เมื่อวันที่ 14 พ.ค.นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ รองนายกฯ และรมว.พาณิชย์ ในฐานะที่เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้พิการแห่งชาติ กล่าวถึงการดูแลผู้พิการในช่วงโควิดว่า ได้มีการดำเนินการไปแล้วหลายเรื่อง คือ 1.จะเสนอไปยังศบค.ในการประชุมนัดครั้งต่อเพื่อขอช่องทางพิเศษให้กับผู้พิการได้สามารถฉีดวัคซีนได้ ซึ่งจะเสนอไปพร้อมกับกลุ่มผู้สูงอายุ บุคลากรทางการแพทย์ อสม. และผู้ป่วย 7 โรคเรื้อรัง ซึ่งขณะนี้มีผู้พิการจำนวน 8 แสนคน ที่ยังไม่เข้าข่ายเป็นผู้สูงอายุ รวมไปถึงผู้พิการที่มีอายุเกิน 18 ปีด้วย 2.การเร่งรัดให้มีการเปิดโรงพยาบาลสนาม พร้อมสิ่งอำนวยความสะดวก สำหรับผู้ป่วยโควิดที่เป็นผู้พิการ เนื่องจากผู้พิการนั้นมีความหลากหลาย ทั้งตาบอด หูพิการ พิการด้านร่างกาย เป็นต้องมีผู้ช่วย ดังนั้นก็อาจทำให้การเข้าไปอยู่ในโรงพยาบาลสนามร่วมกับคนปกติเป็นเรื่องยุ่งยาก จึงควรทำโรงพยาบาลสนามแยกออกมาต่างหาก ซึ่งขณะนี้ได้เริ่มดำเนินการแล้วที่อุทยานวิทยาศาสตร์ศิรินทร คลองหลวง ปทุมธานี โดยในวันพุธที่ 26 พ.ค. นี้ เวลา 10.00 น. ตนจะนำ คกก. ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้พิการแห่งชาติ ไปติดตามความคืบหน้า และตั้งเป้าว่าจะเปิดให้บริการให้ได้ในวันที่ 1 มิ.ย. ต่อไป
นายจุรินทร์ กล่าวต่อว่า ขณะนี้มีผู้พิการประมาณ 5 หมื่นคน ที่บัตรผู้พิการกำลังจะหมดอายุ และหากบัตรหมดอายุจะทำให้ไม่สามารถรับสวัสดิการได้ ดังนั้นจะได้ดำเนินการยืดอายุให้กับบัตรดังกล่าวเป็นเวลา 6 เดือน ให้สามารถใช้ต่อไปได้โดยไม่ต้องไปต่ออายุ การดำเนินการการพักหนี้ให้ผู้พิการที่เป็นหนี้กองทุนผู้พิการ โดยจะได้ขยายเวลาในการรับสมัครผู้พิการที่ต้องการพักหนี้ จากเดิมที่จะหมดเขตในวันที่ 31 มี.ค. 2564 เป็น 31 มี.ค. 2565 เพื่อให้ผู้พิการที่ต้องการพักหนี้สามารถยื่นเรื่องดำเนินการได้อีก 1 ปี และการขยายเวลาให้ผู้พิการขอกู้เงินรายละไม่เกิน 1 หมื่นบาท เพื่อไปประกอบอาชีพโดยไม่ต้องมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน ซึ่งเดิมจะหมดอายุในวันที่ 31 พ.ค.นี้ ก็จะขยายเวลาออกไปอีก 4 เดือน ให้ไปหมดเขตวันที่ 30 ก.ย. 64 ขณะนี้มีผู้ยื่นในมาตรการนี้มาแล้ว 16,709 ราย และจะดำเนินการแก้ไขระเบียบของกองทุน จากเดิมที่การกู้เงินของผู้พิการจะต้องมีบุคคลค้ำประกันเท่านั้น ก็จะเพิ่มโอกาสให้ผู้พิการสามารถเข้าถึงเงินกู้ได้ โดยจะให้องค์กรผู้พิการสามารถเป็นผู้ค้ำประกันได้ด้วย นอกจากนั้นหากเป็นการกู้ฉุกเฉิน ก็ไม่จำเป็นต้องมีผู้ค้ำประกัน