หมอดินอาสาประจำตำบลปริก ผันชีวิตจากหนุ่มวิศวกร สู่เกษตรกรเต็มตัว ปัจจุบันพัฒนาพื้นที่เปิดเป็น "ไร่เกษมสุข" เป็นทั้งสถานที่ท่องเที่ยวเชิงเกษตร และรวบรวมผลผลิตของเกษตรกรในชุมชนมาจำหน่ายสร้างรายได้ให้กับคนในชุมชน
นายกิตติกร อ่อนจันทร์ หมอดินอาสาประจำตำบลปริก อำเภอทุ่งใหญ่ จังหวัดนครศรีธรรมราช เปิดเผยว่า ก่อนหน้านี้เรียนจบวิศวกรรมโยธามา และคิดว่าตัวเองอยู่ในสายนี้ มองเห็นว่าผลงานตัวเองยังไม่เป็นที่ประจักษ์กับตัวเองสักเท่าไร แต่ดันชอบในเรื่องของภาคการเกษตรค่อนข้างที่จะ 100 เปอร์เซ็นต์ และมองว่าตัวเองมีศักยภาพในการทำเกษตรมากกว่าเป็นวิศวกร เลยผันตัวเองจากวงการเป็นวิศวกร มาทำเกษตรทฤษฎีใหม่เกษตรผสมผสาน เกษตรพอเพียง เพราะเห็นว่า ความยั่งยืนของชีวิต คือ สิ่งที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ได้หาไว้ให้ประชาชนแล้ว แต่เรายังเข้าใจ ยังเข้าไม่ถึงหลักทฤษฎีใหม่ คำว่าเศรษฐกิจพอเพียง และก็อีกหลายๆโครงการที่พระองค์ได้ทำให้ไว้เป็นแบบอย่าง
วันนี้พื้นที่ตรงนี้ "ไร่เกษมสุข" จำนวนพื้นที่ 17 ไร่ ได้พัฒนาทำในเชิงของเกษตรท่องเที่ยว ซึ่งจะให้นักท่องเที่ยวมาเที่ยวมาดื่มด่ำธรรมชาติที่ "ไร่เกษมสุข" ไม่ว่าจะเป็น ทุ่งนา พืชผัก ผลไม้ และผลิตภัณฑ์จากเกษตรกรในชุมชน ในไร่เกษมสุขจะเป็นพื้นที่ส่วนกลางให้คนในชุมชนได้เอาผลผลิต สินค้ามาวางจำหน่าย โดยที่ไม่ต้องเอาสินค้าออกมาขายข้างนอก ซึ่งผู้บริโภคจะเข้ามาซื้อถึงไร่เกษมสุขกันถึงที่
ในการพัฒนาพื้นที่ของนายกิตติกร จำนวน 17 ไร่ จะแบ่งเป็น 30 30 30 และ 10 ส่วนที่ 1 เรื่องของน้ำ มีพื้นที่เก็บกักน้ำ 30 เปอร์เซ็นต์ ส่วนที่ 2 เป็นทุ่งนา ซึ่งอู่ข้าว อู่น้ำ จะมีพื้นที่ทั้งหมด 5 ไร่ มีการอนุรักษ์นาข้าวพื้นเมืองเพื่อนำมาจำหน่ายในไร่เกษมสุข รวมไปถึงนำข้าวที่ปลูกกันในชุมชนมาหุงในไร่เกษมสุข เพื่อประกอบอาหารให้กับลูกค้าที่ได้เข้ามาสัมผัสกับบรรยากาศความเป็นเกษตร ซึ่งจะเป็นข้าว กข ข้าวหอมมะลิ และข้าวไรซ์เบอร์รี่ ข้าวเมล็ดในฝ้าย ข้าวดอกคาข่า ข้าวหอมปทุม เป็นข้าวที่อนุรักษ์สายพันธุ์ไว้ และได้มีเจ้าหน้าที่จากสถานีพัฒนาที่ดินนครศรีธรรมราช ได้เข้ามาส่งเสริมและสนับสนุนในเรื่องของการปรับปรุงบำรุงดินในรูปแบบเกษตรอินทรีย์
นายวิจารณ์ ธานีรัตน์ นักวิชาการเกษตรชำนาญการพิเศษ สถานีพัฒนาที่ดินนครศรีธรรมราช กล่าวว่า สถานีพัฒนาที่ดินนครศรีธรรมราชได้เข้ามาส่งเสริม โดยเน้นการจัดการดิน ใช้ผลิตภัณฑ์ของกรมพัฒนาที่ดิน ตั้งแต่การทำปุ๋ยหมัก การทำน้ำหมักชีวภาพ การทำสารไร่แมลง และการใช้ปุ๋ยพืชสดในนาข้าว การใช้โดโลไมท์ปรับปรุงดิน และเป็นแหล่งเรียนรู้ แหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร และส่งเสริมการปลูกข้าวหมุนเวียนเพื่อให้มีผลผลิตตลอดทั้งปี โดยใช้น้ำจากบ่อจิ๋วของกรมพัฒนาที่ดิน และในอนาคตจะมีการพัฒนาให้เข้าร่วมโครงการเกษตร 1 ตำบล 1 ทฤษฎีใหม่ อีกด้วย