วันที่ 8 พ.ค. ปลอดประสพ สุรัสวดี อดีตรองนายกรัฐมนตรี โพสต์ข้อความแสดงความเห็นการบริหารจัดการบริหารโควิดและวัคซีน ระบุว่า... อธิปไตยทางยาอีกแล้ว เช้านี้มีสองเรื่องที่กระตุกหัวใจผม เริ่มจากเพื่อนอดีตอธิบดีประมงสิงคโปร์ไลน์มาถามไถ่สุขภาพเพราะเขาฉีดวัคซีนครบ 2 โดสแล้วแต่ตอนจบเขาแถมความความเห็นมาด้วยว่า”I think your government is very sensitive to criticisms?”แปลง่ายๆว่า รัฐบาลไทยอ่อนไหวต่อคำวิจารณ์มากๆ(ผมเห็นด้วย) เรื่องสองคืออ่านนสพ.มติชนเช้านี้หน้า 13 เป็นรูปเด็กน้อยแถมเป็นกลุ่มหมอด้วยที่คล้ายจะพูด(เล่น)ว่า “ย้ายประเทศกันเถอะ”และอธิบายว่า เป็นคำอุทานที่หมายถึงความสิ้นหวังของคนรุ่นใหม่ ผมจึงไปค้นแถลงการณ์ของนายกเมื่อ 19 พ.ย.63 ประกาศจะบังคับใช้กฎหมายทุกฉบับทุกมาตรากับกลุ่มผู้ชุมนุม ทำให้สะกิดใจว่า ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องเดียวกันใช่ไหม และนี่คือสาเหตุหนึ่งที่สำคัญของความแตกแยกกินใจระหว่างรัฐบาลกับผู้ประท้วง ระหว่างคนรุ่นใหม่กับคนรุ่นเก่า ระหว่างสองสังคมที่มีความเชื่อและจุดยืนที่ไม่สอดคล้องกันหรือเปล่า ครั้นเปิดทีวีเช้าก็เห็นภาพนายกออกมาประกาศว่า ต่อไปจะทำงานเชิงรุก จะหาวัคซีนให้มากและเร็วกว่าเดิม จะปรับแนวทางและกระจายการฉีดวัคซีนเข็มแรกเสียใหม่ ส่วนคุณอนุทินก็ให้สัมภาษณ์ว่า วัคซีน Pfizer 10-20ล้านโดสจะเข้ามาเร็วกว่าเดิม ส่วนShinovac 4.5ล้านโดสก็กำลังมา คนอายุ 60ปีขึ้นไปและผู้เป็นโรคเสี่ยงทั้งหลายก็จะได้รับการฉีดทันที ข่าวดีทั้งนั้นครับ แต่เมื่อสองเดือนก่อนท่านไม่เคยพูดแบบนี้เลย ท่านปิด ท่านปฏิเสธแทบจะเกือบทุกเรื่อง ผมคงต้องถามว่า ถ้าไม่มีการติติง การวิจารณ์ รวมถึงการบีบจากสังคมและภาคเอกชน ท่านจะเปลี่ยนความคิดแบบยูเทิร์นเช่นนี้หรือไม่ นี่แหละคือประโยชน์จากคำวิจารณ์หรือการเห็นต่าง ท่านนำเหตุการณ์และประสบการณ์เช่นนี้ไปปรับปรุงเรื่องการบริหารประเทศและการเมืองได้ไหมครับ มีแต่ได้ไม่มีอะไรเสียนะครับ ก่อนจบขอแสดงอารมณ์ต่อ อย.(ผมเคยเป็นรองนายกกำกับกระทรวงสาธารณสุขมาก่อน) คุณย้ำว่า จะพิจารณาภายใน 30 วันตลอดเวลา! มันนานมากนะ เจ็บวันละ 2000 ตายวันละ 20 ลองคูณด้วย 30วัน ดูซิว่าจำนวนจะมากมายเท่าไหร่ อย.ไม่เข้าใจคำว่า การใช้ฉุกเฉิน(Emergency Used)หรือ วัคซีนเหล่านี้ประเทศผู้ผลิต(ซึ่งเก่งกว่าเราแน่ๆ)และรวมถึงองค์การอนามัยโลกเขาก็รับรองแล้ว ตอนนี้ไม่ใช่เวลาอธิปไตยทางยานะครับ ผมและคนค่อนประเทศเขาเซ็งกับคำนี้เหลือทนแล้ว