เข้าสู่ฤดูฝนแล้ว ชุมชนในต่างจังหวัดหลายพื้นที่ เตรียมความพร้อมกักเก็บน้ำไว้ใช้ โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีปัญหาเรื่องการบริหารจัดการน้ำช่วงแล้ง เช่นเดียวกับที่บ้านหัวนอน หมู่ที่ 5 ตำบลบางสน อำเภอปะทิว จังหวัดชุมพร ชุมชนนัดรวมตัวกันเพื่อซ่อมแซมฝายชะลอน้ำที่คลองท่าหลา ซึ่งเป็นฝายที่มีชาวบ้านจาก 3 หมู่บ้าน คือ หมู่ 3 หมู่ 4 และหมู่ 5 ของตำบลบางสน รวม 479 ครัวเรือน ได้ใช้ประโยชน์ เนื่องจากชาวบ้านส่วนใหญ่มีอาชีพหลัก คือ ทำการเกษตร ปลูกผักสวนครัว ปลูกข้าว ข้าวโพด ฟักทอง ตาล ปาล์ม สวนยาง เป็นต้น ทำให้ต้องมีการใช้น้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคตลอดทั้งปี วันนี้.. นอกจากผู้นำท้องถิ่น ชุมชนในพื้นที่ สมาชิกสมาคมเพื่อนสิ่งแวดล้อมจังหวัดชุมพร ในฐานะผู้ประสานงานคณะกรรมการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำชุมชนปะทิว ภายใต้มูลนิธิอุทกพัฒน์ในพระบรมราชูปถัมภ์ และสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) ที่ร่วมกันจัดกิจกรรมขึ้น ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแผนงานโครงการบริหารจัดการน้ำในชุมชน ยังมีจิตอาสาจากศูนย์ปรับปรุงพันธุกรรมกุ้ง ปะทิว บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ ซึ่งศูนย์ฯ ตั้งอยู่ห่างจากบ้านหัวนอนประมาณ 2 กิโลเมตร ร่วมกิจกรรมด้วย เพื่อเตรียมความพร้อมรับมือกับปัญหาน้ำหลากในช่วงฤดูฝน และแก้ปัญหาภัยแล้งให้ประชาชนในชุมชนมีน้ำเก็บไว้ใช้ได้ตลอดทั้งปี แม้ว่าครั้งนี้จะเป็นกิจกรรมครั้งแรกที่จิตอาสาจากศูนย์ปรับปรุงพันธุกรรมกุ้ง ปะทิว ซีพีเอฟ มีโอกาสร่วมซ่อมแซมฝายชะลอน้ำที่คลองท่าหลา แต่ก่อนหน้านี้ ได้ช่วยกิจกรรมกับชมรมเพื่อนสิ่งแวดล้อมจังหวัดชุมพรสร้างฝายชะลอน้ำมาแล้วหลายแห่ง ตั้งแต่ปี 2560 อาทิ สร้างฝายป่าต้นน้ำพรุตาอ้าย หมู่ 1 ตำบลทะเลทรัพย์ ฝายคลองสีเสียด หมู่ 4 ต.บางสน ฝายชะลอน้ำหินก่อบ้านห้วยตาอ่อน หมู่ 9 ต.สะพลี และครั้งนี้ร่วมกันทำฝายชะลอน้ำคลองท่าหลา หมู่ 5 ต.บางสน ก่อนที่จะเข้าสู่ฤดูฝน รับมือกับปัญหาน้ำหลากในช่วงฤดูฝน และแก้ปัญหาภัยแล้งให้ประชาชนในชุมชนมีน้ำเก็บไว้ใช้ได้ตลอดทั้งปี นายพิเชษฐ์ ศรีสดใส ชาวบ้านหมู่ 7 ต.บางสน อ.ปะทิว หนึ่งในคณะทำงานสมาคมเพื่อนสิ่งแวดล้อมจังหวัดชุมพร และเป็นผู้ประสานงานของมูลนิธิฯ ที่ดูแลการอนุรักษ์ทรัพยากรสิ่งแวดล้อม ในพื้นที่ต.บางสน ต.ชุมโค ต.ทะะลทรัพย์ และต.