เข้าสู่เดือนห้าของทุกปี พวกผมกับลุงๆ จะรวมตัวกันเพื่อเตรียมตัวไปตีผึ้ง โดยสิ่งแรกที่ต้องทำคือ การส่งเพื่อนไปดูต้นผึ้งก่อน ว่าปีนี้มีผึ้งขึ้นทำรังเยอะแค่ไหน แต่คนที่จะไปต้องมีความรู้เพราะต้องสังเกตว่าน้ำผึ้งนั้นมีมากแค่ไหน และรังผึ้งแก่พร้อมที่จะให้น้ำผึ้งหรือยัง การที่ผึ้งจะเยอะหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับสภาพอากาศเป็นสำคัญ ถ้าปีไหนฝนตก อากาศเย็น ไม่มีไฟไหม้ป่า ปีนั้นจะทำให้ผึ้งขึ้นเยอะ และปริมาณน้ำผึ้งก็เยอะตามด้วย แต่ถ้าปีไหนอากาศร้อนจัด ฝนไม่ค่อยตก ที่สำคัญคือมีไฟไหม้ป่าบริเวณที่มีต้นผึ้ง ก็จะทำไห้ปีนั้นผึ้งขึ้นรังน้อย ดังนั้นคนกะเหรี่ยงจึงดูแลป่าไม่ให้ไฟไหม้ เมื่อส่งทีมไปดูต้นผึ้งแล้วก็ต้องมาวางแผนกันว่าจะไปตีต้นไหนก่อน เพื่อวางแผนในการเดินทางและลำเลียง หลังจากนั้นจึงเตรียมเหลา “ลูกทอย” ลูกทอยทำจากไม้ไผ่เพื่อใช้ตอกต้นไม้และปีนขึ้นต้นผึ้ง ผมและเพื่อนๆ ต่างล้อมวงเพื่อเหลาลูกทอยกันอย่างสนุกสนาน โดยต้นผึ้งแต่ละต้นนั้นต้องใช้ลูกทอย 400-500 ตัว ขึ้นอยู่กับขนาดของลำต้น และแต่ละกิ่งของต้นผึ้งที่จะปีนขึ้นไปให้ถึงรังผึ้ง หลังจากที่เหลาลูกทอยเสร็จแล้วต้องนำไปตากไฟอ่อนๆ ให้แห้ง เป็นเวลาหนึ่งคืนเพื่อไล่ความชื้นและเพิ่มความเหนียว เมื่อเตรียมลูกทอยเสร็จ พร้อมที่จะตอกต้นผึ้งแล้ว พวกเราต่างเตรียมเสบียงในการดำรงชีพในป่าพร้อมอุปกรณ์การตีผึ้งอื่น เช่น เชือก มีด ถังปีบ ไฟฉาย เปล ยารักษาโรคต่างๆ ข้าวสารอาหารแห้ง และแจกจ่ายลูกทอยที่เตรียมไว้สำหรับผึ้งต้นแรก ก่อนออกเดินทางกัน พวกเราเดินเท้าเข้าป่าโดยแบกอุปกรณ์ที่อยู่ในเป้ที่เตรียมกันไว้ น้ำหนักคนละ 17 ถึง 20 กิโลกรัม โดยแรกๆที่แบกนั้น มันไม่หนักสักเท่าไหร่แต่ถ้าคุณต้องแบกขึ้นเขา ลงห้วย มุดป่า มุดขอนไม้ เป็นเวลา หลายๆชั่วโมง มันจะเริ่มค่อยๆหนักขึ้นๆ ตามระยะทางที่คุณเดิน พวกเราเริ่มเดินเท้าตั้งแต่ 7 โมงเช้า กว่าจะถึงต้นผึ้งต้นแรกก็เป็นเวลา 4 โมงเย็น ทุกคนต่างเหนื่อยล้ากับการเดินทาง