วันที่ 7 พ.ค.64 นายวรวุฒิ อุ่นใจ รองหัวหน้าพรรคกล้า กล่าวถึง มาตรการเยียวยาโควิดระลอก 3 เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจว่า พรรคกล้าเชื่อว่า ลักษณะการกระตุ้นเศรษฐกิจแบบเรามีเรา โดยการเติมเงินให้ประชาชนไปจับจ่ายใช้สอยในช่วงที่ยังมีการแพร่ระบาดอย่างหนัก วัคซีนยังไม่เพียงพอ และการฉีดก็ยังเข้าไม่ถึงประชาชนอย่างแพร่หลาย จะยิ่งไปทำให้คนออกมาจับจ่ายและอาจเกิดการแพร่ระบาดของเชื้อหนักขึ้นไปอีก เหมือนให้ยาผิด รักษายังไงโรคก็ไม่หาย แต่กลุ่มที่ต้องได้เยียวยาอย่างเร่งด่วนคือ กลุ่มผู้ประกอบการต่าง ๆ โดยเฉพาะผู้ประกอบการร้านอาหารที่ได้รับผลกระทบโดยตรงต่อคำสั่งรัฐบาลเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคมที่ผ่านมา และตลอดช่วง 1 ปีกว่าที่ผ่าน พวกเขาก็ประสบภาวะขาดทุนมาโดยตลอด หากไม่มีมาตรการเยียวยาอย่างเร่งด่วน ก็อาจต้องปิดตัว และเกิดภาวะคนว่างงานในอุตสาหกรรมอาหารทั้งระบบ นายวรวุฒิ กล่าวว่า พรรคกล้า ได้เสนอมาตรการ 7 ข้อ เพื่อเรียกร้องต่อรัฐบาลเร่งดำเนินการช่วยเหลือ คือ 1. รัฐบาลเยียวยาตรง 50,000 บาทให้ทุกร้านอาหาร (เป็นเงินไม่เกิน 15,000 ล้านบาท) 2. รัฐบาลชดเชย 20% ของรายได้ ช่วงเดือน พฤษภาคมถึงสิ้นเดือนกันยายน โดยมีการกำหนดเพดานที่เหมาะสม 3. รัฐบาลรับภาระการจ่ายเบี้ยประกันสังคมพนักงานทั้งในส่วนของนายจ้างและลูกจ้าง 4. รัฐบาลเจรจาปรับลดหรือชดเชยค่า GP delivery เพื่อให้ค่า GP ไม่สูงกว่า 15% (ปัจจุบัน 30-35%) 5. รัฐบาลลดค่านํ้าค่าไฟให้ผู้ประกอบการ 50% 6. รัฐบาลและท้องถิ่นงดเก็บภาษีป้าย/ภาษีที่ดินจากร้านอาหารจนถึงสิ้นปี และ 7. แบงค์ชาติจัดสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำให้ผู้ประกอบการร้านอาหารสามารถเข้าถึงได้โดยไม่ต้องมีหลักประกัน ทั้งหมดนี้มีเงื่อนไขสำคัญข้อเดียว คือร้านอาหารต้องไม่ลดพนักงานและไม่ลดค่าจ้าง ซึ่งทั้ง 7 ข้อนี้เราก็หวังว่า รัฐบาลจะรับฟังและดำเนินการอย่างเร่งด่วน ร ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายวรวุฒิ ยังให้ความเห็นในคลับเฮาส์ ซึ่งจัดขึ้นโดยเว็ปไซต์ sanook.ocm ในประเด็น “มาตรการเยียวยารอบใหม่ของรัฐบาล มีจุดไหนยังช่วยไปไม่ถึง” ร่วมกับ นางสาวศิริกัญญา ตันสกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ และผู้อำนวยการฝ่ายนโยบาย พรรคก้าวไกล โดยทั้งสองมีความเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่า คำสั่งรัฐบาลมีผลโดยตรงต่อผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ที่ค้าขายลำบาก ทำให้เศรษฐกิจในภาพรวมชะลอตัว คนไม่กล้าออกจากบ้าน การออกมาตรการจึงต้องดูสถานการณ์และตัวเลขทางเศรษฐกิจประกอบกันด้วยโดยนางสาวศิริกัญญา เสนอว่าให้รัฐบาลจ่ายเงินสดให้กับผู้เดือดร้อนแทนมาตรการจ่ายผ่านแอ๊พเพราะค่าใช้จ่ายบางอย่างเช่น ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าเช่าบ้าน ค่าโดยสาร ฯลฯ ซึ่งมีความจำเป็นในชีวิตก็ไม่สามารถใช้วิธีการดังกล่าวได้ นายวรวุฒิ กล่าวเพิ่มเติมว่า มาตรการความช่วยเหลือที่ผ่านมาเข้าไม่ถึงคนตัวเล็ก โดยเฉพาะที่อยู่นอกระบบภาษี บางครั้งเป็นคนธรรมดาทำการค้าเล็ก ๆ น้อย ๆ รัฐต้องให้แต้มต่อเขาด้วยการ ดึงเข้าระบบแต่ยกเว้นภาษีให้ ไม่เช่นนั้นเขาก็จะไม่สามารถกู้เงินได้ เนื่องจากไม่มีหลักทรัพย์อะไรเลย ธนาคารไม่ปล่อยกู้เพราะกลัวเอ็นพีแอล โดยยกตัวอย่างประเทศจีน ดึงคนกลุ่มนี้เข้าแพลตฟอร์มออนไลน์ เพื่อให้มีรายการค้าขายอยู่บนออนไลน์ เว็ปไซต์ และแพลตฟอร์ม ต่าง ๆ และใช้ข้อมูลเหล่านั้นมาทำเครดติสกอลล์ เพื่อขอกู้เงินได้ ซึ่งทางกลุ่มฟินเทคได้ปล่อยกู้ ในอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำ อนุมัติเร็วในไม่กี่ชั่วโมง ที่สำคัญอัตราหนี้เสียต่ำมาก นอกจากนี้รัฐต้องตั้งสภาเอสเอ็มอี เพื่อสร้างเครือข่ายผู้ประกอบการตัวเล็กที่ยังเข้าไม่ถึงการช่วยเหลือ โดยใช้ระบบ อสม.เป็นต้นแบบ ให้คนในท้องถิ่นเป็นคนเก็บข้อมูล และรัฐต้องกระจายอำนาจไม่ควรกุมกลไกอำนาจไว้เองเหมือนปัจจุบัน “รัฐบาลไม่ควรช่วยแบบเหวี่ยงแห โปรยเงินจากฟ้า เพราะมันไม่ถูกกลุ่ม เหมือนเกาไม่ถูกที่คัน คนเดือดร้อนจริงไม่ได้รับ วันนี้ร้านอาหาร นักดนตรี คนทำงานกลางคืน ทั้งระบบก็ได้รับผลกระทบกันถ้วนหน้า หากอนาคตมีการประกาศเคอร์ฟิว จะทำอย่างไร เพราะจากนี้ก็ไม่แน่ใจว่า เมื่อผ่านระลอกสามแล้ว การแพร่ระบาดมันจะจบ มันไม่มีใครการันตีได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ เนื่องจากมีข้อมูลแล้วว่า ไวรัสสายพันธุ์อินดีย ก็พัฒนาสายพันธุ์จนวัคซีนเอาไม่อยู่” นายวรวุฒิ กล่าว