สะพลี กล่าวว่า ภาคใต้มีมรสุมบ่อย ฝนตกชุก ทำให้ในช่วงฤดูน้ำหลาก จะไม่มีการกักเก็บน้ำและปล่อยน้ำลงสู่ทะเล แต่เมื่อเข้าสู่ช่วงฤดูแล้ง ก็เกิดปัญหาขาดแคลนน้ำ หลังจากที่ได้ทำฝายชะลอน้ำแล้ว ชาวบ้านในพื้นที่จะได้กักเก็บน้ำไว้ใช้ ช่วยบรรเทาการขาดแคลนน้ำในช่วงฤดูแล้งได้ รวมทั้งได้ประโยชน์ในจัดการระบบประปาของหมู่บ้านอีกด้วย ตอนนี้ในพื้นที่ฝนเริ่มตกมาแล้ว และฝายชะลอน้ำที่ร่วมมือกันทำ ก็ใช้การได้เป็นอย่างดี ด้านนางสาวชิดสุภางค์ ชำนาญ เลขานุการสมาคมเพื่อนสิ่งแวดล้อมจังหวัดชุมพร กล่าวว่า ขอขอบคุณซีพีเอฟที่เป็นส่วนสำคัญช่วยสร้างให้ชุมชนน่าอยู่ และยังสนับสนุนการทำงานของสมาคมฯ เสมอมา ทุกๆครั้งที่ทางสมาคมฯ ขอความร่วมมือในการช่วยซ่อมแซมฝายชะลอน้ำในพื้นที่ต่างๆ ซีพีเอฟจะเข้ามาช่วยสนับสนุนทั้งด้านกำลังคน ช่วยกันขนหิน ขนทราย ผสมปูน ผ่อนแรงให้กับชาวบ้านได้เยอะ อีกทั้งยังได้สนับสนุนอาหารและน้ำดื่มให้กับแรงงานชุมชนมาโดยตลอด ความเกื้อกูลต่อกันไม่เพียงสร้างสานสัมพันธ์ที่ดี ยังให้ได้สัมผัสกับความสุขใจ และความภูมิใจที่ช่วยพัฒนาท้องถิ่น ดังที่ นายอาหลี ดำกระบี่ จิตอาสาซีพีเอฟ ซึ่งเข้าร่วมกิจกรรมซ่อมแซมฝายชะลอน้ำ เล่าให้ฟังด้วยสีหน้าที่เปี่ยมด้วยความสุขว่า เวลากว่า 16 ปีที่ทำงานที่ศูนย์ปรับปรุงพันธุกรรมกุ้ง ปะทิว ได้เห็นความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นระหว่างชุมชนกับบริษัทที่ช่วยเหลือเกื้อกูลกันมาตลอด โดยส่วนตัว มีโอกาสร่วมกิจกรรมของชุมชนในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง และมีความสุขทุกครั้งที่ได้ร่วมทำความดีเพื่อสังคม ตามหลักปรัชญา 3 ประโยชน์ที่เครือซีพีและซีพีเอฟยึดถือ คือ สิ่งที่ทำต้องเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ ประชาชน และบริษัท เป็นการทำจากใจจริงๆ ไม่ได้หวังสิ่งตอบแทน เป็นการเติบโตไปด้วยกันกับชุมชน และบริษัทยังช่วยสร้างงานสร้างรายได้ให้กับท้องถิ่น ด้านนางสาวอุมาพร ประสมผล อีกหนึ่งจิตอาสาซีพีเอฟ บอกว่า ตลอด 17 ปีที่ทำงานกับซีพีเอฟ ทุกครั้งที่ได้เข้าร่วมกิจกรรมจิตอาสา ทำประโยชน์ให้แก่ชุมชน รู้สึกดีใจและภูมิใจมาก ที่ได้มีโอกาสช่วยเหลือชุมชนในบ้านเกิดของตัวเอง ให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น การเป็นส่วนหนึ่งทำความดีเพื่อสังคม ถือเป็นคุณค่าทางจิตใจที่หาซื้อไม่ได้ ซึ่งซีพีเอฟพร้อมเติบโตไปกับชุมชน ถ้าชุมชนอยู่ได้มีความสุข เราก็จะมีความสุขไปด้วยเช่นกัน จิตอาสาซีพีเอฟ มุ่งมั่นทำความดีและสร้างประโยชน์ให้กับชุมชน โดยยึดมั่นในหลักปรัชญา 3 ประโยชน์ ซึ่งพนักงานทุกคนยึดปฏิบัติมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อประโยชน์ของประเทศ ประชาชน โดยมองประโยชน์ของบริษัทเป็นลำดับสุดท้าย ส่งเสริมให้สังคมอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุขอย่างยั่งยืน