จึงเห็นว่าควรจะดำเนินการโครงการให้ได้ประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน และทำเป็นโครงการต่อยอด โครงการใจถึงใจสู้ภัยโควิด ร่วมกับเครือข่ายภาคเอกชน โดยแบ่งเป็น 2 ระยะ คือ ระยะต่อสู้วิกฤต และระยะ 2 คือระยะเยียวยา
นายชนินทร์ กล่าวต่อว่า สำหรับโครงการในระยะที่ 1 เป็นระยะที่เชื้อโควิด-19 ยังมีการแพร่ระบาด จึงไม่ควรมีการพบปะกันโดยตรง และไม่ควรมีการออกจากบ้าน จึงได้เน้นการช่วยเหลือแบบ ส่งตรงถึงบ้าน ทั้งการส่งอาหารตรงถึงบ้านให้กับผู้ต้องกักตัว การส่งหน้ากากอนามัยถึงบ้านทางไปรษณีย์ การบริการฆ่าเชื้อในชุมชนโดยรถอัตโนมัติไฮเทค
ส่วนโครงการระยะที่ 2 เรียกว่าเป็นระยะเยียวยา เน้นการดูแลที่เข้าถึงในชุมชน การส่งอาหารกล่องปลอดภัยสู่ในชุมชน การมอบถุงเติมสุข บรรจุข้าวสาร อาหารแห้ง ให้ในชุมชน การดูแลเยี่ยมเยียนผู้ด้อยโอกาศคนไข้ติดเตียงในชุมชน และการตัดแว่นสายตาให้แก่ผู้สูงอายุ.