หลังจากที่รัฐบาลออกมาประกาศเอาจริงกับคนที่ผลิตและเผยแพร่ ส่งต่อข่าวปลอม จนสร้างความสับสนให้กับสังคม โดยเฉพาะในหลายๆประเด็นที่เกี่ยวกับไวรัสโควิด-19 โดยเฉพาะข่าวปลอมเรื่องอาการข้างเคียงที่เกิดขึ้นหลังการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 จนทำให้ประชาชนเกิดความตื่นตระหนก เมื่อวันที่ 13 พ.ค.2564 พ.ต.อ.ศิริวัฒน์ ดีพอ รอง ผบก.ปอท. ในฐานะ รอง โฆษก สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (รอง โฆษก ตร.) กล่าวถึงกรณีที่มีการโพสต์และแชร์ต่อข่าวปลอมที่ระบาดมากในช่วงเวลานี้ ว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติมีความห่วงใยพี่น้องประชาชนในการรับทราบข้อมูลข่าวสาร โดยเฉพาะจากสื่อสังคมออนไลน์ซึ่งขณะนี้มีการเผยแพร่และส่งต่อข้อมูลโดยเฉพาะเป็นข่าวที่สร้างความสับสนในลักษณะข่าวปลอมต้องขอเรียนว่าธรรมชาติของข่าวปลอมมักจะหยิบยกประเด็นที่เป็นสิ่งที่น่าสนใจของสังคม เป็นประเด็นร้อนหรือที่เรียกว่าHot Issue ตัวอย่างเห็นได้ชัดเจนในช่วงเวลานี้ที่เป็นประเด็นร้อนของสังคมเราก็คือ โรคไวรัสโควิด-19 ดังนั้นขณะนี้จึงมีการเผยแพร่ส่งต่อข้อมูลข่าวสารที่ทั้งจริงทั้งเท็จเข้าไปตามสื่อสังคมออนไลน์อย่างมากมาย โดยเฉพาะประเด็นเรื่องของการฉีดวัคซีน โดยมีการโจมตีในเรื่องการฉีดวัคซีนแล้วเกิดมีอาการแพ้บ้าง ฉีดแล้วมีผลกระทบต่อร่างกาย จนถึงขั้นเสียชีวิตก็มี รายล่าสุดที่ตรวจสอบยืนยันแล้วว่าเป็นข่าวปลอมก็คือ กรณีการส่งต่อข้อความแจ้งกับในไลน์กลุ่มต่างๆ ในเวลานี้ ว่า... วันที่ 7 พ.ค.64 “ พ.ต.อ.ปรัชญ์ สุนทรพิมล ผกก.ตชด.21 เสียชีวิตแล้ว อันเนื่องมาจากฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 หลังจากฉีดแค่ 5 นาที ก็ได้ล้มทั้งยืน นำตัวส่ง รพ.ซึ่งได้เสียชีวิตในเวลาต่อมา และ เมื่อวันที่ 8 พ.ค.64 เวลา 20.00 น. พ.ต.ท.วิญญู พันธุ นรต.62 สว.กก.3 บก.สตม.เสียชีวิต หลังฉีดวัคซีน​ รวมทั้ง “พ.ต.ท.หญิง ศรัณย์รัชต์ วังสะปัญญา อายุ 56 ปี รอง ผกก.ฝ่ายตรวจลงตรา ด่าน ตม.ทอ.สุวรรณภูมิ เสียชีวิตอย่างปริศนาและต่อมามีข่าวว่าสาเหตุมาจากที่ได้ทดลองฉีดวัคซีนโควิด-19” ซึ่งทั้งหมดล้วนแล้วเป็นเป็นข่าวเท็จทั้งสิ้น ดังนั้นทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติอยากให้พี่น้องประชาชนติดตามข้อมูลข่าวสารอย่างมีสติ โดยเฉพาะข้อมูลที่มีการส่งต่อกันในสื่อสังคมออนไลน์ในลักษณะไม่มีที่มาที่ไป หรือไม่มีแหล่งอ้างอิงที่น่าเชื่อถือได้ก่อนที่จะเชื่อและส่งต่อข้อมูลให้กับผู้อื่น โดยขอให้ติดตามข้อมูลข่าวสารจาก หน่วยงานราชการ โดยเฉพาะ ศบค. -ศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ กระทรวงสาธารณสุข หรือรับฟังข้อมูลจากแพทย์ที่ได้รับมอบหมายโดยตรงในการให้ข้อมูล สำหรับบุคคลที่มีการนำเข้าข้อมูลอันเป็นเท็จ หรือข่าวปลอมเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์นั้น และทำให้ประชาชนเกิดความตื่นตระหนก เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ศ.2560 มาตรา 14 (2) ซึ่งมีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับสำหรับผู้ที่ส่งต่อข้อมูล หรือที่เรียกว่า แชร์ โดยรู้อยู่แล้วว่าข้อมูลนั้นเป็นเท็จก็จะมีความผิดไปด้วย ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (5) อัตราโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ดังนั้นจึงอยากเตือน สำหรับผู้ไม่หวังดีมีเจตนาบิดเบือนปลอมข้อมูลข่าวสารอย่าได้ทำการเผยแพร่เด็ดขาด เพราะขณะนี้พี่น้องประชาชนก็ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 อย่างมากอยู่แล้ว อย่ามาซ้ำเติมประเทศด้วยการสร้างความสับสน ตื่นตระหนกให้กับสังคมเป็นสิ่งไม่ดีซึ่งสุดท้ายก็จะต้องถูกดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป