วันที่ 12 พ.ค. 64 นายธานี แสงรัตน์ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวถึงกรณีการดำเนินการต่อผู้ให้ร้ายสถาบันพระมหากษัตริย์ หลบหนีอยู่ในต่างประเทศ ว่า กระทรวงการต่างประเทศ ตระหนักดีว่าสถาบันฯเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจของคนไทย หากมีผู้ล่วงละเมิดหรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายสถาบันฯ แล้วหลบหนีไปต่างประเทศ ย่อมเป็นงานสำคัญเร่งด่วนที่จะติดตามตัวกลับมาดำเนินคดีในไทย เช่น ขอตัวเป็นผู้ร้ายข้ามแดน ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศไม่เคยนิ่งนอนใจตามที่มีการกล่าวหา แต่ได้ดำเนินการร่วมกับหน่วยงานต่างๆของไทยมาอย่างต่อเนื่อง และติดตามความคืบหน้าโดยตลอด โดยคำนึงถึงหลักปฏิบัติสากล ในกระบวนการนี้ กระทรวงการต่างประเทศเป็นผู้นำส่งคำขอผู้ร้ายข้ามแดนไปยังประเทศที่เกี่ยวข้องตามคำขอของหน่วยงานรับผิดชอบหลัก เช่น การขอตัวผู้หลบหนีหมายจับตาม ป.อาญา มาตรา 112 ได้ดำเนินการไป 8 ราย แต่การจะได้ตัวคนเหล่านั้นมาดำเนินคดีได้หรือไม่ ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของศาลในประเทศนั้นๆ หากความผิดตามกฎหมายไทยไม่เป็นความผิดตามกฎหมายท้องถิ่นในประเทศนั้นๆ รวมถึงข้อยกเว้นทางกฎหมายอื่น ศาลมักปฏิเสธคำขอ “การปกป้องสถาบันฯ ไม่ได้มีแต่วิธีไล่จับพวกล้มเจ้า โดยปล่อยให้เป็นภาระหน้าที่ของหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งเท่านั้น คนไทยทุกคนสามารถช่วยกันคนละไม้คนละมือเท่าที่อยู่ในขอบเขตของกฎหมาย โดยการไม่ส่งต่อข้อมูลพาดพิงสถาบันฯ ที่ปราศจากหลักฐานยืนยัน หรืออย่างน้อยที่สุดก็ไม่ก่อกวนให้เกิดความสับสนอลหม่านจนกระทบต่อการดำเนินการใดๆที่มีอยู่ เข้าทำนองมือไม่พาย ให้เสียขบวน ยิ่งเป็นผู้ที่มีบทบาททางการเมืองหรือในสังคมยิ่งต้องมีจิตสำนึกถึงหน้าที่ของตนต่อชาติบ้านเมือง และต้องตระหนักว่าการวิจารณ์อย่างสร้างสรรค์ต้องเริ่มจากการมีข้อมูลที่ถูกต้องแม่นยำเสียก่อน มิเช่นนั้นก็สุ่มเสี่ยงจะนำพาผู้อื่นให้เข้ารกเข้าพงแห่งความเข้าใจผิดไปเสียเปล่า ยิ่งกว่านั้นจะทำให้ตนเองเสียความน่าเชื่อถือไปด้วย” นายธานี กล่าวต่อว่า เมื่อมีสื่อมวลชนต่างประเทศนำเสนอข่าวเชิงลบเกี่ยวกับสถาบันฯ ทางกระทรวงการต่างประเทศจะทำหนังสือถึงบรรณาธิการสำนักข่าวเพื่อชี้แจงข้อเท็จจริง หรือพูดคุยกับผู้สื่อข่าวโดยตรง เพื่อให้แก้ไขให้ถูกต้อง ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะสื่อแต่ละสำนักมีจุดยืนในการนำเสนอข่าวของตนเอง บางแห่งอำนาจการตัดสินใจอยู่กับบรรณาธิการประจำภูมิภาคหรือสำนักงานใหญ่ กระทรวงการต่างประเทศก็ติดตามไปทำความเข้าใจอย่างไม่ลดละ ใช้ทุกกลไก เครือข่ายและทรัพยากรที่มี โดยเฉพาะสถานทูตและสถานกงสุลใหญ่ของไทยในต่างประเทศ ซึ่งบางครั้งก็ทำสำเร็จ บางครั้งก็ไม่เป็นผล แต่เราทำอย่างเต็มที่ทุกกรณี อย่างน้อยก็แสดงจุดยืนอย่างชัดเจนทุกครั้ง และผลงานที่สำเร็จถือว่ามีไม่น้อย โดยมีสื่อที่ยอมถอดคลิปไม่เหมาะสมออกจากยูทูบมาแล้ว บทความภาษาอังกฤษก็มีตีพิมพ์ลงสื่อหลักหลายฉบับทั่วโลก ซึ่งหากติดตามก็จะทราบ นายธานี กล่าวด้วยว่า แม้จะยังไม่ได้ตัวผู้หลบหนีคดีกลับมาไทย แต่ฝ่ายไทยได้พูดคุยทำความเข้าใจกับทางการของหลายประเทศอยู่ตลอด ว่าสถาบันฯ มีความสำคัญสูงสุดสำหรับคนไทยและเกี่ยวพันกับความมั่นคงของชาติ จึงขอความร่วมมือดูแลไม่ให้มีการกระทำใดๆ ที่เป็นการกระทบกระเทือนจิตใจของคนไทย ในขณะเดียวกันกระทรวงการต่างประเทศได้เร่งเสริมสร้างให้ต่างประเทศเข้าใจความสำคัญของสถาบันฯ ในสังคมไทย เนื่องจากมีผู้เผยแพร่ข้อมูลบิดเบือนอยู่เนืองๆ เราจำเป็นต้องชี้แจงให้เขาเข้าใจอย่างลึกซึ้ง โดยได้พบหารือบุคคลสำคัญอย่างต่อเนื่อง จัดกิจกรรมเสวนาเพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจ จัดทำสารคดี หนังสือ และบทความ เพื่อเผยแพร่เป็นภาษาต่างประเทศผ่านช่องทางต่างๆ ทั้งโทรทัศน์ สิ่งพิมพ์ และออนไลน์ โดยมีเนื้อหาเกี่ยวกับพระราชกรณียกิจของพระบรมวงศานุวงศ์ด้านการพัฒนา และหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เป็นต้น