วันที่ 6 พ.ค.64 ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.)ในฐานะ ผอ.ศูนย์ปฏิบัติการ ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 หรือศปก.ศบค.กล่าวถึง การบริหารจัดการการแพร่ระบาดในชุมชนหลายพื้นที่ในกทม.ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ในฐานะผอ.ศบค.ได้แต่งตั้งศูนย์บูรณาการแก้ไขสถานการณ์โควิด-19 ในพื้นที่กทม.และปริมณฑล เราได้มีการประชุมและวางโครงสร้างรองรับไปถึงระดับเขตเพื่อให้การทำงานเป็นไปอย่างประสานสอดคล้องและสมบูรณ์ เพราะที่ผ่านมาการป้องกันการแพร่ระบาดโควิด-19 ในพื้นที่กทม.จะดำเนินการโดยส่วนกลาง แต่ปัจจุบันการแพร่ระบาดเป็นพื้นที่เป็นเขตๆ จึงมีความจำเป็นที่จะต้องให้เขตแต่ละเขตมีโครงสร้างการจัดที่สมบูรณ์และสามารถที่จะดำเนินการป้องกันการแพร่ระบาดด้วยตัวเอง เมื่อถามว่า หากครบ 14 วัน หลังใช้มาตรการยอดผู้ติดเชื้อยังสูงอยู่จะมีมาตรการอะไรเพิ่มเติมหรือไม่พล.อ.ณัฐพล กล่าวว่า ในห้วงเวลาที่ผ่านมา ทุกครั้งที่ศบค.กำหนดมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดเราจะฟังข้อเสนอแนะของกระทรวงสาธารณสุขเป็นหลัก ซึ่งจะวิเคราะห์ว่าต้นเหตุในการแพร่ระบาดแต่ละครั้งมีสาเหตุมาจากอะไร โดยการระบาดละลอกที่ 3 มีต้นต่อการแพร่ระบาดมาจากสถานบันเทิง จึงได้มีการออกมาตรการและเมื่อใกล้ครบ 14 วันก็ต้องมีการประเมินอีกครั้งว่าเหตุใดหรืออะไรที่ยังเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดการแพร่ระบาดอยู่ เราก็จะไปป้องกันที่เหตุนั้น เมื่อถามว่า มีแนวโน้มที่จะถึงขั้นล็อกดาวน์หรือเคอร์ฟิวหรือไม่พล.อ.ณัฐพล กล่าวว่า เรื่องนี้นายกฯ มีความเป็นห่วงในเรื่องความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน ซึ่งนายกฯได้ให้นโยบายว่า ให้ศบค.พิจารณาอย่างรอบคอบในการกำหนดมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดโควิด-19 โดยจะต้องให้พี่น้องประชาชนได้รับความเดือดร้อนน้อยที่สุด ฉะนั้นมาตรการล็อกดาวน์ หรือการเคอร์ฟิวเป็นมาตรการสุดท้ายถ้าหากไม่สามารถหยุดยั้งได้จริงๆ ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีความคิดที่จะล็อกดาวน์หรือเคอร์ฟิว เมื่อถามว่า มีภาพเผยแพร่ในโซเชียลมีเดียถึงการบริหารจัดการดูแล ผู้ป่วยเด็กเล็กในโรงพยาบาลสนามที่ยังมีปัญหาอยู่จะมีแนวทางจัดการอย่างไร พล.อ.ณัฐพล กล่าวว่า ในปัจจุบันเมื่อมีการตั้งกรรมการบูรณาการแก้ไขปัญหา ซึ่งได้แต่งตั้งปลัดกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เข้ามาเป็นคณะกรรมการด้วย โดยได้มอบหมายให้พม.เข้ามาดำเนินการในเรื่องนี้จึงจะเรียบร้อยในเร็วๆ นี้ เมื่อถามว่า มีความกังวลการแพร่ระบาดโควิด-19 สายพันธุ์บราซิล และแอฟริกา ที่เฝ้าระวังบริเวณชายแดนรวมถึงที่พบในสถานกักกัน พล.อ.ณัฐพล กล่าวว่า ตามแนวชายแดนนายกฯ ได้เน้นย้ำฝ่ายมั่นคงเฝ้าระวังและเข้มงวดตามแนวใช้แดนไม่ให้มีการลักลอบเข้ามาโดยผิดกฎหมาย แต่หากเป็นการเข้าโดยถูกกฎหมายก็ต้องเพิ่มความเข้มงวดในการตรวจคัดกรองให้รอบคอบมากยิ่งขึ้น พล.อ.ณัฐพล กล่าวว่า สำหรับสถานกักกันได้มีการหารือกันว่า แม้จะมีการขยายเวลาการกักตัวเป็น 14 วัน แต่ผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศก็สมควรที่จะให้มีมาตรการติดตามหลังจากออกจากสถานกักกันแล้ว ซึ่งต้องขอความร่วมมือเขาในการที่จะหลีกเลี่ยงที่จะสัมผัสกับผู้อื่นอีกสักระยะหนึ่งอย่างน้อย 14 วัน เพื่อความรอบคอบในการป้องกันการติดเชื้อ เมื่อถามว่า ความเป็นไปได้ที่จะเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติโดยนำร่องจังหวัดภูเก็ตในวันที่ 1 ก.ค. ยังสามารถดำเนินการได้หรือไม่ พล.อ.ณัฐพล กล่าวว่า หากจะตอบว่าเป็นไปได้หรือไม่ ทางศบค.ก็พยายามทำให้เป็นไปได้ แต่อย่างไรก็ตาม ต้องประเมินสถานการณ์ห้วงเวลานั้นอีกครั้ง ซึ่งนายกฯ ได้ให้นโยบายกับกระทรวงสาธารณสุขว่า วัคซีนที่กำลังทยอยเข้ามาช่วงปลายเดือนนี้ก็จะพยายามเร่งฉีดให้กับคนในพื้นที่เศรษฐกิจและพื้นที่การแพร่ระบาดเป็นอันดับแรก ฉะนั้นการเล่นฉีดในพื้นที่การแพร่ระบาดก็จะทำให้ผู้ติดเชื้อลดลงได้ส่วนพื้นที่เศรษฐกิจก็จะเร่งฉีดวัคซีนเพื่อให้พื้นที่มีความพร้อมในการเปิดรับนักท่องเที่ยว เมื่อถามว่า การปิดสถานที่ต่างๆ ในพื้นที่ 6 จังหวัดจะมีการปิดต่อเนื่องจนถึงสิ้นเดือนหรือไม่ พล.อ.ณัฐพล กล่าวว่า จะต้องฟังทางกระทรวงสาธารณสุขเป็นหลักว่าจะมีความเห็นอย่างไรหลังจากที่มีการสอบสวนโรคแล้ว ซึ่งจะต้องดูข้อมูลสาเหตุการแพร่ระบาดโดยเมื่อครบ 14 วันแล้วจะทำอย่างไรต่อไป