แต่สิ่งแรกที่คุณจะต้องทำคือ เตรียมหาฟืนเพื่อย่างลูกทอยอีกครั้ง ที่สำคัญคือต้องทำ“กะโม่”ในการตีผึ้งคืนนี้ กะโม่ทำจากเถาวัลย์ซึ่งที่นิยมคือ เถาว่านรางจืดโดยนำมาทุบให้แตกเป็นเส้น แล้วนำไปย่างไฟให้แห้ง เพื่อใช้จุดไฟ แล้วนำไปปัดตัวผึ้งที่รังซึ่งจะเกิดเปลวไฟ เพื่อให้ผึ้งนั้นตามดอกไฟลงไปอยู่ด้านล่างพื้นดินถือว่าเป็นภูมิปัญญาของชาวกะเหรี่ยงที่สืบทอดกันมายาวนาน ความรู้ที่ต้องจดจำคือกองไฟทำกับข้าวและอาหารต่างๆ กับกองไฟสำหรับย่างลูกทอยและกะโม่นั้น ต้องอยู่ห่างกัน เพื่อไม่ให้กลิ่นเหม็นคาวของอาหารไปติดลูกทอยและกะโม่ รวมไปถึงเสื้อผ้าที่จะใส่ตีผึ้งเป็นเด็ดขาด เรื่องนี้สำคัญมากเพราะถ้ามีกลิ่นคาวติดตัว หรืออุปกรณ์ในการตีผึ้ง จะทำให้ผึ้งที่ถูกปัดลงมาตามกลิ่นคาว แล้วก็รุมทึ้งต่อยทันที การถูกผึ้งต่อยเป็นเรื่องปกติของคนตีผึ้ง ขึ้นอยู่กับกลิ่นตัวและความสะอาดของแต่ละคน โดยเฉพาะหมอผึ้งที่ต้องสะอาดเป็นพิเศษ และต้องมีคุณสมบัติเฉพาะตัวคือเวลาผึ้งต่อยแล้วไม่เจ็บหรือทนทาน การตีผึ้งครั้งนี้ หมอผึ้งเป็นอาที่พวกเรารู้ฝีมือกันดี เขามีความชำนาญมาก ราวหกโมงเย็น หลังจากที่กินข้าวและพักผ่อนกันเสร็จเรียบร้อย พวกเราต่างไปที่ต้นผึ้งเพื่อเตรียมตัว คืนนี้เดือนขึ้นตอนเที่ยงคืน เรามีเวลา 5 ชั่วโมงเท่านั้น ในการจัดการรังผึ้งบนต้นไม้ทั้งหมดกว่า 40 รัง เมื่อถึงต้นผึ้ง สิ่งที่ต้องเตรียมคือ ไม้ไผ่ลำยาวประมาณ 3 วา เพื่อทำเป็นพลองโดยบากไม้ไผ่ให้เป็นรูห่างกัน1ฟุต และใช้ตอกลูกทอยติดกับต้นผึ้งเพื่อปีนขึ้นไป เมื่อความมืดสลัวคืบคลานเข้ามาจนได้ที่ หมอผึ้งต้องทำการขอขมาต่อต้นผึ้งโดยมีพลู หมาก บุหรี่ อย่างละ 1 มวน หลังจากนั้น หมอผึ้งทำการตอกลูกทอยเข้ากับต้นผึ้งขึ้นไปทีละตัว สิ่งที่ใช้ตอกลูกทอยเรียกว่า”จะครึ๊ง”ซึ่งทำมาจากไม้ที่มีเนื้อแข็ง เวลาตอกลูกทอยแล้วจะได้ไม่แตก ลูกทอยแต่ละชุดมีขนาดประมาณ 1คืบเศษ ส่วนลูกทอยที่ใช้ตอกกับไม้พลองต้องมีขนาดยาวกว่า 1 กำมือ ในการตอกลูกทอยต้นผึ้งในแต่ละต้นนั้น ใช้เวลานานนับชั่วโมงกว่าจะถึงรังผึ้ง