"ศบค."แถลงติดเชื้อโควิดพุ่ง 4,887 ราย ผู้ติดเชื้อ2,052 รายใหม่ ติดจากเรือนจำ 2,835 ราย เสียชีวิตอีก 32 ศพ ยอดป่วยยืนยันสะสม 93,794 ราย รักษาหาย 60,615 ราย อาการหนัก 1,209 ราย "ราชทัณฑ์"ยัน"รุ้ง-ปนัสยา"ไม่ได้ติดโควิดจากเรือนจำ พร้อมจัดแผน"ลาดยาวโมเดล"รับมือการระบาด "ปอท."เตือนแชร์ข่าวปลอมโทษหนักคุก 5 ปี ขณะที่"กทม."สั่งใช้"5 On"เรียนเสริมรับเปิดเทอม 1 มิ.ย.นี้
เมื่อเวลา 12.30 น. วันที่ 13 พ.ค.64 นายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. แถลงข่าวจากทำเนียบรัฐบาล รายงานสถานการณ์ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศไทย มีรายละเอียดดังนี้ ติดเชื้อในประเทศ 4,887 ราย แยกเป็น ผู้ติดเชื้อรายใหม่ 2,052 ติดจากเรือนจำ 2,835 ราย รักษาหายเพิ่มขึ้น 1,572 รายอยู่ระหว่างรักษาตัว 32,661 ราย รักษาหาย 60,615 ราย ในจำนวนนี้มีอาการหนัก (ปอดอักเสบ) 1,209 ราย ต้องใส่ท่อช่วยหายใจ 406 ราย มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม 32 ศพ ยอดผู้เสียชีวิตสะสม 518 ศพ ยอดผู้ป่วยยืนยันสะสม 93,794 ราย
ทั้งนี้ ยอดการฉีดวัคซีนในประเทศไทยรวม 2,040,363 โดส สะสมแบ่งเป็นฉีดวัคซีนเข็มแรก 1,395,130 ราย เพิ่มขึ้น 22,753 ราย และเข็มที่สองจำนวน 645,233 ราย เพิ่มขึ้น 81,529 ราย
วันเดียวกัน นายอายุตม์ สินธพพันธุ์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ พร้อมด้วย นายวีระกิตติ์ หาญปริพรรณ์ รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ และนายวัฒน์ชัย มิ่งบรรเจิดสุข รักษาราชการแทนผู้อำนวยการทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ แถลงข่าวสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในเรือนจำและทัณฑสถาน โดยยอดผู้ติดเชื้อข้อมูลวันที่ 12 พ.ค.64 พบผู้ติดเชื้อในเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร 1,794 คน ทัณฑสถานหญิงกลาง 1,039 คน ซึ่งเป็นยอดผู้ติดเชื้อรวมตั้งแต่เริ่มมีการระบาดระลอกใหม่ในเดือนเมษายน 2564 และได้รายงานไปยังศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดต่อเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) แล้ว
โดยขั้นตอนเมื่อพบผู้ติดเชื้อในเรือนจำ จะย้ายผู้ติดเชื้อไปโรงพยาบาลแม่ข่ายในทันที และจะแจ้งไปยังญาติผู้ต้องขัง ขึ้นอยู่กับความประสงค์ของผู้ต้องขังว่าต้องการแจ้งญาติหรือไม่ พร้อมทั้งสอบสวนโรคจากผู้ติดเชื้อไปยังผู้ต้องขังที่อยู่ในระยะพื้นที่รับเชื้อทุกคน โดยจะตรวจซ้ำยืนยันภายใน 7 วัน และ 14 วัน
สำหรับกรณีที่ผู้ติดเชื้อไม่แสดงอาการหรือเป็นกลุ่มสีเขียว เรือนจำใดที่มีผู้ต้องขังติดเชื้อจำนวนมาก สามารถขออนุญาตผู้ว่าราชการจังหวัด จัดตั้งโรงพยาบาลสนามในพื้นที่เรือนจำภายใต้ความเห็นชอบของฝ่ายปกครองพื้นที่สาธารณสุขจังหวัด โดยจะต้องจัดเตรียมบุคลากร สถานที่ อุปกรณ์ เครื่องมือทางการแพทย์ให้พร้อม
ส่วนกรณีของ น.ส.ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล หรือ รุ้ง แกนนำคณะราษฎร ที่เปิดเผยว่าติดเชื้อโควิด-19 จากในเรือนจำ กรมราชทัณฑ์ ชี้แจงว่า ได้ตรวจหาเชื้อไวรัสโควิด-19 เชิงรุกในผู้ต้องขังทัณฑสถานหญิงกลางแบบ 100% รวมถึงได้ตรวจหาเชื้อกับนางสาวปนัสยา ตั้งแต่วันที่ 23 เม.ย.64 ผลตรวจออกมาเป็นลบ ไม่มีเชื้อโควิด-19 และยังกักตัว น.ส.ปนัสยา อย่างต่อเนื่องตั้งแต่วันที่ 23 เม.ย.- 5 พ.ค.64 ซึ่ง น.ส.ปนัสยา ไม่ได้ออกไปภายนอกเรือนจำ หรือทำกิจกรรมใดๆ จนกระทั่งได้รับปล่อยตัวไปเมื่อวันที่ 6 พ.ค.64 นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 8 พ.ค.64 กรมราชทัณฑ์ยังได้ตรวจหาเชื้อเชิงรุก 100% อีกครั้งในแดนที่ น.ส.ปนัสยา กักตัวอยู่ ซึ่งไม่พบว่ามีผู้ต้องขังคนใดที่อยู่ร่วมกับ น.ส.ปนัสยา ติดเชื้อโควิด-19
ส่วนกรณีของ นายภาณุพงศ์ จาดนอก หรือ ไมค์ แกนนำกลุ่มคณะราษฎร ที่ต้องตรวจเชื้อไวรัสโควิด-19 ก่อนนำตัวขึ้นศาลเพื่อให้ได้ผลตรวจล่าสุด ในวันนี้ (13 พ.ค.64) ผลการตรวจ พบว่าติดเชื้อโควิด-19 ซึ่งปัจจุบันได้ถูกส่งตัวเข้ารับการรักษาที่ทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์เป็นที่เรียบร้อยแล้ว
อย่างไรก็ตาม หลังจากนี้ จะเพิ่มศักยภาพของโรงพยาบาลสนาม ทัณฑสถาน โรงพยาบาลราชทัณฑ์ ให้สามารถรองรับผู้ป่วยระดับสีแดง อาการหนัก และสำรองยาที่ใช้รักษาให้เพียงพอตลอด รวมถึงเตรียมเสนอให้มีการฉีดวัคซีนแก่ผู้ต้องขังในรายที่ไม่ติดเชื้อ และไม่มีภูมิต้านทาน โดยเริ่มต้นในกลุ่มผู้สูงอายุ หรือมีโรคประจำตัว จนครอบคลุมผู้ต้องขังทุกราย โดยเรียกการบริหารสถานการณ์ครั้งนี้ว่า "ลาดยาวโมเดล"
ขณะที่ พ.ต.อ.ศิริวัฒน์ ดีพอ รอง ผบก.ปอท. ในฐานะ รอง โฆษก สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (รอง โฆษก ตร.) กล่าวถึงกรณีที่มีการโพสต์และแชร์ต่อข่าวปลอมที่ระบาดมากในช่วงเวลานี้ ว่า สำหรับบุคคลที่มีการนำเข้าข้อมูลอันเป็นเท็จ หรือข่าวปลอมเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์นั้น และทำให้ประชาชนเกิดความตื่นตระหนก เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ศ.2560 มาตรา 14 (2) ซึ่งมีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับสำหรับผู้ที่ส่งต่อข้อมูล หรือที่เรียกว่า แชร์ โดยรู้อยู่แล้วว่าข้อมูลนั้นเป็นเท็จก็จะมีความผิดไปด้วย ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (5) อัตราโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ดังนั้นจึงอยากเตือน สำหรับผู้ไม่หวังดีมีเจตนาบิดเบือนปลอมข้อมูลข่าวสารอย่าได้ทำการเผยแพร่เด็ดขาด เพราะขณะนี้พี่น้องประชาชนก็ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 อย่างมากอยู่แล้ว อย่ามาซ้ำเติมประเทศด้วยการสร้างความสับสน ตื่นตระหนกให้กับสังคมเป็นสิ่งไม่ดีซึ่งสุดท้ายก็จะต้องถูกดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป
ส่วนทางด้าน นายเกรียงยศ สุดลาภา รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร(กทม.) เป็นประธานเปิดการประชุมออนไลน์ การขับเคลื่อนนโยบายด้านการศึกษาสู่การปฏิบัติ ร่วมกับนายขจิต ชัชวานิชย์ รองปลัดกรุงเทพมหานคร นายเกรียงไกร จงเจริญ ผู้อำนวยการสำนักการศึกษา ผู้บริหารสำนักการศึกษา ผู้แทนสำนักอนามัย ที่ห้องนพรัตน์ ชั้น 5 ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า) เขตพระนครผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอร์เรนซ์ โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมทั้งสิ้น 600 คน เพื่อให้ผู้ปฏิบัติงานด้านการศึกษารับทราบแนวทางการปฏิบัติงาน และเตรียมความพร้อมเปิดภาคเรียน ปีการศึกษา 2564 ในวันที่ 1 มิ.ย.64
นายเกรียงยศ กล่าวว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิดจึงได้เลื่อนการเปิดภาคเรียนที่ 1/2564 จากวันที่ 17 พ.ค. เป็นวันที่ 1 มิ.ย. แต่เพื่อไม่ให้กระทบต่อจัดการเรียนการสอนและการเรียนรู้ของผู้เรียน จะมีการปรับเปลี่ยนนโยบายให้สอดคล้องกับสถานการณ์ตามที่เคยดำเนินการจัดการเรียนการสอนแบบ New Normal มาแล้ว สำหรับการเรียนการสอน โรงเรียนจะมีการจัดการเรียนการสอนชดเชยให้ครบตามหลักสูตรภายหลัง จากเปิดการเรียนการสอนแล้ว โดยจะสอนชดเชยที่โรงเรียน หรือผ่านช่องทางต่างๆ ตามความพร้อมของผู้เรียนในช่องทางใดช่องทางหนึ่ง หรือผสมผสานกันในรูปแบบ 5 On ได้แก่
1.On Line ผ่านช่องทางออนไลน์ต่าง ๆ 2.On Air ทางโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม เช่น DLTV 3.On Hand จัดส่งหนังสือ แบบเรียน แบบฝึกหัด หรือใบงานที่โรงเรียนจัดทำขึ้นไปยังนักเรียนผ่านผู้ปกครอง 4.On Site จัดการเรียนเป็นกลุ่มเล็กๆ และเรียนในสถานที่ที่ปลอดภัย และ5.On School Line โดยใช้ช่องทางกรุ๊ปไลน์แต่ละห้องเรียนติดต่อสื่อสารระหว่างครูประจำชั้นกับผู้ปกครองและนักเรียนรวมทั้งใช้เป็นช่องทางมอบหมายงาน หรือส่งการบ้าน