อุปสรรคหนึ่งคือต้นผึ้งมียางที่คันมาก บางคนที่แพ้ยางถึงกับเป็นแผลช้ำ ลอก แสบ เลยทีเดียว ต้นผึ้งส่วนใหญ่มีขนาดลำต้นใหญ่ราว 4 คนโอบขึ้นไป หรือมากกว่านั้น และมีความสูงมากราว 50 เมตรขึ้นไป ใครที่กลัวความสูง คงไม่กล้าขึ้นไปแน่ ดังนั้นทุกก้าวย่างบนต้นผึ้งหมายชีวิต จึงต้องระมัดระวังและต้องอาศัยประสบการณ์ ยิ่งเวลาเจอผึ้งดุขึ้นมา ผึ้งเป็นร้อยๆ รุ่มต่อย ทั้งใบหน้าและลำตัวก็ต้องกัดฟันยอมให้ต่อย สิ่งหนึ่งที่หมอผึ้งต้องระวังคือหากการตอกลูกทอยถูกส้น หรือรอยแยกของต้นผึ้งนั้น อาจทำให้กิ่งต้นผึ้งหักและคนที่ปีนอาจต้องตกลงไปพร้อมกับกิ่งต้นผึ้ง เสียงตะโกนลงมาว่า “จะเริ่ม ทั๊ว แล้วนะ” บทเพลงที่ออกมาจากลำคอของหมอผึ้งซึ่งเป็นเพลงปฎิวัติคือสัญญาณ เพราะหมอผึ้งเคยเป็นสหายที่เข้าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสแห่งประเทศไทยมาก่อน ทั๊วคือการจุดกะโม่ให้ติดไฟ แล้วนำไปปัดที่รังผึ้งเพื่อให้ตัวผึ้งตามลูกไฟลงไปอยู่ข้างล่างให้หมด เราจึงจะสามารถเอาน้ำหวานของผึ้งได้ หมอผึ้งจะทำการทั๊วให้เสร็จจากกิ่งล่างเป็นลำดับโดยส่งสัญญาณให้ดึงเชือกได้ เชือกผูกติดอยู่กับปี๊บ ในการขนส่งน้ำผึ้งลงมาโดยต้องใช้คนดึงเชือก 2 คน ซึ่งคนหนึ่งคอยประคองปี๊บไม่ให้ปีบกระแทกไปมากับต้นผึ้งเพราะทำให้น้ำผึ้งที่อยู่ในปีบหกได้ เมื่อได้น้ำผึ้งลงมาสู่พื้นดิน เราต้องมีคนรีบคัดแยกตัวอ่อนและตัวแก่ออกจากัน แล้วจึงปีบน้ำผึ้งเพราะถ้าไม่เอาตัวอ่อนและตัวผึ้งออก น้ำผึ้งจะเสียได้ง่ายและไม่สามารถเก็บไว้ได้นาน การบีบน้ำผึ้งนั้นไม่สามารถเปิดไฟฉายไว้ได้นาน เพราะผึ้งก็จะตามแสงไฟลงมาต่อยได้ แม่เราสวมถุงมือในการบีบน้ำผึ้ง บางครั้งเหล็กในที่อยู่กับน้ำผึ้งก็สามารถทิ่มฝ่ามือได้เสมอ ประมาณ 5 ทุ่มกว่า น้ำผึ้งทุกรังถูกนำลงมาเกือบหมดโดยหมอผึ้งเหลือไว้ประมาณ 4-5รังเพื่อให้ผึ้งได้มีน้ำหวานกินสำหรับเลี้ยงลูกและสืบพันธ์ จากนั้นทุกคนจ่างแยกย้ายกันไปพักผ่อน เพื่อเก็บแรงไว้ตีผึ้งในต้นต่อไป ภาพและเรื่องโดยนิยม คนเที่ยวไพร